fbpx
Blogs 27 November 2020

แข่งขันอย่างไร้ขอบเขตผ่าน Digital Ecosystem

แม้การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น จนตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้นโดยใช้ต้นทุนต่ำลง แต่ก็ส่งผลให้การแข่งขันในโลกธุรกิจดุเดือดยิ่งขึ้นตามไปด้วย เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน หนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายๆ ธุรกิจเริ่มนำมาใช้คือการผลักดันตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Ecosystem และใช้ประโยชน์จากพันธมิตรใน Ecosystem นั้น ๆ

Digital Ecosystem คืออะไร ?

Digital Ecosystem คือการสร้างระบบนิเวศที่มาจากการเชื่อมต่อหลายระบบ หลายบริการ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคในการใช้งานหลากหลายผ่านช่องทางเดียว เช่น E-commerce Platform ชื่อดังอย่าง Lazada ที่ร่วมมือกับธนาคารหลายแห่งเพื่อเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้กับลูกค้า รวมถึงจับมือกับผู้ให้บริการด้าน Logistics เพื่อดำเนินการส่งของอย่างรวดเร็วให้กับลูกค้า หรือแม้กระทั่งการจับมือกับธุรกิจค้าปลีกเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น

จุดเริ่มต้นของ Digital Ecosystem: เมื่อธนาคารเริ่มปรับตัวเพื่อให้บริการ Lifestyle Banking

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกอุตสาหกรรมล้วนได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือธุรกิจในอุตสาหกรรมการเงินนั่นเอง เมื่อก่อนธนาคารเป็นเพียงสถานที่รับฝาก ถอน โอน จ่ายเงิน แต่ในปัจจุบันรูปแบบการให้บริการของธนาคารไม่ได้จำกัดอยู่แค่แบบเดิม เพราะเมื่อ Fintech ได้เข้ามาให้บริการดังกล่าวเช่นกัน ทำให้ธนาคารเผชิญการแข่งขันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และต้องปรับตัวไปให้บริการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Lifestyle ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้ธนาคารมีบทบาทสำคัญในการสร้าง Digital Ecosystem และทุกธุรกิจจะต้องวิ่งเข้าหาธนาคารเพื่อเชื่อมต่อธุรกิจตัวเองกับลูกค้า เพราะธนาคารเป็นช่องทางหลักที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายที่สุด

เราจะเห็นได้ว่าการสร้างระบบ Digital Ecosystem ต้องประกอบไปด้วยการจับมือกับธุรกิจในหลายๆอุตสาหกรรมเพื่อเสนอรูปแบบการบริการที่หลากหลาย แต่ครบและจบในที่เดียว ซึ่งแน่นอนว่าเกือบแทบทุกธุรกิจจะต้องมีการจ่ายเงินเกิดขึ้น ดังนั้นธนาคารจึงถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหลักในระบบ Digital Ecosystem

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าธนาคารจะถูกกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมีข้อบังคับที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งบางครั้งกลายเป็นข้อจำกัดในการขยายบทบาทของธนาคารในการนำเสนอรูปแบบบริการใหม่ๆ เพราะกฎระเบียบต่างๆ ยังไม่เอื้อให้ธนาคารสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทและรูปแบบธุรกิจได้อย่างอิสระเหมือนกับธุรกิจประเภทอื่นๆ

ดังนั้นธนาคารต้องอาศัยความร่วมมือจากธุรกิจประเภทต่างๆ เพื่อสร้างความหลากหลายของบริการและการเข้าถึงลูกค้าให้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือระหว่างธนาคารกับธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์จาก Digital Ecosystem

  • E-Commerce: บริการปล่อยกู้ให้กับผู้ค้าบนแพลตฟอร์ม E-commerce เช่น Digital Lending บน Lazada
  • ร้านสะดวกซื้อ: บริการ Banking Agent ผ่านสาขาของห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อพันธมิตร เช่น 7eleven
  • โรงพยาบาล: พัฒนาระบบ Self-Payment รับชำระค่ารักษาพยาบาลอัตโนมัติ
  • ธุรกิจอาหาร: พัฒนาแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ (Food Delivery)

ไม่เพียงแต่ธนาคารที่ควรจะต้องปรับตัว แต่ในเวลานี้ ธุรกิจในทุกภาคอุตสาหกรรมก็ควรหาทางกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Ecosystem เพื่อพัฒนาธุรกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เมื่อการสร้างความได้เปรียบให้ธุรกิจทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ