เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงนักการตลาดว่าผลิตภัณฑ์เกิดใหม่จะต้องก้าวเข้าสู่วงจรชีวิต 4 ช่วง (Product Life Cycle) ตั้งแต่ช่วงแนะนำสินค้า (Introduction) ช่วงเติบโต (Growth) ช่วงอิ่มตัว (Mature) และช่วงถดถอย (Decline) ที่เตรียมจะออกจากตลาด ซึ่งในอดีตวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือเกิดการยกระดับเทคโนโลยีจนทำให้ผลิตภัณฑ์เดิมล้าสมัย แต่เพราะปัจจุบันมีการนำศาสตร์ด้านข้อมูลมาประยุกต์ใช้กับการตลาด จึงสามารถนำผลการวิเคราะห์ Life Cycle มาวางกลยุทธ์ในการจัดการกับผลิตภัณฑ์ช่วงอิ่มตัวหรือช่วงขาลงได้ดีขึ้น
ธุรกิจเริ่มนำข้อมูลด้านพฤติกรรมของลูกค้ามาวิเคราะห์ เพื่อหาความเป็นไปได้ว่าสินค้าออกใหม่รูปแบบใดที่ลูกค้ามีแนวโน้มจะให้ความสนใจ จากนั้นจะคาดการณ์อุปสงค์ที่ลูกค้ามีต่อสินค้า (Demand Forecasting) ด้วย Machine Learning เพื่อประเมินว่าตั้งแต่ช่วงแนะนำจนถึงช่วงเติบโตของสินค้านั้นต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด จะได้เร่งวางกลยุทธ์ด้านการตลาดมาอุดช่องโหว่ เพื่อย่นระยะเวลาให้สินค้าดังกล่าวสามารถเข้าสู่ช่วงการเติบโตได้เร็วที่สุด โดยกลยุทธ์จะครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบการสื่อสารการตลาดกับลูกค้า การบริหารจัดการสต็อกให้สอดรับกับอุปสงค์ของลูกค้าที่ประเมินไว้ จนถึงการวางแผนการกระจายสินค้าด้วยเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดและสามารถประหยัดต้นทุนได้มากที่สุด
จากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงอิ่มตัวอาจต้องเริ่มมองหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เร่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงอาจต้องหันไปทำการตลาดบนช่องทางออนไลน์เป็นหลักเพื่อลดค่าใช้จ่าย และสุดท้ายเมื่อเข้าสู่ช่วงถดถอย ต้องเร่งระบายสินค้าให้เร็วที่สุด โดยอาจเน้นที่กลุ่มลูกค้า loyalty เป็นหลัก ดังนั้นการมี Big Data ที่ทำให้นักการตลาดเข้าใจ Insights และพฤติกรรมของลูกค้าเป็นเรื่องจำเป็น
Amazon เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการนำข้อมูลมาใช้อย่างเกิดประสิทธิภาพด้วยการคาดการณ์ 2 ขั้น (Forecast) ได้แก่ การคาดการณ์สินค้า และคาดการณ์ลูกค้า โดยจะเริ่มจากการประเมินเทรนด์ในช่วงเวลานั้นที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย เช่น ภาพรวมประชากรในประเทศมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้น ก็จะขนส่งสินค้าเกี่ยวกับแม่และเด็กไปยังคลังสินค้าเพิ่มขึ้นทันทีแม้จะยังไม่มีคำสั่งซื้อ ทำให้เมื่อมีคำสั่งซื้อเกิดขึ้นก็จะส่งสินค้าได้อย่างทันท่วงทีจนเกิดเป็นแคมเปญการตลาดที่โดนใจลูกค้าอย่าง Amazon Prime เพราะสามารถจัดส่งสินค้าให้ถึงมือได้ภายใน 2 วันแม้จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็ตาม
หากมองย้อนกลับไปจะพบว่าการนำข้อมูลมาต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ ต้องเริ่มจากการจัดเก็บข้อมูลบนโลกออนไลน์อย่างถูกต้อง โดยตัวช่วยที่จะเข้ามาทำให้การจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลเป็นเรื่องง่ายคือ Data Management Platform (DMP) ซึ่งเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่จะทำหน้าที่จัดเรียงและส่งต่อข้อมูลต่างๆ ตามที่นักการตลาดหรือผู้ผลิตคอนเทนต์บนเว็บไซต์ต้องการ เพื่อช่วยให้การแสดงผลของโฆษณาตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กำหนดไว้ เรียกได้ว่าทราบหมดว่าลูกค้าเป็นใคร มักจะเข้ามาอ่านคอนเทนต์ช่วงเวลาไหน และใช้เวลากับส่วนใดของเว็บไซต์มากเป็นพิเศษ อีกทั้งนักการตลาดยังสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาเลือกนำเสนอโปรโมชัน ออกแคมเปญ หรือแม้กระทั่งดีไซน์กราฟิก – รูปประโยคของคอนเทนต์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละคนก็ย่อมได้
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่ “ได้ใจ” ลูกค้า แต่บริษัทฯ ยัง “ได้กำไร” เพิ่มขึ้นอีกด้วย