แผนที่นั้น สำคัญไฉน
“หลงทางเสียเวลา หลงเธอขึ้นมาเสียอะไร”สมหญิงขมวดคิ้วเมื่อได้ยินประโยคนี้จากสมชาย เธอขยับแว่นหนึ่งกรุบ แล้วหันไปตอบอย่างเรียบเฉย
“ทำไมหลงทาง ไม่รู้จักใช้ Google Maps เหรอ”
แน่นอนว่าสมชายและผู้ใช้งานกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ไม่ใช่แค่รู้จัก Google Maps แต่อาจจะถึงกับขาดแอปพลิเคชันนี้ไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อต้องออกจากบ้านเดินทางไปยังจุดหมายที่ไม่คุ้นเคยในแต่ละวัน
“แผนที่” คือการจำลองเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆ แสดงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง อาจใช้เส้น สี รูปทรงสัณฐาน หรือสัญลักษณ์ต่างๆ มาอธิบายความเชื่อมโยงนั้นๆ ส่วนใหญ่วาดบนพื้นผิวราบเรียบ โดยพื้นที่ๆ หยิบมาใช้อาจเป็นได้ทั้งพื้นที่จริงหรือพื้นที่เสมือนซึ่งจินตนาการขึ้นมาก็ได้ เช่น แผนที่เกมซึ่งสร้างบนอาณาจักรสมมติ หรือบางเกมอย่างโปเกม่อน โก กลับเลือกอิงพิกัดจากแผนที่จริงในโลก ย่อลงมาอยู่ในการเล่นบนจอสมาร์ทโฟน เปิดทางให้เรามีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโลกของเกมกับภูมิประเทศของจริง
Google Maps เป็นตัวอย่างแผนที่อำนวยความสะดวกให้ชีวิตที่แพร่หลายที่สุดในยุคดิจิทัล แต่หากย้อนอดีตกลับไปในอดีต เราจะพบว่าชาวบาบิโลนรู้จักแผนที่มาเนิ่นนานตั้งแต่ 2,500 กว่าปีก่อน ด้วยการย่อโลกมาอยู่บนแผ่นดินเหนียว หรือที่รู้จักกันว่า Babylonian Map of the World หรือ Imago Mundi ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแผนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ใช้ระบุพิกัดที่ตั้งเมืองทั้งเจ็ด รวมถึงเมืองหลวงบาบิโลนที่รุ่งเรืองด้านการพาณิชย์ที่สุดในยุคโบราณ ปัจจุบันหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นดังกล่าว อยู่ภายใต้การดูแลของ บริติช มิวเซียม ในกรุงลอนดอน
‘แผนที่’ กับ ‘โลกใหม่’ ที่ต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน
นับจากการใช้แผนที่ของชาวบาบิโลนเป็นต้นมา มนุษย์ก็ให้ความสำคัญต่อการสร้างแผนเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกของชีวิตในแต่ะยุค และยังกลายมาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ความคิด ความเชื่อ เหตุการณ์ หรือปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้นๆ ได้ด้วย อาทิ ในยุคโบราณที่คนเชื่อว่าโลกแบนเหมือนแผ่นดิสก์กลมๆ มีตัวออย่างเป็นแผนที่จากฝีมือของออร์แลนโด เฟอร์กูสัน ในปี 1893 ซึ่งเขาถ่ายทอดภาพของโลกในทรงสี่เหลี่ยมแบนราบ โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล
เมื่อโลกวิวัฒนาการและผันเปลี่ยน แผนที่แบบเดิมย่อมใช้งานไม่ได้ตลอดไป แต่ต้องการการปรับปรุงแก้ไขเสมอ ดังที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์กล่าวไว้ว่า
“You can’t use an old map to explore a new world”
ต่อมาเมื่อมีการหักล้างทฤษฎีโลกแบน และพิสูจน์ว่าโลกกลม จึงมีการนำเส้นละติจูดและลองจิจูด มากำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์เป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล และถือเป็นรากฐานในการทำแผนที่สมัยใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่แผนที่ของโลกปัจจุบันถูกสร้างขึ้นด้วยการเอาพื้นผิวทรงกลมมาแผ่ออกเป็นสองมิติ ทำให้เกิดการโต้แย้งเรื่องสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนจากความจริง เช่น ไทย กับ ไอซ์ แลนด์ ที่ดูในแผนที่แล้วขนาดใกล้เคียงกับ แต่หากลองมาเทียบในเว็บไซต์ที่แสดงสัดส่วนจริงของแผนที่ เช่น thetruesize.com จะพบว่าไทยขนาดใหญ่กว่าไอซ์แลนด์ถึงห้าเท่า หรือเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือ ไอซ์แลนด์มีขนาดเท่ากับภาคเหนือของไทยเท่านั้น เพราะมีแนวโน้มว่าประเทศที่ยิ่งใกล้เส้นศูนย์สูตร จะยิ่งถูกย่อขนาดในแผนที่ให้เล็กเกินจริง
ขณะเดียวกัน ขนาดจริงของทวีปแอฟริกานั้นใหญ่เหมือนจะนำจีน สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น และบางส่วนของยุโรปมามัดรวมกันได้ แต่ภาพที่ปรากฎในแผนที่มักเห็นดินแดนกาฬทวีปเล็กกว่าขนาดจริงเสมอ โดยบางครั้งอาจมองว่าขนาดใกล้เคียงกับเกาะกรีนแลนด์ด้วยซ้ำ ทั้งที่จริงแล้ว แม้ว่ากรีนด์แลนด์จะเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในโลก แต่ขนาดยังเล็กกว่าทวีปแอฟริกาถึงสิบสี่เท่า
หรือกระทั่งภาพความยิ่งใหญ่ของแคนาดากับรัสเซีย ที่ครองอาณาจักรในแผนที่แผ่ไพศาลกว่า 25% ของแผ่นดินโลกในแผนที่ แต่หากเทียบสัดส่วนจริงแล้ว ทั้งสองประเทศครองส่วนแบ่งเพียง 5% เท่านั้น
มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การบิดเบือนขนาดจริงบนแผนที่ ยังสะท้อนความคิดเรื่องอำนาจที่เหนือกว่าของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือการเป็นเจ้าแห่งทรัพยากรเหนือประเทศอื่นๆ ด้วย ยังไม่นับรวมถึงมุมมองของแผนที่ หากเป็นแผนที่ของประเทศไหน แน่นอนว่าจุดศูนย์กลางก็ย่อมเคลื่อนย้ายมาให้ประเทศตัวเองโดดเด่นอยู่ใจกลางภาพที่แสดงผลออกมาเสมอ
เมื่อแผนที่เป็นมากกว่าการบอกทาง
ประโยชน์ของแผนที่ในความเข้าใจของคนทั่วไปแบบหลักๆ อาจมีไว้ระบุตำแหน่งหรือค้นหาเส้นทาง แต่การสร้างแผนที่ในปัจจุบัน มีขึ้นเพื่อความเข้าใจเฉพาะในหลากหลายมิติ หรือเพื่อบ่งบอกข้อมูลภายใต้จุดประสงค์เฉพาะ (Special Purpose Maps) เช่น แผนที่บ่งบอกลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่ราบสูง แม่น้ำ ฯลฯ แผนที่บนดาวอังคาร แผนที่แสดงความหนาแน่นของประชากร แผนที่แบ่งประเทศเพื่อแสดงขอบเขตทางการเมือง แผนที่การอพยพของสัตว์ และบางแผนที่อาจพาทะลุไปถึงชั้นฟ้า เช่น นักดาราศาสตร์ ใช้แผนที่ระบบสุริยะ บ่งชี้พิกัดของดวงดาวในจักรวาล หรือแผนที่แสดงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนั้น ยังมีนักพัฒนาเกมหัวใสที่นำความบันเทิงมาผนวกกับศาสตร์แผนที่ นอกจากโปเกม่อน โก ที่ได้พูดถึงไปแล้ว ยังมี Geography Game ชื่อว่า GeoGuessr ที่ออกแบบมาท้าทายความรู้ทางภูมิศาสตร์ โดยหย่อนตัวผู้เล่นลงไปในสถานที่นิรนาม ซึ่งเราจะเห็นมุมมองแบบ Street View แล้วให้สืบเบาะแสลองทายดูว่า กำลังอยู่บนพิกัดไหนบนแผนที่โลก
ผู้เล่นสามารถเลือกโหมดสถานที่ได้หลายแบบ เช่น เลือกโหมด World ที่เปิดกว้าง หรือเฉพาะเจาะจงในหมวดหมู่แลนด์มาร์กชื่อดัง เลือกหมวดหมู่รายประเทศ หรือเลือกเฉพาะ Snowy World ดินแดนหิมะ เป็นต้น
แม้กระทั่งแอปแผนที่ตัวแม่อย่าง Google Maps ในบางครั้งก็แอบสอดใส่กิมมิค easter egg ให้ผู้ใช้งานสนุกสนานเป็นระยะ เช่น ในวัน April Fools Day ในปี 2017 เคยเพิ่มฟีเจอร์เกม Pac Man ให้เราเปลี่ยนแผนที่เป็นกระดานเกม โดยเปิดฟีเจอร์นั้นให้เล่นกันสี่วัน
ในปีถัดมา 2018 วันที่ 10 มีนาคม ก็ร่วมมือกับ Nintendo นำเอาตัวการ์ตูนมาริโอ้ขับรถคาร์ท มาวิ่งบนแผนที่ออนไลน์แทนหัวลูกศรสีฟ้า เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวัน Mario Day เพราะเมื่อเขียนวันนี้ว่า MAR10 จะไปพ้องรูปกับคำว่า MARIO เช่นกัน
นอกจากนั้น Google Maps ยังเคยแสดงความขี้เล่นเป็นกันเอง ด้วยการเพิ่มโหมดค้นหารูปแบบการเดินทางที่แปลกใหม่สำหรับท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย เช่น หากเดินทางในดินแดงมังกรแดง “เวลส์” คุณอาจเลือกได้ว่าจะขี่มังกรด้วยระยะเวลาประมาณเท่าไหร่ หรือหากจะไปเยือน Scottish Highlands ทางตอนเหนือ อาจเลือกได้ว่าจะขี่เจ้าสัตว์ประหลาดแห่งทะเลสาบล็อกเนส แล้วใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ แน่นอนว่า ตัวเลือกเหล่านั้นทำไม่ได้จริง แต่เป็นการหยอกเย้าด้วยสัญลักษณ์เด่นประจำท้องถิ่นเท่านั้น
แต่ไม่ใช่การเดินทางแบบเทพนิยายเท่านั้น แต่วิธีการเพี้ยนๆ เขาก็มีมาให้เลือกแบบทีเล่นทีจริงมาแล้ว เช่น ให้เลือกการเดินทางสู่จุดหมายที่เร็วที่สุดในเคมบริดจ์ ซึ่งจะมีตัวเลือกแบบพายเรือ ซึ่งเป็นวิธียอดนิยมในการชมเมืองของนักท่องเที่ยวรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ผู้ให้บริการเรือดังกล่าวก็ออกมาดับฝันทันทีว่า เอาเข้าจริงแล้วมันอาจจะใช้การไม่ได้หรอกนะ เพราะเส้นทางสัญจรนั้นส่วนใหญ่ตัดผ่านพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งเรือไม่สามารถจอดส่งผู้โดยสารสุ่มสี่สุ่มห้า
นั่นไม่ได้ทำให้ Google Maps ลดละความพยายามในการขายขำ แต่เขายังเสนอโหมดการเดินทางตัวเลือกสุดพิสดาร เช่น ให้นั่งรถม้าของราชวงศ์ เดินทางจากประสาทวินด์เซอร์ไปพระราขวังบัคกิงแฮม ซึ่งก็ยังอาจจะน่าประหลาดน้อยกว่า การแนะนำวิธีการเดินทางจากจีนไปญี่ปุ่นโดยใช้เจ็ตสกี ที่เคยมีมาให้เห็นแล้ว
ไม่ใช่แค่ตั้งใจซ่อนความแปลก แต่บางครั้งแอปพลิเคชันก็เคยมาพร้อมความพยายามจะน่าเอ็นดู เช่น เมื่อเราไปสถานที่ไหนที่มีความพิเศษ ธีมก็จะเปลี่ยนไปตามจุดเด่นของสถานที่นั้น เช่น ในแผนที่ของ Area51 ที่เป็นฐานทัพอากาศของสหรัฐ ณ ลาสเวกัส ไอคอนจะเปลี่ยนเป็นรูป UFO เพราะมีความเชื่อว่าเป็นพื้นที่ๆ จะเห็นอากาศยานมนุษย์ต่างดาวได้ หรือแปลงไอคอนเป็นนางเงือกเมื่ออยู่บนแผนที่ฮาวาย หรือเปลี่ยนตัวเองเป็นไอคอนราชินีในบักกิงแฮม แต่ฟีเจอร์พิเศษเหล่านี้ จะหมุนเวียนมาเป็นระยะ และอยู่ให้ฮือฮาเพียงช่วงเดียว ก่อนจะกลับสู่สภาพปกติต่อไป
ไม่ใช่ Google Maps แล้วอะไรได้บ้าง
แม้ว่าการใช้งานของคนทั่วโลกจะถูก Google Maps ล้อมเอาไว้หมดทุกทางแล้ว แต่ยังมีบริษัทเทคโนโลยีที่พยายามนำเสนอทางเลือกแผนที่ขึ้นมาแข่งขัน เช่น Here Technologies สตาร์ทอัพจากเบอร์ลิน พัฒนาแผนที่ดิจิทัลภายใต้ชื่อ Here Wego ในรูปแบบ Platform as a Service (PaaS) ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลการให้บริการบนคลาวด์ และเคลมตัวเองว่าเป็นเบอร์หนึ่งของแพลตฟอร์โลเกชั่น ที่มีข้อมูลมากที่สุด
ส่วน Mapbox เป็นบริการแผนที่ออนไลน์ที่ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และให้บริการ Navigation SDK (software development kit) ที่สามารถสร้างประสบการณ์นำทางแบบ turn-by-turn หรือจะเลือกเป็นแบบ Free Drive ก็ได้ ทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่สนใจนำลูกเล่นแผนที่นี้ไปใช้กับบริการในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของตัวเอง เช่น Lonely Planet, Strava, Skyscanner เป็นต้น
ขณะที่ TomTom จากเนเธอร์แลนด์ ให้บริการโดยโฟกัสที่ตัวระบบนำทางและสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยครองความนิยมในกลุ่มลูกค้าประเภทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำที่นำแผนที่ไปใช้ในระบบนำทางขับขี่ โดยให้คำแนะนำละเอียดที่เน้นความปลอดภัยและข้อมูลครบครัน เช่น แนะนำว่าควรขับเลนไหน บอกพิกัดจอดรถได้ว่าฟรีหรือมีค่าใช้จ่าย เป็นต้น
อนาคตของการทำแผนที่ไม่อาจหยุดนิ่งได้ แต่ต้องอัพเดทเคลื่อนไหวให้ทันกับการพัฒนาเมืองหรือถนนหนทาง ระบบขนส่งสาธารณะที่เพิ่มขึ้นหรือถูกปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เช่นเดียวกับการมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้ข้อมูลนั้นอัพเดทตอบสนองการใช้งานแบบเรียลไทม์ได้เสมอ
อาทิเช่น ไอเดีย Living Maps ซึ่งแทนที่จะใช้รูปภาพดาวเทียม ก็เปลี่ยนมาเป็นวีดีโอที่ติดตั้งบนรถหรือเครื่องบิน เพื่อเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น และยังสามารถนำเทคโนโลยีไปพัฒนา self-driving car แทนจีพีเอสด้วย แต่แนวคิดนี้ก็ยังมีอุปสรรค เนื่องจากในบางประเทศติดข้อกฎหมายเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัว การพัฒนาแผนที่ในโลกใหม่ จึงยังมีอะไรให้น่าติดตามอีกมาก
แม้ว่าเทคโนโลยีแผนที่จะอำนวยความสะดวก ทำให้การหลงทางแบบมืดแปดด้านแทบจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วมีเทคโนโลยีเหล่านี้ในมือ แต่การพึ่งพาสัญชาตญาณของตัวเองยังคงมีความจำเป็น ไม่ใช่มุ่งตรงอย่างเชื่อฟังแบบไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เพราะความผิดพลาดของการบอกทางยังคงมีให้เห็น อาทิ โศกนาฏกรรมจีพีเอสที่นำพารถยนต์ขับตกลงน้ำตามที่ข่าวปรากฎบ่อยๆ
สุดท้ายแล้วการหลงทางอาจใช้แผนที่พอช่วยได้ แต่หากคนหลงอย่างอื่นขึ้นมาเหมือนสมชาย คงต้องไปหาวิธีร่าง Special Purpose Map ขึ้นมาใหม่เพื่อพิชิตจุดหมายของตัวเองต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจากทีม Digital Excellence & Delivery, Bluebik Group PLC. และข้อมูลจากบทความที่เกี่ยวข้อง