fbpx
บทความ 10 สิงหาคม 2023

เปลี่ยน Info สู่ Insights การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ด้วย Consolidated Data Platform

Digital-First กำลังมีบทบาทสำคัญในการในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมายกระดับกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และทำให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม หากต้องการนำกลยุทธ์ Digital-First ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพนั้น หนึ่งในกุญแจสำคัญคือการผลักดันให้องค์กรสามารถนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจเชิงธุรกิจ หรือ  Data-driven decision making ทั้งเรื่องกิจกรรมภายในองค์กรและกิจกรรมภายนอกองค์กร ซึ่งในการใช้ข้อมูลมาร่วมในการตัดสินใจนี้ ข้อมูลทั้งหมดของในองค์กรต้องมีการรวมศูนย์ รวมถึงต้องมีคุณภาพ เชื่อถือได้ และเป็นหนึ่งเดียวคือไม่ซ้ำซ้อน เลยเป็นที่มาถึงความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาระบบ Consolidated Data Platform ขึ้นมา

ปัญหาขององค์กรที่ไม่มี Consolidated Data Platform

คราวนี้เราลองมาดูกันว่าถ้าองค์กรอยากจะใช้กลยุทธ์การนำข้อมูลมาร่วมในการตัดสินใจแต่ยังไม่มีระบบ Consolidated Data Platform จะเกิดปัญหาอะไรกันบ้าง ลองนึกถึงองค์กรทั่วไป ที่นำซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามาใช้ในองค์กรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ภายในองค์กรมีความหลากหลายมาก ไปจนถึงความหลากหลายของวิธีจัดเก็บข้อมูลไม่ว่าเป็น Database ที่หลากหลายชนิด หลากหลาย format ของข้อมูล หลากหลายเทคโนโลยี รวมไปถึง file database ที่มีความเป็น proprietary ความกระจัดกระจายของข้อมูลที่ผู้ใช้งานอาจจะบันทึกไว้อยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว อีกทั้งยังรวมไปถึงข้อมูลบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ IT ซึ่งยังเป็นกระบวนการทางกระดาษอีกด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นนี้ทำให้บริษัทไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วจากการไม่มีการรวมศูนย์ข้อมูลไว้ในแหล่งเดียวกัน นอกจากนี้การไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูลอย่างเหมาะสมยังส่งผลต่อเรื่องคุณภาพของข้อมูล เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กรมีความถูกต้องมากแค่ไหน ด้วยเหตุนี้ การที่องค์กรไม่สามารถนำข้อมูลมาหา Insights เพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ จึงทำให้บริษัทอาจสูญเสียโอกาสในการเติบโตและสามารถทำให้ธุรกิจเสียหายในระยะยาวได้

Consolidated Data Platform ต่อยอดข้อมูลสู่ Insights

Consolidated Data Platform เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจดิจิทัล โดยการรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการเงิน ข้อมูลการขาย ข้อมูลการตลาด ข้อมูลการผลิต ข้อมูลของ supply chain และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นกิจกรรมขององค์กร ให้อยู่ในที่เดียวกัน มีความถูกต้องของข้อมูล มีการคัดแยกอย่างเหมาะสม มีการดูแลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีผู้รับผิดชอบต่อข้อมูลนั้นๆ โดยตรง โดยทั้งหมดนี้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างง่ายและสะดวก ทำให้ผู้บริหารและผู้ตัดสินใจมีภาพรวมและข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจ ทำความเข้าใจเทรนด์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

10 ขั้นตอน สร้าง Consolidated Data Platform

การสร้าง Consolidated Data Platform นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อยอดให้ข้อมูลกลายเป็น Insights ที่สามารถช่วยในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจ และและสร้างจุดแข็งเหนือคู่แข่ง สำหรับเส้นทางสู่การสร้าง Consolidated Data Platform อาจมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของธุรกิจ ขนาดองค์กร และความต้องการอื่นๆ โดยเฉพาะ โดย Bluebik อยากแนะนำ 10 ขั้นตอนเบื้องต้นสู่การสร้าง Consolidated Data Platform ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1.      ประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน

ก่อนเริ่มต้นสร้าง Consolidated Data Platform ธุรกิจควรประเมินโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลภายในองค์กรก่อน รวมไปถึงเรื่องคุณภาพข้อมูล และความรู้ความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลและกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลของพนักงานในองค์กร เพื่อดูว่ายังมีช่องโหว่และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่แพลตฟอร์มข้อมูลสามารถเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพได้

2.      วางกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ขององค์กรให้ชัดเจน

สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการสร้าง Consolidated Data Platform เพื่อช่วยในการตัดสินใจคือกลยุทธ์และวิสัยทัศน์องค์กรที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางธุรกิจ จุดมุ่งหมายที่สามารถวัดผลได้ และโรดแมปการพัฒนาที่ทำได้จริง ซึ่งในส่วนนี้ควรได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากทีมผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญจากหลากหลายฝ่าย

3.      สร้างโครงสร้างธรรมาภิบาลข้อมูล

การสร้างกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลที่แข็งแกร่ง จะช่วยให้องค์กรบริหารข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การสร้างคลังข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้งานและใช้วิเคราะห์ รวมไปถึงการวางแนวทางกำกับดูแลข้อมูล คุณภาพข้อมูล และความปลอดภัยของข้อมูลโดยองค์กรควรมีคณะทำงานด้านธรรมาภิบาลข้อมูลโดยเฉพาะเพื่อดูแลรับผิดชอบการบริหารจัด การข้อมูลในส่วนต่างๆ 

4.      ลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับองค์กร

สิ่งสำคัญลำดับถัดมาคือการเลือกและลงทุนในเทคโนโลยีเหมาะสมกับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล เครื่องมือ และแพลตฟอร์มสำหรับรวบรวมข้อมูล ประมวลผล จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ตัว database, data lakes, business intelligence (BI) tools และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงอย่าง ML/AI

5.      ปรับปรุงคุณภาพและความสอดคล้องกันของข้อมูล

องค์กรควรสร้างกระบวนการและมาตรฐานการปรับปรุงคุณภาพข้อมูล ทั้งเรื่องความถูกต้องแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ และความสอดคล้องของข้อมูล เพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องและใช้งานได้จริง

6.      สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบ Data-Driven

การที่องค์กรจะนำข้อมูลไปช่วยในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้จริง ส่วนหนึ่งมาจากรากฐานวัฒนธรรมองค์กรแบบ Data-Driven ที่พนักงานใช้ข้อมูลตัดสินใจในเรื่องต่างๆ มีการแชร์ข้อมูลข้ามแผนกและมีทักษะด้านข้อมูล (Data literacy) ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องมีการจัดฝึกอบรมพนักงาน จัดเวิร์กช็อปด้านข้อมูลโดยเฉพาะ และผสมผสานการวิเคราะห์ข้อมูลเข้าไปในกระบวนการทำงานประจำวันของพนักงาน

7.      จัดตั้งทีม Data Excellence ประจำองค์กร

องค์กรควรจัดตั้งทีมงานเฉพาะเพื่อดูแลงานด้านข้อมูลที่ประกอบด้วย Data Analysts, Data Scientist และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึก พัฒนาโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูล และสร้างคุณค่าจากการลงทุนด้านข้อมูล (ROI) โดยทีมงานส่วนนี้อาจมีการทำงานร่วมกับแผนกอื่นๆ เพื่อแก้ไขความท้าทายของธุรกิจโดยเฉพาะ

8.      ผลักดันแนวคิดริเริ่มแบบ Data-Driven อย่างต่อเนื่อง

แม้จะสร้าง Consolidated Data Platform แล้ว แต่องค์กรแบบ Data-Driven เป็นกระบวนการที่ไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงควรสนับสนุนแนวคิดริเริ่มด้านข้อมูลใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การทดลอง และการให้คำแนะนำเพื่อพัฒนากระบวนการต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งตั้งอยู่บนจุดมุ่งหมายทางธุรกิจขององค์กร (Business’ objectives) และขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี

9.      ติดตามและวัดผลความสำเร็จ

ในการพัฒนา Consolidated Data Platform องค์กรควรกำหนดตัวชี้วัด (KPIs) และวัดผลความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ แล้วนำข้อมูลจากการวัดผลดังกล่าวไปใช้พัฒนากลยุทธ์ และกระบวนการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น

10.   สื่อสารความสำเร็จและแบ่งปัน Insights

การบอกเล่าผลลัพธ์และความสำเร็จจากโปรเจ็กต์ด้านข้อมูลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงในองค์กรจะช่วยแสดงให้พนักงานเห็นคุณค่าและความสำเร็จของแนวคิดริเริ่มและการลงทุนด้านข้อมูล ซึ่งจะทำให้วัฒนธรรมองค์กรแบบ Data-Driven มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว ทั้ง 10 ขั้นตอนนี้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการสร้าง Consolidated Data Platform ที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาให้ธุรกิจกลายเป็น Data-Driven Organization อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของ Bluebik ที่ปรึกษาชั้นนำผู้ให้บริการด้าน Digital Transformation ครบวงจร มองว่าแนวทางการสร้างพัฒนาระบบ Consolidated Data Platform อาจจะต้องมีข้อพึงระวังกับความท้าทายหลายประการ เช่น การจ้างคนที่ไม่เป็นมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถในการออกแบบและดำเนินการระบบดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงระบบองค์กรที่เคยทำในอดีตแล้วไม่สำเร็จ การขาดการบริหารประสานงานจัดการทีมที่มีความหลากหลายประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้าน IT และหรือด้าน Business  และความยากลำบากในเข้าใจทิศทางและการดำเนินงานของธุรกิจในการสร้าง use case มาตอบสนองตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจ ดังนั้นแล้ว การมองหาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะสามารถช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในการไปสู่ Data-Driven Organization ได้รวดเร็วและมั่นคงยิ่งขึ้น