ปัจจุบัน ระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เป็นหนึ่งในกลไกหลักที่ใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจตามที่ได้วางไว้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าบทบาทหน้าที่ของ ผู้บริหารในสายงานไอที ‘Chief Information Officer (CIO)’ ในยุคนี้จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการวางแผนธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลและกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบไอที รวมถึงการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในเลือกใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดกับองค์กร
สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี ทำให้บุคลากรในตำแหน่ง CIO ต้องตื่นตัวกับเทรนด์ใหม่ๆ และเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สอดรับกับผลสำรวจที่ทาง ‘บลูบิค’ โดย ‘คุณเต้ย Associate Director จากทีม Strategic PMO’ ได้รวบรวมจากความคิดเห็นของผู้นำองค์กรระดับแนวหน้าด้านไอที ที่ระบุถึง 4 ความท้าทายใหม่ที่เข้ามาทดสอบความสามารถของ CIO ในปี 2022 ได้แก่
- การจัดลำดับความสำคัญทางด้านเทคโนโลยี
แน่นอนว่าปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเป็นสิ่งที่แต่ละแผนกในองค์กรเรียกร้องและต้องการ ซึ่งความต้องการใช้เทคโนโลยีนั้นแตกต่างกันไปตามกระบวนการทำงานและเป้าหมายของแต่ละแผนก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ CIO ที่จะเข้ามาการจัดลำดับความสำคัญและกำหนดทิศทางการเลือกใช้เทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานและเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กรให้มากที่สุด ซึ่ง CIO สามารถใช้ข้อมูลด้านต่างๆ ประกอบการพิจารณา การกำหนดลำดับความสำคัญการใช้งานเทคโนโลยี ดังนี้
- รายงานคาดการณ์ผลตอบรับหรือรายได้ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น
- ข้อมูลประเมินค่าเสียโอกาสหรือผลลัพธ์ในแง่ลบทางธุรกิจหากไม่ดำเนินการ
- ข้อดีและข้อเสีย รวมถึงผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กร
- ความซับซ้อน ระยะเวลา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการ
- การขาดแคลนบุคลากรด้านไอที
ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไอที เป็นปัญหาที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต้องเผชิญมากว่า 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะในปีนี้ที่ความต้องการบุคลากรด้านไอทีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเร่งปรับตัวขององค์กรเพื่อรับมือกับกระแส Digital Disruption ทำให้เกิดภาวะสมองไหล (Brain Drain) หรือ การดึงตัวกลุ่ม Tech Talent ควบคู่ไปกับกระแสการ Upskill-Reskill ให้กับพนักงานที่มีอยู่เพื่อเพิ่มทักษะด้านไอที ด้วยเหตุนี้ CIO จึงต้องเตรียมแผนการรองรับกับกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งแนวทางที่ในหลายองค์กรกำลังทำเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้น คือ การทำ Staff Augmentation เพื่อดึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไอที และรองรับการทำงาน รวมถึงใช้บุคคลเหล่านี้ Upskill-Reskill พนักงานเดิมในองค์กรให้มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันควรมีการศึกษาการปรับรูปแบบ (Organization Re-structure) หรือ สร้าง IT Center of Excellence ขึ้นเพื่อรองรับความต้องการภายในองค์กรระยะยาว
- การรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่
จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือกระแสการทำงานแบบ Work from Home หรือ Work from Anywhere เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้พนักงาน ฉะนั้น CIO ในฐานะของผู้นำองค์กรด้านเทคโนโลยีจึงต้องมีการกำหนดนโยบายและแผนการรองรับการทำงานรูปแบบใหม่ อย่างการนำเทคโนโลยี หรือ Work Tools ต่างๆ มาใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น
- การใช้โปรแกรม Remote Access เช่น TeamViewer เพื่อให้แผนก IT Support สามารถเข้าถึงและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้งาน Laptop ของพนักงาน
- การใช้ Collaboration Tool เช่น Microsoft Teams หรือ Slack เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร
ในขณะเดียวกันนั้น การทำงานในรูปแบบใหม่ได้นำมาซึ่งโจทย์ทางธุรกิจแบบใหม่ ได้แก่
- การกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลบริษัทผ่านเครือข่ายภายนอก
- การกำหนดสิทธิ์ในการนำเข้าข้อมูลภายนอกสู่เครื่อง Notebook
- ความปลอดภัยสำหรับการใช้งานเครือข่าย VPN
- การบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล
จากการที่ประเทศไทยเริ่มบังคับใช้กฎหมายการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับปรุงรูปแบบการให้บริการให้เป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ ที่ระบุไว้ในกฎหมาย เช่น การกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในระบบต่างๆ รวมถึงการลบข้อมูลส่วนบุคคลในกรณีที่มีการร้องขอ แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลเหล่านี้ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรสำหรับการนำไปใช้วิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ ดังนั้น CIO จึงต้องรับหน้าที่ในการหาวิธีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งวิธีที่บริษัทอาจนำมาใช้ได้ ได้แก่ การทำ Data Normalization เพื่อป้องกันการเกี่ยวโยงข้อมูลไปสู่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ยังมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์ทางธุรกิจได้ ด้วยเหตุนี้ องค์กรจำนวนมากจึงให้ความสำคัญในโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมากในช่วงนี้ และทาง ‘บลูบิค’ ก็ได้รับความไว้วางใจจากหนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศ ในการกำหนดกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ และเป็นหนึ่งในโครงการที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ ในปัจจุบัน