fbpx
Blogs 4 December 2020

“Cloud Kitchen” ที่จะพลิกธุรกิจร้านอาหาร เมื่อหน้าร้านอาจไม่สำคัญอีกต่อไป

ในช่วงของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ผ่านมา ธุรกิจหนึ่งที่มาแรงและเติบโตขึ้นอย่างมาก คือ “ธุรกิจส่งอาหาร” หรือ Food Delivery เพราะตอบโจทย์พฤติกรรมคนส่วนใหญ่ที่ต้องกักตัวและทำงานอยู่บ้าน แต่ก็ยังอยากทานอาหารจากร้านดังที่คุ้นเคย

แต่แค่บริการส่งอาหาร อาจยังไม่เพียงพอให้ร้านเข้าถึงลูกค้าได้อย่างทั่วถึง โดยถ้าร้านอยู่ไกลเกินไป ค่าส่งที่ลูกค้าต้องเสียก็จะเพิ่มขึ้นตามระยะทาง ขณะที่การเปิดหน้าร้านเพิ่มคงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก ในยุคที่ธุรกิจควรประหยัดต้นทุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “Cloud Kitchen” หรือ ครัวที่ใช้ร่วมกัน จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้และตอบโจทย์การขายอาหารผ่าน Online Delivery โดยเฉพาะ​

โดยแนวคิดนี้เป็นการรวมร้านอาหารต่าง ๆ จากหลายสถานที่เข้ามาไว้ในที่เดียวกัน ผ่านการให้เช่าพื้นที่ครัวส่วนกลางและอุปกรณ์ทำครัว เพียงร้านส่งพนักงานเข้ามาที่ Cloud Kitchen ก็สามารถทำอาหารและส่งอาหารของทางร้านไปยังพื้นที่รอบๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องเปิดร้านใหม่หรือมีหน้าร้านของตัวเอง นอกจากนี้ยังแชร์คนส่งร่วมกันได้ด้วย แนวคิดนี้ก็คล้าย Cloud Service ที่เรารู้จักกัน โดยเจ้าของร้านอาหารไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ที่เปรียบได้กับเซิร์ฟเวอร์ แค่ไปเข้าร่วมใน Cloud ก็ขยายพื้นที่ส่งอาหารได้แล้ว

ในต่างประเทศนั้น Cloud Kitchen มีมาประมาณ 5-6 ปีแล้ว และค่อนข้างได้รับความนิยม เพราะช่วยลดต้นทุนจากการเปิดร้านใหม่และสร้างครัวขึ้นเองได้ถึง 10 เท่า ทำให้เจ้าของร้านอาหารทำกำไรได้มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ร้านอาหารยังสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคและความชอบของผู้ใช้บริการได้อีกด้วย จากการประเมินยอดขายแต่ละสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บอาหารสดได้อย่างมหาศาล รวมไปถึงการศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมความต้องการของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน เพื่อใช้ในการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต
Rebel Foods ในอินเดีย เป็นตัวอย่างความสำเร็จของ Cloud Kitchen ที่เปิดครัวส่วนกลางได้กว่า 205 แห่ง ครอบคลุม 16 เมืองทั่วประเทศ และให้บริการอาหารหลากหลายประเภท ตั้งแต่อาหารท้องถิ่นไปจนถึงอาหารนานาชาติ จนทำให้ปัจจุบัน Rebel Foods มีมูลค่าประมาณ 16,145 ล้านบาท หรืออย่างบริษัท Keatz ธุรกิจ Cloud Kitchen ในยุโรป ที่ขยายบริการครัวส่วนกลางสำหรับร้านอาหารไปเป็นจำนวนกว่า 10 แห่งแล้วทั่วทั้งเยอรมนี เนเธอแลนด์ และสเปน

สำหรับในประเทศไทย เราเริ่มเห็นบริการนี้กันมาระยะหนึ่งแล้ว นำโดย Grab ที่เปิดตัว Grab Kitchen เมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นการรวมบรรดาร้านอาหารที่กระจายอยู่รอบกรุงเทพมาไว้ที่ครัวกลาง แล้วรับออเดอร์และขนส่งผ่านระบบของ Grab Food โดยในอนาคต เราน่าจะได้เห็นธุรกิจ Food Delivery เข้ามาแข่งขันด้านบริการ Cloud Kitchen กันมากขึ้น เพราะไม่เพียงจะทำให้ร้านอาหารมาเข้าร่วมแพลตฟอร์มได้มากขึ้นแล้ว ผู้บริโภคยังเสียค่าส่งถูกลง เลือกร้านอาหารได้มากขึ้น และได้อาหารเร็วขึ้นด้วย

Cloud Kitchen จึงเป็นโมเดลใหม่ที่น่าจับตามอง ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจร้านอาหารและอาจจะรวมถึงบริการส่งอาหารด้วย เพราะไม่เพียงช่วยสนับสนุนให้เจ้าของร้านอาหารสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น และลดต้นทุนในการเปิดหน้าร้านหรือสาขาใหม่แล้ว ยังตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้นด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก ลงทุนแมน, Hru Vetsutee และ Brandinside