แม้การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในวิกฤตครั้งใหญ่สำหรับหลายธุรกิจ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้บางธุรกิจค้นพบโอกาสสร้างการเติบโตใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์ที่มาแรงและอี-คอมเมิร์ซยอดขายถล่มทลายในช่วงล็อกดาวน์
ReCommerce หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่าการซื้อขายของมือสอง เป็นอีกธุรกิจที่กลับมาน่าจับตามองอีกครั้ง โดยมีคาดการณ์ว่า ตลาด ReCommerce ทั่วโลกจะมีมูลค่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2023 จาก 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 ตามข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล GlobalData
ทำไม ReCommerce กลับมาน่าสนใจ?
- เทรนด์รักษ์โลกและความยั่งยืน
ผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่ใช่แค่เฉพาะ Gen Z และ Millennials ตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น จึงไม่แปลกที่ของมือสองจะกลายเป็นทางเลือกสำหรับคนรักโลก เพราะสามารถลด Carbon Footprint ซึ่งก็คือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ออกมา ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค - ต้องการประสบการณ์มากกว่าความเป็นเจ้าของ
ปัจจุบัน ผู้บริโภคมองหาสินค้าที่เหมาะกับการใช้งานในแต่ละโอกาสมากขึ้น หมายความว่าต้องการตัวเลือกสินค้าที่หลากหลายและให้ประสบการณ์ใช้งานที่แตกต่าง จึงให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของสินค้าน้อยกว่าเรื่องประสบการณ์ใช้งานที่ได้รับ ดังนั้นการลงทุนซื้อสินค้าที่ใช้แค่ครั้งเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการ - อยากช้อปแต่ก็ต้องรัดเข็มขัด
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจและสร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการใช้เงินมากขึ้น ทั้งลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลง หรือหาตัวเลือกสินค้าที่ราคาถูกกว่า จึงไม่แปลกที่ของมือสองจะได้รับความนิยมมากขึ้น
Business Model ของ ReCommerce มีอะไรบ้าง
แม้สรุปแบบรวบรัดได้ว่า ReCommerce คือการซื้อขายของมือสอง แต่แก่นของ ReCommerce เป็นการสร้างคุณค่าจากสินค้าที่มีอยู่ให้กลับไปมีประโยชน์อีกครั้ง ดังนั้น Business Model ของ ReCommerce จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การซื้อมาขายไปเท่านั้น แต่สามารถทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่…
- ซื้อมาขายไปแบบดั้งเดิม
คือการเปิดให้คนมาซื้อขายกันเอง (person-to-person exchanges) เป็นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุดและมีมานานแล้ว เพียงแค่เปลี่ยนช่องทางการขายจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ โดยตัวอย่างแพลตฟอร์มที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น Shopee Lazada ที่เป็น Online Marketplace ให้คนทั่วไปซื้อขายได้โดยตรง - รับฝากขายสินค้า
โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับซื้อสินค้าที่มีคนอยากขาย แล้วคิดค่าธรรมเนียมในการฝากขาย ตัวอย่างธุรกิจรูปแบบนี้ เช่น thredUP เว็บไซต์ขายเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นมือสอง ที่รับซื้อของมาจากสมาชิกของเว็บไซต์ที่มีเสื้อผ้าหรือสินค้าแฟชั่นที่ไม่ต้องการใช้แล้ว แล้วหักค่าธรรมเนียมจากคนฝากขาย - ให้เช่าไปใช้
โมเดลนี้มักพบในกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมที่มีราคาซื้อขายค่อนสูง เช่น Rent the Runway ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าและเครื่องประดับหรูหรา ที่คิดค่าบริการให้เช่าชุดและเครื่องประดับแบรนด์เนมแบบรายเดือน (Subscription) จนตอนนี้มีสมาชิกจ่ายค่าบริการกว่า 10 ล้านรายแล้ว - รับซื้อของเก่า แลกส่วนลดของใหม่
หลายแบรนด์เลือกที่จะรับซื้อสินค้ารุ่นเก่าจากลูกค้า แล้วให้ส่วนลดหรือเครดิตสำหรับการซื้อสินค้ารุ่นใหม่ โมเดลรูปแบบนี้ส่วนใหญ่พบในสินค้ากลุ่ม Gadget เช่น Apple ที่มีบริการ Apple Trade In เปิดให้ลูกค้านำอุปกรณ์รุ่นเก่ามาแลกรับเครดิตสำหรับใช้ในการซื้อครั้งต่อไป หรือรับเป็นบัตรของขวัญ ในกรณีอุปกรณ์ไม่เข้าเกณฑ์การแลกเป็นเครดิต ทางบริษัทจะนำไปรีไซเคิลให้ฟรี
คงต้องบอกว่า ReCommerce ไม่ใช่ธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่กลับมาอยู่ในกระแสได้อีกครั้งจากการฉกฉวยโอกาสธุรกิจจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยโอกาสอาจไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่ แค่มองสิ่งเดิมในมุมที่แตกต่างก็กลายเป็นโอกาสใหม่ได้แล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก nchannel, thredup