SOAR Analysis เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางกลยุทธ์ที่ถูกพัฒนามาเพื่อใช้ทดแทน SWOT Analysis ด้วยการวิเคราะห์จาก Strength (จุดแข็ง) Opportunity (โอกาส) Aspiration (แรงบันดาลใจ) และ Result (ผลลัพธ์) ซึ่งมีความแตกต่างจาก SWOT Analysis ที่เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์เบื้องต้นขององค์กรจากปัจจัยภายในและภายนอก แต่ไม่อาจระบุเป้าหมายหรือแนวทางในการดำเนินงานได้ ในขณะที่ SOAR Analysis ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างให้ผู้วิเคราะห์หรือนักกลยุทธ์มองเห็นไปถึงภาพสุดท้ายหรือผลลัพธ์ของการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน
SOAR Analysis คือการจัดทำ Matrix ที่แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 แกนร่วมกันได้แก่ ช่วงเวลาและปัจจัยที่มีผลต่อองค์กรต่อองค์กร ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
Strength (จุดแข็ง)
การวิเคราะห์หาจุดเด่นที่ทำได้ดีหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดความแตกต่างและสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นระบบองค์กร สินค้าและบริการ หรือการทำงานของทีมงาน เช่น ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ที่สูงกว่าคู่แข่ง เงินทุนจำนวนมากสำหรับการลงทุนและขยายกิจการ สถานที่ตั้งอยู่ใกล้ BTS/MRT มีผู้คนผ่านจำนวนมาก เป็นต้น
Opportunity (โอกาส)
โอกาสทางธุรกิจคือสิ่งที่ส่งผลดีต่อการดำเนินงาน การสร้างรายได้และการทำกำไรเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นก็ได้เช่นกัน โดยเป็นปัจจัยจากภายนอกที่เกิดขึ้นเองและมักมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งโดยส่วนมากแล้วไม่ได้เกิดขึ้นตลอดไป แต่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น เทรนด์ของผู้บริโภค นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นต้น
Aspiration (แรงบันดาลใจ)
การตอบคำถามว่าแรงบันดาลใจขององค์กรคืออะไรก็เปรียบเสมือนการวางเป้าหมายขององค์กร เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วอะไรคือสิ่งที่องค์กรต้องการ หรือเป็นสิ่งที่องค์กรนั้นจำเป็นต้องให้สำเร็จ สำหรับเตรียมพร้อมวางแผนการดำเนินงานให้ชัดเจนไม่กำกวม เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปอยู่เสมอ เช่น การตั้งเป้ายอดขายเกิน 50,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่ปีละ 10,000 ล้านบาท เป็นต้น
Result (ผลลัพธ์)
เป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากเป้าหมายขององค์กรเพื่อใช้ในการวัดผลการดำเนินงาน ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่วัดเป็นตัวเลขหรือจับต้องได้ ทำหน้าที่เหมือนกับ KPI result ในการวัดผลของเป้าหมายหรือ Aspiration ที่ต้องวัดว่าจะสามารถบรรลุได้อย่างไรบ้าง เช่น ระยะเวลาของการดำเนินงาน จำนวน Project หรือ Initiatives ที่ต้องทำให้สำเร็จต่อปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลัก เป็นต้น ซึ่งบางครั้งก็เป็นเหมือนกับการตรวจสอบอีกครั้งว่าเป้าหมายองค์กรที่ตั้งไว้ สามารถวัดผลได้จริงหรือไม่
SOAR analysis อาจจะไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้ทดแทน SWOT analysis ได้ในทุกสถานการณ์ของการวางแผนกลยุทธ์ แต่จะเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้นักวางแผนสามารถกำหนดเป้าหมายสุดท้ายที่องค์กรต้องการได้ชัดเจนมากขึ้น และแผนการทำงานที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายด้วยจุดแข็งและโอกาสที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งการกำหนดแนวทางในการวัดผลให้เห็นว่าเป้าหมายขององค์กรสามารถสำเร็จได้จริง
ที่มา Expertprogrammanagement และ Greedisgood