หลังผ่านปีใหม่มา 1 เดือนแล้ว มีเป้าหมายของใครบ้างที่สำเร็จไปแล้วตั้งแต่เดือนแรก หรือยังอยู่ภายใต้เป้าหมายที่วางไว้อยู่บ้าง หลายคนอาจจะบอกว่าแน่นอนด้วยไฟที่แรงมาก แต่บางคนอาจจะเริ่มไฟตกหรือเบาบางลงกันไปบ้างแล้ว วันนี้เราจึงอยากจะมานำเสนอ Framework ที่ชื่อว่า S.M.A.R.T. goal ช่วยให้คุณช่วยตั้งเป้าหมายอย่างเป็นระบบแผนที่ดีแบบมีปลายทางชัดเจน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการวางแผนธุรกิจใหม่ก็ตาม
S.M.A.R.T. ย่อมาจาก Specific, Measurable, Attainable, Relevant และ Timely โดยมีรายละเอียด ดังนี้
Specific
บางคนอาจจะมองว่าการตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ ๆ ไว้ก่อนเป็นเรื่องดี แต่อาจจะลืมตั้งเป้าหมายระยะสั้นเอาไว้หรือขาดความเฉพาะเจาะจง จึงทำให้พลาดเป้าหมายใหญ่ไป จึงควรเริ่มต้นการตั้งเป้าหมายที่เจาะจงและชัดเจนก่อน ผ่านการตั้งคำถาม 5W – What (ทำอะไร), Who (ใครที่เกี่ยวข้องบ้าง), Where (กลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ใด / กิจกรรมจะเกิดขึ้นที่ใด), When (บรรลุเป้าหมายเมื่อไร) และ Why (เพื่ออะไร/จำเป็นหรือไม่)
เช่น ในช่วงนี้เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติโควิด-19 หลายคนอาจเริ่มมองหาการทำธุรกิจใหม่ อาจจะต้องเริ่มด้วยการตั้งคำถามเหล่านี้ว่าเราจะขายอะไร ขายให้ใคร ขายอย่างไร เป้าหมายยอดขายต่อปีเท่าไร และแผนสำรองเตรียมด้วยหรือไม่ เป็นต้น อย่างลืมว่าการตั้งเป้าหมายระยะสั้นมีโอกาสสำเร็จมากกว่าเป้าหมายระยะยาว ยิ่งเจาะจงลงไป ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จริงมากขึ้น
Measurable
เมื่อคุณมีเป้าหมายแล้ว คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าในแต่ละช่วงเวลาเป้าหมายของคุณนั้นมีความสำเร็จไปเท่าใดบ้าง และยังมีโอกาสที่จะสำเร็จอยู่หรือไม่ ดังนั้นการตั้งเป้าหมายที่ดีจะต้องวัดผลได้ เช่น การนับเป็นจำนวนยอดขาย จำนวนคนเห็นโฆษณา จำนวน Conversion เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้จ่ายไป ยอดคนกดไลก์ กดแชร์ และเราก็จำเป็นต้องรู้ว่าควรจะเอาอะไรมาเป็นตัววัดผลบ้าง
Attainable
ภายใต้ศักยภาพ ทรัพยากรและเงินทุนที่เรามีนั้น ต้องประเมินว่าสามารถทำให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ต้องคิดให้ชัดว่าวิธีการไปถึงเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานควรเป็นแบบไหน เพื่อให้ผู้ตั้งเป้าหมายสามารถมองเห็นหนทาง และดำเนินการตามแผนที่วางไว้และเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคตตามที่ตั้งใจไว้ได้
Relevant
เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นควรมีโอกาสที่จะเป็นไปได้จริง ไม่ไกลเกินเอื้อม และสมเหตุสมผล มิเช่นนั้นอาจจะเกิดอาการถอดใจกันก่อนได้ง่าย ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะมองการใหญ่มากก็อาจจะเริ่มปรับการตั้งเป้าหมายเป็น Rating แทน เช่น Average คือสามารถทำได้ตามเป้าหมาย Over expectation คือสามารถบรรลุเป้าหมายได้เกินที่คาด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยทำให้เป้าหมายที่วางไว้มีโอกาสเกิดขึ้นจริง และไม่ทำให้ถอดใจไปก่อนได้
Timely
มีกรอบเวลาที่ชัดเจนให้กับเป้าหมายนั้น ๆ เป็นเหมือนแรงผลักดันไปด้วยในตัว แต่อย่าลืมว่าเป้าหมายที่ดีนั้นไม่ควรยาวมาก ถึงแม้ว่าเราจะสามารถตั้งต้นจากเป้าหมายระยะยาวหรือ Vision ได้ก่อน แต่การวัดผลหรือการบรรลุเป้าหมายแต่ละจุดควรเป็นระยะเวลาที่สั้น ๆ ไว้ก่อน เพื่อให้รู้สึกเหมือนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับตนเองในทุก ๆ วัน
การตั้งเป้าหมายเป็นเหมือนกับความหวังให้กับทุกคนเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนในการดำเนินชีวิต แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่มักตั้งเป้าหมายที่อาจจะไม่สามารถเห็นผลหรือเกิดขึ้นได้จริงในเร็ววัน จึงเกิดเป็นความท้อใจ วันนี้เราจึงอยากให้กำลังใจทุกคนและพัฒนาการตั้งเป้าหมายให้ดีขึ้นและเกิดขึ้นได้จริง
ขอบคุณข้อมูลจาก Popticles, The Potential