fbpx
Blogs 25 October 2021

รู้จัก NFT สินทรัพย์ดิจิทัลสุดฮอต ไม่หยุดแค่วงการศิลปะ แต่จะพลิกโลกทั้งใบ

เมื่อพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัลช่วงน้ำขึ้น ในชั่วโมงนี้ต้องมี Non-Fungible Token หรือ NFT ติดหัวแถวแน่นอน จากการเป็นตลาดระดับแม่เหล็กที่เหนี่ยวทั้งนักสร้างสรรค์และนักลงทุนให้ร่วมวงเสนอขายและซื้อผลงาน “ชิ้นเดียวในโลก” พร้อมสลักชื่ออวดความเป็นเจ้าของด้วยการแลกเปลี่ยนกันบนระบบบล็อกเชน ที่ย้ำความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในระดับสูง

ความนิยมร้องแรงขนาดไหน หากดูสถิติเฉพาะครึ่งปีแรกแรกของปี 2564 ตลาด NFT สร้างสถิติมูลค่าทะยานไปถึง 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ ทะยานสูงยิ่งกว่าบินไปเหยียบดวงจันทร์ หากเทียบเคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่าซื้อขายยังเตาะแตะอยู่ที่ 13.7 ล้านดอลลาร์ โดยแพลตฟอร์มการซื้อขายที่เป็นตลาดใหญ่อย่าง OpenSea ทำสถิติยอดซื้อขายสูงเป็นสถิติที่ 150 ล้านดอลลาร์

การซื้อขายที่คึกคักที่เริ่มไม่ได้มาเล่นๆ ได้แรงสนับสนุนมาจากการสร้างสรรค์งานหลากหลายรูปแบบ ขยายวงไปแตะหลายวงการมากขึ้น เริ่มจากโลกศิลปะที่เฟื่องฟูและอาจเริ่มฟุบ และส่งไม้ต่อสู่โลกเกมออนไลน์ เมื่อนักพัฒนาหันมาใช้จุดเด่นของโทเคนที่มีแบบชิ้นเดียว หาอะไรมาทดแทนหรือทำซ้ำไม่ได้ เอามาสร้างตัวละครหรืออุปกรณ์ในเกม (ไอเท็ม) ให้คนไล่ล่าสะสมกัน กลายเป็นแม่เหล็กใหม่ๆ ของนักลงทุนยุคดิจิทัลที่หวังสะสมไอเท็มเพื่อเอามาซื้อขายแลกเปลี่ยนทำกำไร

NFT ภายใต้คำอธิบายสั้นๆ คือ Token ชนิดหนึ่งที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ อาทิ ภาพถ่าย วิดีโอ งานกราฟฟิก ภาพวาด ฯลฯ ที่ถูกแปลงลงมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดย Token แต่ละตัวจะมีเอกลักษณ์ หาอะไรมาทดแทนไม่ได้ แยกชิ้นส่วนขายไม่ได้ ต้องซื้อขายเต็มจำนวนเท่านั้น

เมื่อถูกจัดเก็บข้อมูลในระบบบล็อกเชน หมายถึงชุดข้อมูลนั้นเป็นแบบ Decentralize ที่ทุกคนในระบบถือสำเนาข้อมูลที่หน้าตาเหมือนกัน หากมีใครคนใดคนหนึ่งพยายามเปลี่ยนแปลง ตัวระบบจะตรวจพบและปฏิเสธ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล สามารถยืนยันได้จากเสียงข้างมากในระบบ ดังนั้นจึงรับรองความเป็นต้นฉบับได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังไม่ต้องอาศัยคนกลางมาคอยจัดเก็บข้อมูล จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น

เจ้าคุณสมบัตินี้เองที่ส่งให้การซื้อขายในรูปแบบ NFT เปล่งแสงขึ้นมา เพราะถือเป็นการลบจุดอ่อนเดิมๆ ของการผลิตชิ้นงานศิลปะที่มักเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์คัดลอก ดัดแปลงอย่างกระเจิดกระเจิง จนไม่รู้ที่มาที่ไป พิสูจน์ความแท้หรือดั้งเดิมไม่ได้

คนกลุ่มหนึ่งเลือกซื้อขายใน NFT เสมือนการสะสมชิ้นงานที่มีคุณค่าทางจิตใจ เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าของ” หรือบ้างก็เพื่อเก็บหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ บ่งบอกวัฒธรรมแห่งยุคสมัย เช่น ทวีตแรกของแจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ในปี 2006

หรือกระทั่งภาพ Meme อย่าง Disaster Girl ภาพเด็กหญิงที่หันมายิ้มอย่างมีเลศนัยหน้าบ้านที่กำลังไฟไหม้ ที่ถูกนำมาผลิตซ้ำในเชิงล้อเลียนไปทั่วโลก ภาพนี้ก็ถูกนำต้นฉบับมาเข้าสู่กระบวนการ Tokenization หรือแปลงมูลค่าให้อยู่ในรูปแบบ Token เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายบนบล็อกเชน

ผลปรากฎว่า เมื่อปล่อยออกมาเป็น NFT ในเดือนเมษายนปีนี้ “โซอี้ รอธ” เด็กสาวในภาพและครอบครัวของเธอ ทำเงินไปได้กว่า 486,716 ดอลลาร์ และตามสัญญาเธอยังจะได้รับส่วนแบ่ง 10% อีก หากผู้ถือลิขสิทธิ์ขายภาพนั้นต่อให้เจ้าของรายใหม่

แม้ว่า NFT จะแจ้งเกิดด้วยงานศิลปะเป็นส่วนใหญ่ แต่ในความจริงมีอีกหลายอย่างที่ถูกนำมาแปลงเป็น NFT ได้ อีกรูปแบบที่มาแรงแซงโค้งคือ การซื้อขายผ่านเกมในลักษณะ blockchain-based หรือที่เรียกว่า GameFi ที่ล้อไปกับคำว่า DeFi (Decentralized Finance)

ไม่ต่างจากนักสะสมที่ใช้รสนิยมส่วนตัวในการตัดสินใจเลือกสะสมของบางอย่างที่คิดว่ามีคุณค่า เกมบางโปรแกรมก็ได้รับพัฒนาขึ้นจนไปสะกิดต่อมทำให้เหล่าเกมเมอร​์ให้คลั่งไคล้ หรือเร่งสะสม “ของที่ต้องมี” หรือไอเท็มพิเศษ เพื่อพัฒนาคาแรกเตอร์ให้ไร้เทียมทาน หรือเอาไว้เป็นเครื่องมือให้อัพเลเวลได้เร็วขึ้น

ไอเท็มที่ถูกปล่อยออกมาจำกัดเหล่านั้นเอง ที่ต้องใช้ Token ในการซื้อ บางเกมอาจจะใช้เหรียญคริปโตเคอเรนซีที่มีอยู่แล้วเป็นสกุลอ้างอิงในการซื้อขายในเกม แต่บางบริษัทผู้พัฒนาเกมอาจจะออก Token ของตัวเองขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นตัวกลางซื้อขายในเกมนั้นๆ อย่างเกมที่มีฐานผู้เล่นแน่นๆ อย่าง Axie Infinity ที่ออกเหรียญ AXS ออกมาโดยเฉพาะ โดยผู้เล่นสะสมสัตว์เลี้ยงโลกแฟนตาซี นำมาเพาะพันธุ์ ฝึกฝน และต่อสู้ คาแรกเตอร์ต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นถือว่ามีต้นฉบับหนึ่งเดียว และเมื่อเรามั่นใจว่ามันน่าสนใจพอ ก็สามารถเอาไปขายในมาร์เก็ตเพลซที่ยอมรับได้ด้วย

หรือตัวอย่างที่เริ่มมาแรง อาทิ Chainmonsters ที่สะสมมอนสเตอร์ที่เรียกว่า chainmons มีกลไกเดินเกมคล้ายโปเกม่อน คือ เราต้องนำ chainmons ของเรามาฝึกปรือและอัพเลเวล เพื่อนำไปต่อสู้ไล่ล่าตัวเทพๆ ในเกมอีกที แล้วนำตัวเทพมาขายกับคนที่ไม่มีได้ ขณะที่ราคานั้นก็สามารถกำหนดกันเองได้เลย โดยธุรกรรมซื้อขายนำทำกันบนบล็อกเชนของ FLOW รับรายได้เป็นสกุลคริปโตตามที่เกมกำหนดไว้

รูปแบบของเกมเหล่านี้ ช่วยขยายตลาด NFT ให้ก้าวกระโดดไปโดยปริยาย เพราะมันเกิดขึ้นพร้อมกับการมองหาเป้าหมายนักลงทุนที่พร้อมควบบทบาทนักเล่น ด้วยการใส่แนวคิด Play to earn ขึ้นมา แทนที่จะอยู่ในรูปแบบ Play to win (P2W) ซึ่งเน้นจูงใจให้คนควักกระเป๋าจ่ายไม่อั้น เพื่อไอเท็มพิเศษให้เล่นชนะ หรือตกแต่งคาแรกเตอร์ให้พิเศษกว่าตัวอื่น แต่อาจนำสิ่งของนำมาเทรดไม่ได้

นอกจากนั้น ยังถือเป็นการปลดล็อกการซื้อขาย NFT ที่เคยอยู่ในวงเฉพาะ เพราะคนที่ไม่เข้าใจเรื่องของบล็อกเชน ไม่มีงานศิลปะหรือผลงานใดๆ ไว้นำเสนอ อาจจะใช้ช่องทางเล่นเกมทำเงินก็ได้

ยกตัวอย่างเกมบางเกมอาจจะให้รางวัลเป็น Token เมื่อทำภารกิจสำเร็จ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นนำไปซื้อไอเท็มในเกมต่อ หรือบางเกมอาจให้นำไปเทรดในกระดานซื้อขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน

หากเป็นสายชอบวัดดวงแบบตื่นเต้นเร้าใจ การ์ดเกมอย่าง Gods Unchained ที่ผู้เล่นจะได้เป็นเจ้าของไอเท็มอย่างแท้จริง เพราะการถือครองการ์ดเท่ากับเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าในโลกจริง โดยต้องวัดดวงจากการซื้อแพ็คเกจที่มีให้เลือกหลายราคา แล้วมาสุ่มดูว่าจะได้การ์ดหายากที่เป็นที่ต้องการมากน้อยแค่ไหน โดยปล่อยออกขายได้รูปแบบของ NFT Card

ไม่เว้นแม้แต่วงการกีฬา ที่ทัวร์นาเมนต์บาสเก็ตบอลอาชีพ NBA ของสหรัฐ นำวิดีโอไฮไลท์การชู้ตทำคะแนนที่เฟ้นมาแล้วว่าเป็น Top Shot ของนักบาสเกตบอลดังออกมาขายในรูปแบบ NFT เช่น ช็อตการดังค์ของ Kevin Durant หรือ LeBron James เป็นต้น โดยมีรายงานว่านับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนเมษายนปี 2019 ใช้เวลาเพียงหนึ่งปีสามารถดึงดูดนักสะสมให้เข้ามาซื้อขายกว่า 4.6 แสนคน ทำการซื้อขายไปแล้วกว่า 4 ล้านครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้นคือการพัฒนาโลกเสมือนจริงอย่าง Decentraland ซึ่งที่ดินทุกผืน บ้าน หรือสิ่งของทุกอย่างเป็น NFT ทั้งหมด และเมื่อสังคมในเกมเติบโตขึ้น ราคาซื้อขายที่ดินในเกมก็ยิ่งถีบตัวสูง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับกลไกการซื้อขายที่เกิดขึ้นในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ในโลกความเป็นจริง

ส่วนอนาคตอันใกล้ที่ต้องจับตามองคือ การนำ NFT เข้าไปเชื่อมกับโลก Metaverse ที่จะผสานโลกเสมือนกับโลกจริงเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการใช้เทคโนโลยี AR หรือ VR ที่ช่วยดึงคนเข้าไปในโลกนั้นอย่างแนบเนียนขึ้น

ที่น่าสนใจ เพราะมีการขยับตัวของบริษัทชั้นนำอย่าง Facebook ที่ประกาศตัวชัดเจนมาสักพักแล้วว่าทุ่มทุนเรื่องนี้เต็มตัว แล้วก็เพิ่งออกเป็นโปรดักต์จริงอย่าง Ray-Ban Stories โดยร่วมกับแบรนด์แว่นตาชั้นนำ พัฒนาเทคโนโลยีถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอผ่านกรอบแว่นตาได้ โทรออก และฟังเพลงได้ แม้ว่ายังไม่มีการนำเทคโนโลยี AR/VR มาใช้ แต่ก็เป็นการเปิดตัวที่ฮือฮาพอสมควร เพราะอาจเป็นก้าวแรกที่สร้างความคุ้นชินให้กับคนด้วยเครื่องมือเหล่านี้

ด้วยความที่เป็นตลาดที่มีมูลค่าขยายตัวสูง ความเนื้อหอมของ NFT ก็ดึงดูดมิจฉาชีพ หรือ อาชญากรในโลกไซเบอร์เข้ามาด้วย โดยอาศัยช่องโหว่บางอย่างของระบบ เช่น การไม่ได้การันตีหรือยืนยันตัวตนความเป็นเจ้าของในขณะที่แปลงชิ้นงานเป็น NFT ขึ้นแผงซื้อขาย

กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วกับ Derek Laufman นักวาดภาพประกอบให้กับมาร์เวล ที่ถูกขโมยงานออกมาวางขายบนแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Rarible และทำให้แพลตฟอร์มต้องปลดภาพนั้นลงจากเว็บโดยด่วน

แม้ว่ายังมีความไม่สมบูรณ์แบบมาเป็นปัจจัยท้าทายให้ต้องแก้ไข แต่คงไม่มีอะไรหยุดยั้งความนิยมของ NFT ที่ปักหลักไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เราจึงมั่นใจได้ว่า จะยังคงเห็นการขยายปริมณฑลของมันไปอย่างกว้างขวางเหนือจินตนาการ

แต่หากจะวิ่งกระโจนเข้าไปในตลาด NFT ต้องอย่าลืมท่องให้ขึ้นใจว่า แม้จะเป็นตลาดที่ถูกแต่งตัวสวมทับด้วยเทคโนโลยีใหม่กริบ แต่หลักการหรือกลไกของมันอาจยังหนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ ที่เราอาจเจอในโลกตลาดทุนอื่นๆ เช่น ขาปั่นราคาที่รู้จักเล่นกับจิตวิทยาคนหมู่มาก ดึงให้เกิดกลุ่มก้อนความสนใจ กรูกันเข้ามาดึงเส้นกราฟให้ทะลุจักรวาล แล้วทุบเหล่าแมงเม่าให้วิงเวียนกลิ้งตกดอยอย่างร้าวราน

ดังนั้น เราจึงต้องเตือนตัวเองเสมอว่า กระแสความนิยมของเกมบางเกม อาจมาเร็วไปไวกว่าที่คิด เปรียบเทียบเหมือนตัวการ์ตูนบางอย่างอาจอยู่ค้ำฟ้า เช่น โดราเอม่อน แต่ก็มีตัวการ์ตูนยอดฮิตในวันวานที่หายตกขอบโลกไปแล้ว เช่น Bad Badtz Maru เป็นต้น แค่เข้าใจหลักการของ NFT แล้วยังไม่พอ ต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละเกมหรือแพลตฟอร์มอย่างรอบคอบ จับกระแสให้ถูก เลือกเวลาซื้อขายให้เหมาะ และยั้งใจไม่ให้กรูตามกระแสเมื่อเห็นความนิยมบางอย่างทะลักขึ้นอย่างผิดสังเกต เพราะการนำบล็อกเชนมาสวมกับเกมเหล่านี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ที่อาจเปิดช่องให้ขาปั่นเข้ามาป่วนเราได้ง่ายๆ เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก กล้า – สถาพร สายเนียม และ เจน – จิณห์จุฑา ทรงประกอบ, Software Engineer จากทีม Digital Excellence & Delivery, Bluebik Group PLC.