fbpx
Blogs 11 November 2021

‘DeFi’ เกี่ยวข้องกับการเงินได้อย่างไร เมื่อขาดตัวกลางทางการเงิน

ก่อนหน้านี้ถ้าพูดถึงเรื่องธุรกรรมทางการเงิน คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึง ธนาคาร ที่มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งผ่านเงินจากบัญชีหนึ่งไปให้ผู้รับอีกฝั่งหนึ่ง แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และระบบ Automation ที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงานส่งผลให้ตัวกลางเหล่านี้เริ่มมีบทบาทน้อยลง ลองนึกภาพในอนาคตว่าหากระบบคอมพิวเตอร์และ Coding สามารถเข้ามาทดแทนการทำงานเหล่านี้ได้หมด การทำธุรกรรมต่าง ๆ สามารถสำเร็จได้โดยไม่ต้องมีตัวกลางจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นเพียงใด หรือลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน จึงกลายเป็นจุดประสงค์ที่มาของคำว่า Decentralized Finance หรือ DeFi


DeFi คืออะไร


DeFi เป็นรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำหน้าที่บันทึกและดำเนินธุรกรรม แทนตัวกลางอย่างสถานบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ แล้วเปิดให้คนที่ต้องการฝากเงินและกู้เงินมาเจอกันโดยตรง รวมถึงการซื้อขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน มาทำธุรกรรมโดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามเรียกว่า “Smart Contract”

Smart Contract เป็นรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบ ยืนยัน บังคับใช้หรือลงนามข้อตกลงต่าง ๆ ผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อถูกกำหนดหรือประกาศออกไปแล้วจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้อีกจึงทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการโกงเกิดขึ้นในระบบ


DeFi แตกต่างกับ FinTech อย่างไร


ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นมากมาย แต่อย่างไรก็ตามนวัตกรรมเหล่านั้นที่เรียกว่า FinTech อย่าง e-Wallet, Payment Gateway หรือ Prompt Pay เป็นต้น ยังคงอยู่ภายใต้ธนาคารหรือองค์กรต่าง ๆ อยู่ดี แต่ DeFi ถูกพัฒนามาเพื่อเป้าหมายในการตัดตัวกลางเหล่านี้ เพื่อให้คู่ค้าสามารถทำธุรกรรมกันได้โดยตรงและรวดเร็วมากขึ้น รวมไปถึงการกู้ยืมเงิน การแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลต่าง ๆ และ Asset Tokenization (การเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงให้กลายเป็นโทเคนหรือหน่วยลงทุนขนาดย่อยที่สามารถซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายมากขึ้น) โดยสามารถดำเนินการกันได้โดยตรงหรือที่รู้จักกันว่า Peer-to-peer

* อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Asset Tokenization ได้ที่ https://thestandard.co/asset-tokenization/


เพราะเหตุใด DeFi ถึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากขึ้น


DeFi กลายเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากสามารถเข้ามาพลิกโฉมการทำธุรกรรมทางการเงินแบบดั้งเดิมให้มีต้นทุนที่ต่ำลง จากการตัดตัวกลางการทำธุรกรรมออกไป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง เช่น ค่าสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือค่าดูแลระบบ ดังนั้นเมื่อค่าใช้จ่ายส่วนนี้หายไป ค่าบริการในการใช้งานจึงต่ำลง และผู้ให้บริการสามารถให้ผลตอบแทน เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก ได้สูงขึ้นกว่าเดิม

ไม่เพียงเท่านั้น DeFi ยังทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะตั้งอยู่บนบล็อกเชนที่เข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลก ต่างจากระบบการเงินแบบเดิมที่บริการทางการเงินจำกัดอยู่แค่บนเครือข่ายของตัวกลางเท่านั้น DeFi จึงทำให้การเข้าไปลงทุนหรือถือครองสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ ๆ ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
DeFi กับข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะ DeFi จะเป็นไอเดียที่ช่วยลดช่องว่างการให้บริการทางการเงินต่าง ๆ กับผู้ใช้งานให้ลดลงและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อขาดตัวกลางทางการเงินไป การทำธุรกรรมต่าง ๆ เหล่านี้อาจจำเป็นต้องระมัดระวังและตรวจสอบให้มากขึ้น หากไม่นับเรื่องการเก็งกำไรที่หลายคนกำลังสนใจ ที่อาจพบกับความเสี่ยงที่เงินต้นจะได้คืนกลับมาไม่เท่าที่ลงทุน Smart Contract เองก็อาจเป็นความเสี่ยงได้ หากผู้ให้บริการเขียนไว้ไม่รัดกุมพอ หรือมีช่องโหว่ในการคนภายนอกเข้ามาดึงเงินออกไปได้ หรือถูกแฮ็กเกิดขึ้นได้ ดังนั้นไม่ใช่เพียงแค่นักพัฒนาที่ต้องมีความเชี่ยวชาญสูงและรอบคอบ แต่รวมไปถึงผู้ใช้งานที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนการลงทุนด้วยเช่นกัน


อนาคตของ DeFi จะเป็นอย่างไร


จากจุดเริ่มต้นของ DeFi เชื่อว่าในอนาคตคงจะมีผู้พัฒนาอีกมากมายที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทางการเงินต่าง ๆ ของผู้คนได้มากขึ้น และในอนาคตอาจจะทำให้ผู้ใช้งานเปลี่ยนมุมมองจากการเก็งกำไรเพื่อผลตอบแทนสูงเป็นส่วนใหญ่ มาเป็นการทำธุรกรรมเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน เพิ่มความคล่องตัว และเปิดโอกาสให้เทคโนโลยีนี้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมในกลุ่มธุรกิจได้อย่างน่าสนใจอาทิ ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานของ DeFi เหล่านี้

  1. Trading เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างผู้ใช้งานด้วยกันโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงิน
  2. Lending & Borrowing ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงโอกาสในการกู้ยืมเงินและปล่อยเงินกู้ให้ผู้ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น โดยผ่านการควบคุมของ Smart Contracts ที่จะดูแลหลักประกันและดอกเบี้ยได้อย่างปลอดภัย
  3. International Remittance การโอนเงินข้ามประเทศจะเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น จากปัจจุบันที่ต้องผ่านตัวกลางทั้งในและต่างประเทศ กว่าเงินจะถึงมือผู้รับก็อาจใช้เวลาไปหลายวัน แต่ด้วยการโอนเงินผ่าน Blockchain จะช่วยลดระยะเวลาลงได้อย่างมาก อาจเหลือเพียงหลักนาทีเท่านั้นเอง
  4. Provenance & Ownership ด้วย Non-Fungible Token หรือ NFT ที่เป็นโทเคนขนาดเล็กที่ไม่สามารถแบ่งย่อยได้อีกหรือสร้างเพิ่มโทเคนที่เหมือนกันขึ้นได้ จะทำหน้าที่บ่งบอกความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ให้กับผู้ถือครอง ซึ่งจะกลายเป็นนวัตกรรมสำหรับใช้ซื้อและแสดงความเป็นเจ้าของในการถือครองสินทรัพย์บนโลกดิจิทัลได้

ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้มีโอกาสได้มาขยายความของตัวอย่างการใช้งานและการประยุกต์ใช้ระบบ DeFi กันได้อีกมาก


ขอบคุณข้อมูลจาก Bloomberg, Siamblockchain, SCB10X, Disrupt Ignite, Shameer Thaha และ Bluebik Analysis