fbpx
Blogs 12 January 2022

“Six Forces Model” โมเดลวิเคราะห์การแข่งขันทางธุรกิจ ที่สมบูรณ์กว่า Five Forces

“Six Forces Model” เป็นเครื่องมือทางธุรกิจเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยให้ธุรกิจประเมินความสามารถในการแข่งขันและความน่าดึงดูดใจของตลาด ซึ่งถูกพัฒนาต่อมาจาก Five Forces Model ของ Michael E. Porter โดยการเพิ่มแรงที่ 6 คือสินค้าที่ต้องใช้ร่วมกัน (Complementary Products) เพื่อปรับให้เข้ากับโลกธุรกิจเทคโนโลยีในการประเมินการเปลี่ยนแปลงของบริบท โดยพิจารณาจากผู้เข้ามาในตลาดรายใหม่ และพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้สามารถทำหน้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคู่กันหรือทดแทนระยะยาวได้หรือไม่

1. การแข่งขันของผู้ที่อยู่ในตลาด (Industry Rivalry)

การที่มีคู่แข่งในตลาดมาก จะยิ่งลดโอกาสในการขายสินค้าของบริษัท ฉะนั้นเราควรพิจารณาจากปัจจัยจำนวนคู่แข่งภายในอุตสาหกรรม และอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม นอกจากนั้นเราก็ควรเตรียมพร้อมให้ดี วางแผนกลยุทธ์ให้รัดกุมหากต้องการเข้าสู่ตลาดนั้น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงและเสริมสร้างให้องค์กรแข็งแกร่งต่อไป

2. อำนาจต่อรองจากซัพพลายเออร์ (Power of Suppliers)


แรงกดดันจากซัพพลายเออร์ซึ่งมีหน้าที่ส่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตให้กับเรา สถานการณ์จะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่หากซัพพลายเออร์ที่ผลิตวัตถุดิบชนิดนั้น ๆ มีจำนวนน้อยราย และการซื้อวัตถุดิบมาในราคาสูงก็ส่งผลให้ต้นทุนผลิตของเราสูงขึ้น

3. อำนาจต่อรองจากลูกค้า (Bargaining Power of Customers)


ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ค้าต้องตระหนักว่าลูกค้าก็มีอำนาจการต่อรองเช่นกัน เช่นต่อรองขอให้ ลด แลก แจก แถม เพื่อให้เป็นไปตามที่ต้องการ โดยเฉพาะหากลูกค้ารายนั้นเป็นลูกค้ารายสำคัญและซื้อสินค้าในปริมาณมาก

4. การคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of Substitutes)


การเลือกซื้อสินค้าทดแทน เช่น สมาร์ทโฟนแทนนาฬิกาหรือกล้องดิจิตอล Airbnb แทนโรงแรม เครื่องบินแทนรถทัวร์ แม้ว่าสินค้าแต่ละชนิดอาจจะมีบางฟังก์ชันที่ทดแทนกันได้ แต่ก็ไม่ใช้ทั้งหมด ฉะนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอยู่เสมอ

5. การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ (Threat of New Entrants)


การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการหน้าใหม่ย่อมแปลว่ามีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดที่เราเคยได้รับลดน้อยลงไป ธุรกิจขนาดใหญ่อาจไม่กังวลมากเพราะมีกำลังผลิตมาก วัตถุดิบราคาถูก แต่สำหรับกิจการขนาดเล็กก็ต้องรับมือให้ดี

6. สินค้าที่ต้องใช้ร่วมกัน (Complementary Products)


ปัจจัยที่ 6 ปัจจัยสุดท้ายที่เพิ่มเข้ามา คือการพิจารณาถึงความจำเป็นของสินค้าชนิดหนึ่งที่ต้องใช้ร่วมกับอีกชนิดหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์และน้ำมัน เป็นสินค้าที่ต้องใช้คู่กันจึงจะทำให้รถยนต์สามารถทำงานได้ ดังนั้นถ้าหากน้ำมันมีราคาที่สูงขึ้นมากเรื่อย ๆ จนทำให้ความต้องการของน้ำมันลดลง ก็อาจส่งผลต่อความต้องการของการซื้อรถยนต์ให้มีแนวโน้มที่จะต่ำลงได้เช่นกัน และในลักษณะคล้ายกันหากราคาน้ำมันลดลง ความต้องการต่าง ๆ ก็ควรจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นในการทำธุรกิจ หากเป็นสินค้าที่ต้องใช้คู่กัน เราจึงต้องพิจารณาแรงจาก Complementary Products ด้วยกันเช่น เพื่อวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของการแข่งขันทางธุรกิจ

อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับ Five Forces Model ได้ที่ bluebik.com/blogs/2788

📌 ตัวอย่างของ Six Forces Model

อุตสาหกรรมสื่อแบบเก่า เช่น สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ ถูกดิสรัปจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้สื่อต้องปรับวิธีการนำเสนอคอนเทนต์ต่างๆ นอกจากนี้ยังทำให้สื่อใหม่ (New Media) เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นจากการถือกำเนิดของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อนำเสนอเนื้อหา ซึ่งสร้างการแข่งขันในรูปแบบใหม่และการมาถึงของผู้เข้าแข่งขันรายใหม่ที่ไม่ได้ดำเนินการเหมือนคู่แข่งแบบเดิม

ในขณะเดียวกัน การส่งเนื้อหาไปยังผู้ใช้ทางออนไลน์สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แตกต่างจากการต้องซื้อช่วงเวลาของช่อง ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิธีการเผยแพร่เนื้อหาและพลิกโฉมอุตสาหกรรมสื่อทั้งหมดอย่างมากทั้งจากแรงกดดันต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เป็นเหมือนบริการที่ใช้ร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ จึงทำให้การเสพสื่อจากช่องทางเดิมลดน้อยลง จึงควรจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างการวิเคราะห์ของแบบจำลองดั้งเดิมที่เพิ่มรายละเอียดอื่น ๆ เข้าไปให้เหมาะสม

ขอบคุณข้อมูลจาก [1] [2] [3] [4]