fbpx
Blogs 5 October 2022

เจาะลึก!! 2 ศึกชิงเจ้าตลาด ‘Web Browser’ สู่เส้นทางการเป็นเบอร์ 1 ของ ‘Google Chrome’

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน Web Browser กลายเป็นโปรแกรมหลักที่คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องต้องมี เพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือการบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์  จากความสำคัญดังกล่าวของ Web Browser ที่เปรียบเหมือน ‘ประตูบานแรกสำหรับการท่องอินเตอร์เน็ต’ จึงไม่น่าแปลกใจว่า สงครามการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้งานของผู้ให้บริการ Web Browser นั้น เป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน แต่ความน่าสนใจของการต่อสู้ในครั้งนี้ คือ

“ใครจะเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้กันแน่?”

“เราสามารถเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เหล่านี้บ้าง?”

เราไปหาคำตอบด้วยกันได้จากบทความนี้

The Browser War I

Web Brower ในยุคแรกเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งในสมัยนั้น Mosaic จาก National Center for Supercomputing Applications (NCSA) ถือเป็น Web Browser ตัวแรกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 

จนกระทั่ง Marc Andreessen อดีตนักพัฒนา Mosaic ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงพนักงานพาร์ตไทม์ของ NCSA ตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า Netscape Communications Corporation และพัฒนา Web Browser ในชื่อ “Netscape Navigator” และได้รับความนิยมในทันทีหลังจากเปิดตัว เนื่องจากการใช้งานที่ง่ายและมีการแสดงผลที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Netscape พุ่งขึ้นสูงถึง 80% ในช่วงปี 1995-1996

ความสำเร็จดังกล่าว ดึงดูดให้ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง “Microsoft” เข้ามาสู่ธุรกิจ Web Browser และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘สงครามเว็บเบราว์เซอร์ครั้งที่ 1’

โดย Microsoft ใช้ Code จากบริษัท Spyglass ผู้ถือสิทธิ์เชิงพาณิชย์ของ Mosaic มาสร้างเป็น Browser ของตัวเองมาโดยใช้ชื่อว่า “Internet Explorer” โดยในช่วงแรก Internet Explorer นั้นแทบไม่สามารถสู้กับ Netscape ได้เลยทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและจำนวนผู้ใช้งาน

แต่เนื่องจาก Microsoft เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่มีเงินทุนมหาศาล จึงทำให้สามารถทุ่มทรัพยากรเพื่อพัฒนา Internet Explorer จนมีฟีเจอร์ก้าวตาม Netscape ทันในรุ่นที่ 4 และจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1997 เมื่อ Microsoft ตัดสินใจผูกโปรแกรม Internet Explorer ไว้เป็นเว็บเบราว์เซอร์เริ่มต้นของระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งนั่นหมายความว่าคนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows จะสามารถใช้งาน Internet Explorer ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาไปดาวน์โหลดหรือหาซื้อเว็บเบราว์เซอร์ใหม่อีกต่อไป

ซึ่งในขณะนั้น WindowsOS ครองส่วนแบ่งตลาดระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์มากที่สุดในตลาด ส่งผลให้การใช้งาน Internet Explorer เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่การฟ้องร้องและกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่มีอัยการกว่า 20 รัฐร่วมฟ้อง Microsoft ในฐานความผิดการผูกขาด Software แต่ Microsoft สามารถเอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิด 

ในขณะที่ Netscape ไม่สามารถลดราคาหรือแจกโปรแกรมฟรีแบบที่ Microsoft ทำได้ เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทมาจากการขายโปรแกรม Web Browser เท่านั้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Netscape ค่อยๆ ลดลงจนต้องสุดท้ายต้องออกจากตลาดไป ทำให้ Internet Explorer ก้าวขึ้นมาเป็น Web Browser อันดับ 1 แต่เพียงผู้เดียว

https://www.reddit.com/r/dataisbeautiful/comments/leqawi/oc_desktop_browser_market_share_from_2000_2021/

แม้ว่าในท้ายที่สุด Microsoft จะเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ แต่การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของ Microsoft อยู่ไม่น้อย ในแง่ที่ว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ชอบผูกขาดตลาด

The Browser War II

หลังจากคู่แข่งอย่าง Netscape จากไป Internet Explorer กลายเป็นเจ้าตลาดที่ผูกขาดในธุรกิจนี้ ส่งผลให้ Microsoft ชะล่าใจ ไม่พัฒนา Internet Explorer ต่ออย่างที่ควรเป็น เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องคู่แข่งในตลาด ทำให้ในช่วงปี 2001-2006 มีการอัปเดตเบราว์เซอร์แค่เวอร์ชันเดียวเท่านั้น

แน่นอนว่าความประมาทของ Microsoft กลายเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ จนนำไปสู่สาเหตุการเกิด “สงครามเว็บเบราว์เซอร์ ครั้งที่ 2”

ราวปี 2002 คู่แข่งรายใหม่ก็ปรากฏตัวขึ้นภายใต้ชื่อ Phoenix ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของ Mozilla Organization ที่เกิดจากการแตกตัวองค์กรของ Netscape ซึ่งต่อมา Phoenix ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Firebird เนื่องจากชื่อไปซ้ำกับบริษัทอื่น และสุดท้ายชื่อ Firebird ก็ถูกเปลี่ยนอีกครั้ง มาเป็น Firefox ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่ผ่านมา 

ซึ่ง Firefox ได้มุ่งเน้นพัฒนาประสิทธิภาพของโปรแกรมเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่เริ่มเบื่อหน่ายกับประสิทธิภาพการทำงานแบบเดิมๆ ของ Internet Explorer ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง Firefox กลายเป็น Web Browser ที่เร็วกว่าและมีลูกเล่นเยอะกว่า Internet Explorer ตัวอย่างเช่น การติดตั้ง Extension เสริม หรือ การตกแต่ง Theme เป็นของตัวเอง เป็นต้น ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Firefox เติบโตขึ้นมาเป็น 30.4% ในปี 2008 ในขณะที่ส่วนแบ่งของเจ้าตลาดอย่าง Internet Explorer ลดลงเหลือ 62.3% ทำให้หลายฝ่ายมองว่า Firefox อาจแซงขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แต่เหตุการณ์นั้นกลับไม่เกิดขึ้น เพราะสงครามในรอบนี้ มีอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นตัวแปรสำคัญได้ตบเท้าเข้ามาแข่งขันในตลาด Web Browser

บริษัทนั้นคือ “Google”

Google เข้าสู่สมรภูมิรบครั้งนี้ด้วยแนวคิดที่ว่าเบราว์เซอร์ไม่ได้เป็นเพียงโปรแกรมสำหรับดูหน้าเว็บเท่านั้น แต่เป็นจุดเชื่อมต่อของเครื่องมือและแอปพลิเคชันที่หลากหลายบนอินเตอร์เน็ตรวมไปถึงบริการต่างๆของ Google เองด้วย จึงได้พัฒนาและเปิดตัวเว็บเบราว์เซอร์ของตัวเองในชื่อว่า “Google Chrome” ขึ้นมาในช่วงปี 2008

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องของ Google ทำให้เทคโนโลยีเว็บพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนถึงจุดที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเสียเวลาติดตั้งโปรแกรมลงบนคอมพิวเตอร์ของตนเองเพื่อใช้งานอีกต่อไป เพียงแค่มี Browser ก็สามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายบนอินเตอร์เน็ตได้รวมไปถึงนักพัฒนาที่เริ่มหันมาสนใจเว็บแอปพลิเคชันกันมากขึ้น

แม้จะมีความท้าทายทางเทคนิคในการสร้างเทคโนโลยีเว็บใหม่ แต่ทีม Chrome ก็มีข้อได้เปรียบที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ พวกเขาเริ่มต้นจากศูนย์ทั้งหมด ในขณะที่วิศวกรที่ทำงานบน IE และ Firefox จะต้องทำงานโดยปรับปรุงจากเทคโนโลยีเก่าของตนเอง นอกจากแง่เทคโนโลยีแล้ว ในแง่การบริหารภายในก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่าง Google และคู่แข่ง โดย Google ได้ริเริ่มใช้ระบบบริหารการจัดการแบบใหม่ขึ้นมาในชื่อ ‘Objective and Key Results (OKRs)’

โดยเป้าหมายของ OKRs มีไว้เพื่อกระตุ้นให้รู้สึกอยากบรรลุความสำเร็จ มากกว่าการวัดผลของความสำเร็จ บ่อยครั้งเราจึงได้เห็นว่าการตั้งเป้าของ OKRs นั้นสูงมากจนแทบจะพูดได้ว่าเป็น mission to the moon และมีโอกาสไม่มากที่จะทำสำเร็จได้ 100% ซึ่งนั่นถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะหัวใจที่แท้จริงของ OKRs คือการสร้างการรับรู้ถึงภารกิจที่ชัดเจน เมื่อทุกคนได้รับรู้และได้รับผิดชอบในแต่ละส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะเป็นพลังที่ช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ

การตั้งเป้า OKRs ไว้ด้วยแนวความคิดง่ายๆ ทำให้พนักงานของ Google มีอิสระในการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ เช่น “เราอยากทำให้การโหลดเว็บเร็วเท่ากับการพลิกดูนิตยสาร” ก่อให้เกิด โปรเจค V8 Engine ซึ่งทำให้ Google Chorme ทำงานได้เร็วกว่า Firefox ถึง 10 เท่า

ในปีแรก Google ตั้งเป้าให้ Google Chrome มีผู้ใช้งานถึง 20 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากสำหรับ Browser ที่เพิ่งเปิดตัว และแน่นอนว่า Google Chrome ไปไม่ถึงฝั่งฝัน โดยมีตัวเลขผู้ใช้งานแค่ 10 ล้านคน และในปีต่อมา Google ไม่เพียงแต่ไม่ถอดใจกลับตั้งเป้าหมายที่ท้าทายกว่าเดิม โดยคาดหวังว่าจะมียอดผู้ใช้งานถึง 50 ล้านคน ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ต่างกับปีแรก Google Chrome ไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ และมียอดผู้ใช้งานเพียง 37 ล้านคน

แต่ความความพยายามที่ไม่ลดละ ทำให้ Google ประสบผลสำเร็จในปีที่ 3 ที่มีผู้ใช้งานแตะ 111 ล้านคน สูงกว่าเป้าที่วางไว้ที่ 100 ล้านคน 

ความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมในด้านเทคโนโลยีและการบริหารงานภายในที่ถูกต้อง ทำให้ผู้ใช้งาน Google Chrome เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และทำให้ Google Chrome ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 30.1% ในปี 2013 และไม่เคยเสียตำแหน่งแชมป์ให้กับใครอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

https://en.wikipedia.org/wiki/Usage_share_of_web_browsers#Older_reports_(2000%E2%80%932019)

ในปี 2021 จาก Statcounter Google Chrome ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดอยู่ที่ 65.9% จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ‘Google Chrome’ คือผู้คว้าชัยชนะ ของสงครามเว็บเบราว์เซอร์ ในตอนนี้ 

ในขณะที่ ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตอย่าง Internet Explorer ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปแล้ว ทำให้ Microsoft ยกเลิกโปรแกรมไปในเดือนมิถุนายน ปี 2022 และพัฒนาเบราว์เซอร์รุ่นใหม่ ชื่อว่า “Microsoft Edge” ขึ้นมาทดแทน

แต่ตราบเท่าที่เทคโนโลยีเว็บยังคงพัฒนาอยู่เสมอ สงครามเว็บเบราว์เซอร์จะยังคงดำเนินต่อไป Google Chrome ในฐานะผู้ชนะในปัจจุบัน ในอนาคตอาจถูกท้าทายด้วย Web Browser ใหม่ๆ ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “การเป็นผู้ชนะนั้นยากแล้ว แต่การรักษาตำแหน่งผู้ชนะอาจเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะเมื่อไรที่เราหยุดพัฒนา ก็อาจพลิกมาเป็นผู้แพ้ในสักวัน”

Ref