fbpx
Blogs 19 March 2024

Bluebik Success Formula: People-Driven, Diverse-Culture Tech Consulting

มองย้อนเส้นทางความสำเร็จของ “บลูบิค” สู่ที่ปรึกษาชั้นนำด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันครบวงจร จากจุดเริ่มต้นที่การลงทุนพัฒนาคน เปิดรับความแตกต่างและสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการรับฟังความคิดเห็นจนกลายมาเป็นส่วนผสมลงตัว แล้วส่งต่อบริการสู่ลูกค้าด้วยการรับฟังลูกค้าให้มากขึ้น เข้าใจปัญหาให้ตรงจุดเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อันเป็นหัวใจสำคัญของ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน”

บลูบิคเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุนจำนวนไม่มาก แต่สร้างขึ้นจากความ “ตั้งใจ” และ “ความฝัน” โดยผู้ที่เข้ามาร่วมก่อตั้งนั้นส่วนใหญ่ทำงานในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ซึ่งทุกคนยอมสละอาชีพที่มั่นคง มารวมตัวกัน โดยเชื่อว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทต่างชาติ ก็สามารถทัดเทียมบริษัทระดับโลกได้ ผู้ก่อตั้งทุกคนมีความเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจากอาชีพที่ทำก่อนหน้านี้ ถึงอย่างนั้นเรามองว่ายังสามารถสร้างความสำเร็จที่ดีขึ้นไปได้อีก ถ้าไม่มีกรอบข้อจำกัดเดิมที่มีอยู่

“คน” กลไกทรงพลังเบื้องหลังเทคโนโลยี

เป้าหมายตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบลูบิค ไม่ได้มองแค่เรื่องผลกำไร ไม่ได้หวังเข้ามาเป็นบริษัทที่ปรึกษาเพื่อนำผลกำไรตอบแทนกลับมายังผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างองค์กรที่คนคุณภาพสูงอยากเข้ามาทำงาน นี่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญตั้งแต่วันแรกถึงปัจจุบัน เพราะเราเชื่อว่า แม้ว่าเราจะทำเทคโนโลยีไปช่วยองค์กร แต่ทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัทคือ “คน” ถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทเทค แต่เรามีกลยุทธ์มุ่งไปที่เรื่องคน ให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก

สิ่งที่บลูบิคต่างจากบริษัท Tech Consulting รายอื่นๆ คือเรามองว่าเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยธุรกิจเติบโต สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การวางกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะกลยุทธ์เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่าเทคโนโลยีต้องไปสอดรับกับธุรกิจอย่างไร ถ้าเราเข้าใจว่าธุรกิจมีจุดอ่อนตรงไหน สามารถเอาเทคโนโลยีเข้าไปเสริมได้ ถ้าเราเข้าใจว่าจุดแข็งอยู่ตรงไหน เราสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวสนับสนุน

สุดท้ายแล้ว กลยุทธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับคน อยู่ที่ความสามารถของตัวคน ที่เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาและนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นคำจำกัดความของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสำหรับบลูบิค ไม่ใช่การนำเทคโนโลยีที่ดีสุดมาใช้ แต่เป็นการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ และกลยุทธ์ที่ใช่มารวมกัน เพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กรให้สามารถเติบโตได้

จากความหลากหลาย สู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่

ในการสร้างกลยุทธ์ที่ดี สิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนผสมสำคัญของบลูบิค ซึ่งสร้างความแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ คือเราเชื่อเรื่องความแตกต่างของบุคลากร โดยบลูบิคมีบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลายมาก ไม่ว่าจะด้านเทคนิค มีแชมป์หุ่นยนต์โลก โอลิมปิก คอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ไปจนถึงฝั่งกลยุทธ์ ก็มีคนที่เป็นที่ปรึกษาธุรกิจ ซีอีโอบริษัท หรือคนที่เคยทำธุรกิจส่วนตัวมาก่อนมารวมตัวกัน ทั้งยังมีความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ เพราะที่บลูบิคมีบุคลากรจากหลายสัญชาติ ซึ่งมีความแตกต่างทั้งเรื่องอายุ เพศ และแนวคิด ด้วยมุมมองที่หลากหลายนี้นำไปสู่การจุดประกายแนวคิดหรือกลยุทธ์ที่แตกต่างซึ่งจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา 

เพราะฉะนั้นถ้าเราเชื่อว่า “คน” เป็นสินทรัพย์สำคัญ โดยมีความแตกต่างหลากหลายเป็นส่วนผสมหลัก ดังนั้นสิ่งที่บลูบิคทำมาตลอดคือการลงทุนเรื่องคน เพราะเชื่อว่าการลงทุนในคนจะได้ผลตอบแทนมากสุด สูงกว่าการลงทุนอุปกรณ์ เพราะคนสามารถสร้างแนวคิดใหม่ๆ ให้กับองค์กร ส่วนวิธีการลงทุนเรื่องคนของบลูบิคนั้น ส่วนที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือเพิ่มขีดความสามารถของคนในองค์กร โดยเรามีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ไม่ใช่เพื่อลูกค้าอย่างเดียว แต่สิ่งแรกที่ทำคือนำงานวิจัยและพัฒนามาเทรนบุคลากรของเราให้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทดลองวิธีการใหม่ๆ และยังได้ลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแลป ขยายผลการใช้งานเทคโนโลยีและกลยุทธ์ 

ไม่เพียงเท่านั้น บลูบิคยังให้ความสำคัญกับการ Coaching และ Mentoring การแนะนำการสอนจากความรู้และประสบการณ์จริง โดยพนักงานใหม่ที่เข้ามาทำงานจะได้รับโอกาสจับคู่กับคนที่มีความแตกต่าง มีประสบการณ์หลากหลาย เพื่อให้นำเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานไปพูดคุยเพื่อรับคำแนะนำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือระดมสมองเรื่องงาน ทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของคนในบลูบิค นอกจากการจะได้พัฒนาตัวเองแล้ว ยังได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรในแต่ละเจนเนเรชัน ในแต่ละส่วนงาน เราจึงมองว่าการลงทุนแบบนี้ถือเป็นการลงทุนคุ้มค่า

นอกจากการพัฒนาคนแล้ว สำหรับธุรกิจของบลูบิคที่พึ่งพาคน สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือการเปิดให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของ เราตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเหตุผลอย่างหนึ่งเพื่อให้ทุกคนได้รับความเป็นเจ้าของธุรกิจ และเราเชื่อว่าหลังจากวันนั้นเป็นต้นมา เจ้าของไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ก่อตั้ง แต่พนักงานทุกคนได้เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยเรามีโปรแกรมที่ให้พนักงานสามารถมีส่วนร่วมลงทุนในบริษัทและเติบโตร่วมกับบริษัทไปด้วยกัน

วัฒนธรรมองค์กรแห่งการหลอมรวมความต่าง

นอกเหนือจากมีคนที่ดีและมีแนวทางการพัฒนาคนแล้ว ส่วนผสมสุดท้ายที่สำคัญคือวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นเทคคอมพานี หลายคนอาจเป็นคนเก่ง มีความรู้ มีความเข้าใจเทคโนโลยีแต่สิ่งสำคัญ คือการรับฟังและเคารพความคิดเห็นของคนที่แตกต่าง แม้บางครั้งความแตกต่างอาจสร้างความโกลาหล แต่ขณะเดียวกันก็สร้างพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ตลอดเวลา เช่น คนที่มีประสบการณ์เรื่องเทค พูดคุยกับคนที่มีความรู้ธุรกิจ ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ หรือเด็กยุคมิลลิเนียม นำเสนอความคิดความเห็นไปยังกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ รวมไปถึงบอร์ดบริหารที่รับฟังพนักงานใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความสวยงามของการหลอมรวมกันที่ทลายกำแพงเรื่องของ “เจนเนอเรชัน”

สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ออกมาสู่การให้ “บริการลูกค้า” ด้วยการรับฟังลูกค้าให้มากขึ้นกว่าที่เคย เพื่อสามารถเข้าใจถึงปัญหาให้ตรงจุด นำไปสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ประเทศไทย และนั่นคือหัวใจสำคัญของ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน”

ขอบคุณที่มาจาก: Keynote เวที The ICONIC ในหัวข้อ “Road to successor” เนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี ของ “ฐานเศรษฐกิจ” จากนสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 3 – 6 มี.ค. 2567