fbpx
Insights 23 May 2024

ถอดปัญหา..ทำไมองค์กรติดกับดักการสร้าง Data Governance

Data Governance หรือธรรมาภิบาลข้อมูล นับเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพด้วยการกำหนดทิศทาง ควบคุม ให้ข้อมูลมีคุณภาพที่ดี ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การวางนโยบายการดูแลข้อมูล กำหนดกลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบดูแลจัดการข้อมูล และวางแนวทางการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม การสร้างแนวทางด้าน Data Governance ให้มีประสิทธิภาพอาจเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีความท้าทาย โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นและในช่วงที่องค์กรขยายตัวจนต้องปรับแนวทางให้สอดคล้องกัน Bluebik จึงอยากชวนมาทำความเข้าใจความท้าทายที่เป็นกับดักการสร้าง Data Governance ไม่ว่าจะเป็น

1.) ขาดการกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจน

ความท้าทายอย่างแรกคือการขาดความชัดเจนเรื่องบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบและสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสม ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากครอบคลุมขั้นตอนหลายส่วนทั้งการสร้างและกำหนดบทบาทหน้าที่ด้านการบริหารข้อมูลของบุคลากร การบันทึกสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล และการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลภายในกรอบการบริหารข้อมูล

2.) ขาดคุณภาพและความสม่ำเสมอของข้อมูล

การขาดคุณภาพข้อมูลเป็นอีกหนึ่งความท้าทายเรื่อง Data Governance ซึ่งต้องมีการวางกระบวนการและกลไกในการระบุ ติดตาม และแก้ไขปัญหาคุณภาพข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วน สอดคล้องเชื่อมโยงกันและอัพเดทอยู่สม่ำเสมอ

3.) ขาดการสร้างนโยบายและแนวทางปฏิบัติ

การขาดนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้าน Data Governance เป็นอีกความท้าทายสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการบริหารจัดการและนำข้อมูลไปใช้ โดยนโยบายและแนวทางปฏิบัติควรครอบคลุมการจัดจำแนกข้อมูล (Data Classification) การวางนโยบายด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงการสร้างแนวทางสำหรับการใช้งานและการเข้าถึงข้อมูล

4.) ขาดการรักษาสมดุลระหว่างการเข้าถึงข้อมูลและความปลอดภัย

ความท้าทายถัดมาคือการขาดสมดุลระหว่างการอนุญาตให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ กับการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุมสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล การเข้ารหัส และกลไกการตรวจสอบ เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตและเหตุการณ์รั่วไหลของข้อมูล

5.) ขาดการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (Change Management)

ในช่วงเริ่มต้นวางนโยบายและสร้างกระบวนการด้าน Data Governance ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หากไม่มีการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (Change Management) การผลักดันให้ Data Governance สำเร็จอาจเป็นเรื่องยากและขาดความร่วมมือจากพนักงานทุกระดับ 

6.) ขาดความสามารถในการปรับและรองรับการเติบโต (Scalability)

เมื่อองค์กรเติบโตขึ้น หากกรอบด้าน Data Governance ไม่สามารถรองรับการขยายตัวขององค์กรได้ องค์กรเสี่ยงเผชิญความยุ่งยากในการดำเนินนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและขนาดองค์กรที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นกรอบ Data Governance จึงควรรองรับทั้งแหล่งข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  

7.) ขาดการติดตามและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

Data Governance เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องมีการติดตาม ประเมิน และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง การสร้างกลไกเพื่อติดตามความคืบหน้า วัดผลสำเร็จ และระบุจุดที่ต้องปรับปรุง 

8.) ขาดความร่วมมือจากหลายแผนกในองค์กร

ในการผลักดันการสร้าง Data Governance ความท้าทายใหญ่คือต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายแผนกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงฝ่ายไอที ฝ่ายธุรกิจ และทีมข้อมูล หากทุกฝ่ายไม่ได้เข้าใจและมองเห็นภาพเดียวกัน จะเป็นเรื่องยากในการร่วมมือทำงานและทำงานอย่างสอดคล้องกัน

9.) ขาดการฝึกอบรม

หากไม่มีการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติ พนักงานอาจเกิดความไม่เข้าใจและไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับ Data Governance ได้ องค์กรจึงควรจัดให้มีการฝึกอบรมและการจัดเวิร์คช็อปเพื่อให้ความรู้กับพนักงานและลองลงมือปฏิบัติจริง 

10.) งบประมาณและทรัพยากร

กระบวนการด้าน Data Governance อาจต้องใช้เงินทุน เวลา และทรัพยากรเป็นจำนวนมาก จึงต้องสร้างความมั่นใจว่าองค์กรมีเงินทุนที่จำเป็นและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้สามารถผลักดันการสร้าง Data Governance อย่างต่อเนื่องในระยะยาว 

เอาชนะความท้าทายในการสร้าง Data Governance

ตามที่เกริ่นไปด้านบน การสร้าง Data Governance มักจะเผชิญท้าทายในช่วงเริ่มต้นและในช่วงที่องค์กรขยายตัวจนต้องมีการปรับแนวทางให้สอดคล้องกัน ดังนั้นการเอาชนะความท้าทายเหล่านี้จึงต้องมีแนวทางที่เหมาะสม 

การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (Change Management)

ความท้าทายในช่วงเริ่มต้นสร้าง Data Governance มาจากการต้องบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (Change Management) ซึ่งเป็นการจัดการองค์กรที่คอยดูแลกระบวนการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่กลยุทธ์การบริหารองค์กร การวางแผน ระบบงาน จนถึงการสื่อสารระหว่างคนในองค์กรนั้นว่ามีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจ โดยแนวทางเบื้องต้นในการจัดการความท้าทายเรื่อง Change Management ได้แก่ 

  • การสื่อสารเพื่อลดความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลง

โดยทั่วไปแล้ว คนมักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงาน ซึ่งพนักงานอาจกังวลว่า แนวทางด้าน Data Governance จะกระทบต่อบทบาท ความรับผิดชอบ หรือภาระงานของตนเอง

ดังนั้นการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดความวิตกกังวล จึงมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงในช่วงเริ่มต้นการสร้าง Data Governance โดยต้องสร้างความมั่นใจว่าคนในองค์กรเข้าใจเป้าหมายและประโยชน์ที่เกิดขึ้น รวมถึงยังต้องสร้างช่องทางการสื่อสารที่ชัดเจนและเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย   

  • การฝึกอบรมและวัดผลอย่างต่อเนื่อง 

เมื่อสื่อสารเป้าหมายและประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงแล้ว องค์กรควรมีการจัดฝึกอบรมเพื่อให้ทุกคนเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนตามการทำงานจริง รวมถึงมีการประเมินและวัดผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้การสร้าง Data Governance ประสบความสำเร็จในระยะยาว 

ความสามารถรองรับการเติบโตขององค์กร (Scalability) 

เมื่อองค์กรขยายตัว แนวทางด้าน Data Governance จึงควรสามารถปรับเปลี่ยนและรองรับการเติบโตที่เกิดขึ้นได้ (Scalability) ทั้งจากแหล่งที่มาของข้อมูลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีการนำมาใช้มากยิ่งขึ้น ทำให้ต้องคำนึงถึงความท้าทายเกี่ยวข้องกับ Scalability ที่เพิ่มขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็น

  • เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อองค์กรนำเทคโนโลยีหรือแหล่งข้อมูลใหม่ๆ มาใช้ กรอบแนวทางด้าน Data Governance ควรสามารถรองรับและปรับตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงนโยบาย ขั้นตอนการปฏิบัติ และเครื่องมือต่างๆ 

  • ปริมาณและความซับซ้อนของข้อมูลที่เพิ่มขึ้น

เมื่อองค์กรเติบโตขึ้น ปริมาณและความซับซ้อนของข้อมูลย่อมเพิ่มขึ้นตามมา กรอบแนวทางด้าน Data Governance จะต้องสามารถรองรับการเติบโตนี้ได้ โดยไม่กระทบต่อคุณภาพข้อมูล ความปลอดภัย หรือการปฏิบัติตามข้อกำหนด

  • จำนวนผู้ใช้ข้อมูลและกรณีการใช้งานที่เพิ่มขึ้น

เมื่อจำนวนผู้ใช้ข้อมูลในองค์กรของเพิ่มขึ้น ต้องมั่นใจว่ากรอบด้าน Data Governance สามารถรองรับผู้ใช้ บทบาท และสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงกรณีการใช้งานข้อมูลใหม่ๆ (Use cases) ที่อาจต้องมีการคำนึงถึงโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนมากขึ้น ระเบียบปฏิบัติใหม่ๆ หรือประเด็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

แน่นอนว่า การผลักดันให้ Data Governance เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จในระยะยาวย่อมเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่หากมีเป้าหมายและแนวทางที่เหมาะสม การสร้างองค์กรที่เป็น Data-driven ย่อมเกิดขึ้นได้จริง สำหรับธุรกิจที่ต้องการวางกลยุทธ์ด้าน Data & AI เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างการเติบโตให้องค์กร Bluebik มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data & Advanced Analytics ที่สามารถให้บริการโซลูชันครบวงจรและการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงตั้งแต่ระดับกลยุทธ์ไปจนถึงการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กร

ติดต่อเราสอบถามหรือปรึกษาเราได้ที่ 

[email protected] 

☎ 02-636-7011

ขอบคุณข้อมูลจาก atlan