fbpx
Insights 30 May 2024

จัดการข้อมูลไม่ดีผลลัพธ์ไม่เกิด แนวทางแก้ปัญหา Data Management

ในโลกธุรกิจทุกวันนี้ต่างเต็มไปด้วยปริมาณข้อมูลมากมายมหาศาล การบริหารจัดการข้อมูลซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่จะสร้างมูลค่าให้ธุรกิจและขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม การจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนับเป็นเรื่องที่มีความท้าทายไม่น้อย และมีหลายประเด็นที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ 

Bluebik จึงได้รวบรวมความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูล หรือ Data Management ที่มักเกิดขึ้นกับธุรกิจ พร้อมแนวทางเบื้องต้นในแก้ไขความท้าทายในการจัดการข้อมูล 

4 ความท้าทายเรื่อง Data Management 

1. คุณภาพข้อมูล (Data Quality) 

ความท้าทายที่เกิดขึ้น 

ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือไม่เชื่อมโยงสอดคล้องกัน จนส่งผลให้ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกได้ (insight) ซึ่งจะกระทบต่อการนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ การใช้เทรนโมเดล AI สำหรับการวิเคราะห์ขั้นสูง หรือใช้ในกระบวนการอื่นๆ 

แนวทางแก้ปัญหา

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพข้อมูล สามารถดำเนินการได้ใน 3 ส่วนหลักๆ 

  • วางนโยบายและแนวทางด้านธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) ที่จะวางกรอบนโยบายเพื่อสร้างมาตรฐานด้านข้อมูล ระบุแนวทางและกระบวนการในการจัดข้อมูล รวมกำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน 
  • ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Data validation) และทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleaning) เพื่อตรวจสอบ แก้ไข หรือจัดรูปแบบข้อมูลให้มีความถูกต้องพร้อมใช้งานที่สุด วางมาตรฐานข้อมูลให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน รวมไปถึงคัดกรองข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่จำเป็นออกไปจากชุดข้อมูลที่จะใช้วิเคราะห์หรือประมวลผล เพื่อให้ชุดข้อมูลที่จะใช้มีความสมบูรณ์ มีคุณภาพ พร้อมนำไปวิเคราะห์และใช้งาน
  • รวมศูนย์ข้อมูลในองค์กรไว้ที่เดียวกัน เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสะดวก นำข้อมูลไปใช้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้บริหารและผู้ตัดสินใจมองเห็นภาพรวมและมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจ ทำความเข้าใจเทรนด์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

2. ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Security and Privacy) 

ความท้าทายที่เกิดขึ้น 

การขาดแนวทางในการปกป้องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล จะสร้างความเสี่ยงและช่องโหว่ที่นำไปสู่เหตุการละเมิดข้อมูล เหตุข้อมูลสำคัญรั่วไหล การเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต การนำข้อมูลไปใช้อย่างไม่เหมาะสม หรือการโจมตีทางไซเบอร์จากภายนอก รวมถึงการไม่มีแนวทางดูแลข้อมูลให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย เช่น PDPA ทำให้อาจก่อความเสียหายทางการเงินและส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กรธุรกิจในระยะยาว

แนวทางแก้ปัญหา

นอกเหนือจากการวางนโยบายด้าน Data Governance ที่จะช่วยควบคุมและกำกับดูแลการบริหารจัดการข้อมูลแล้ว ธุรกิจสามารถเพิ่มแนวทางและตัวควบคุมเพื่อเพิ่มความครอบคลุมและเสริมความปลอดภัยในการจัดการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น 

  • ใช้การเข้ารหัสข้อมูลที่รัดกุมยิ่งขึ้น (Data Encryption) ที่ผู้ใช้จะเข้าถึงข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อใช้รหัสการเข้าถึงที่ถูกต้องเท่านั้น โดยที่ผู้ใช้คนอื่นไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ ได้แม้จะได้ไฟล์ข้อมูลไปแล้วก็ตาม 
  • ใช้การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (Multi-Factor Authеntication) เพื่อช่วยควบคุมและเสริมความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล 
  • อัปเดทระบบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงและช่องโหว่ความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้น  

3. การรวมศูนย์ข้อมูล (Data Integration) 

ความท้าทายที่เกิดขึ้น 

เมื่อข้อมูลมาจากหลายแหล่งที่มา มาจากหลายระบบ หรือมีหลายรูปแบบ หากองค์กรเก็บข้อมูลไว้แบบกระจัดกระจายและไม่ได้มีมาตรการเรื่องการจัดเก็บข้อมูล จะทำให้องค์กรไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หรือนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างรวดเร็วทันเวลา ขณะเดียวกัน การเก็บข้อมูลแบบกระจัดกระจายยังส่งผลต่อเรื่องคุณภาพของข้อมูล เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กรมีความถูกต้องมากแค่ไหน

แนวทางแก้ปัญหา

สำหรับแนวทางการจัดการปัญหาข้อมูลไม่รวมศูนย์ สามารถจัดการได้ด้วยการวางโครงสร้างสถาปัตยกรรมข้อมูล (Data Architecture) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่รวมศูนย์ข้อมูลไว้ในที่เดียวกัน (Consolidated Data Platform) ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการจัดการข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกันง่ายต่อการค้นหา เข้าถึง และนำไปใช้งานจริง ทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจด้วยข้อมูล (Data-driven Decision) ทำให้ผู้บริหารและผู้ตัดสินใจมองเห็นภาพรวมและมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจ ทำความเข้าใจเทรนด์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

4. การรองรับการเติบโตของธุรกิจ (Scalability)   

ความท้าทายที่เกิดขึ้น 

เมื่อธุรกิจขยายตัวขึ้น ทำให้ปริมาณข้อมูลภายในและภายนอกองค์กรมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามมา จนทำให้หลายองค์กรอาจเผชิญความท้าทายในการบริหารจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับขนาดธุรกิจที่เติบโตขึ้น ทั้งในแง่ข้อมูลที่มีปริมาณและความซับซ้อนยิ่งขึ้น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น  

แนวทางแก้ปัญหา

เพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลสามารถปรับเปลี่ยนและรองรับการเติบโตของธุรกิจ (Scalability) องค์กรสามารถพิจารณาย้ายระบบการจัดเก็บข้อมูลไปไว้บนคลาวด์ (Cloud-based platform) เพิ่มเติม จากที่เดิมอาจเก็บข้อมูลไว้บนเซิร์ฟเวอร์องค์กรเพียงอย่างเดียว (On-premise) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับแนวทางต่างๆ ตามการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น

  • เทคโนโลยีใหม่ๆ 
    เมื่อองค์กรนำเทคโนโลยีหรือแหล่งข้อมูลใหม่ๆ มาใช้ แนวทางจัดการข้อมูลควรสามารถรองรับและปรับตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงนโยบาย ขั้นตอนการปฏิบัติ และเครื่องมือต่างๆ 
  • จำนวนผู้ใช้ข้อมูลและกรณีการใช้งานที่เพิ่มขึ้น
    เมื่อจำนวนผู้ใช้ข้อมูลในองค์กรของเพิ่มขึ้น ต้องมั่นใจว่าแนวทางจัดการข้อมูลสามารถรองรับผู้ใช้ บทบาท และสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงกรณีการใช้งานข้อมูลใหม่ๆ (Use cases) ที่อาจต้องมีการคำนึงถึงโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนมากขึ้น ระเบียบปฏิบัติใหม่ๆ หรือประเด็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

แม้ว่า Data Management เป็นกระบวนการสำคัญเพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าต่อองค์กรได้จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การผลักดันให้ Data Management มีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าต่อองค์กรได้จริง ต้องเริ่มตั้งแต่การวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับองค์กร สำหรับธุรกิจที่ต้องการวางกลยุทธ์ด้าน Data & AI เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างการเติบโตให้องค์กร Bluebik มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data & Advanced Analytics ที่สามารถให้บริการโซลูชันครบวงจรและการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงตั้งแต่ระดับกลยุทธ์ไปจนถึงการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กร

ติดต่อเราสอบถามหรือปรึกษาเราได้ที่ 

[email protected] 

☎ 02-636-7011

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก rivery.io, sagacitysolutions, imperva