ปัจจุบัน Machine Learning (ML) เป็นอีกเทคโนโลยีที่หลายองค์กรนำมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นใช้เพิ่มความแม่นยำในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล และประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจให้ฉลาดยิ่งขึ้น
บทความนี้จึงอยากพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับขีดความสามารถของ Machine Learning มากขึ้นในรูปแบบ Machine Learning 101 ครอบคลุมตั้งแต่นิยามของ Machine Learning รูปแบบ ความสำคัญ ตัวอย่างการใช้งาน และแนวทางว่าหากองค์กรอยากเริ่มใช้งาน Machine Learning ควรเริ่มอย่างไร
Machine Learning (ML) คืออะไร
หากกล่าวแบบรวดรัด Machine Learning คือการทำให้คอมพิวเตอร์ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ และพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลและสภาพแวดล้อมที่ได้รับจากการเรียนรู้ของระบบ โดยไม่ต้องมีมนุษย์คอยกำกับหรือเขียนโปรแกรมเพิ่มเติม โดย ML นับเป็นรูปแบบหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนสมองของ AI โดยเป็นระบบที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากข้อมูลต่างๆ
ความแตกต่างระหว่าง AI, Machine Learning และ Deep Learning
AI | Machine Learning | Deep Learning | |
ปริมาณข้อมูลที่เหมาะสม | ชุดข้อมูลจำนวนมากที่มีความแตกต่างกัน | จุดข้อมูล (Data Points) ที่มาจากหลากหลายแหล่งช่องทาง | Big Data |
ผลลัพธ์ | คาดการณ์ต่างๆ ที่ช่วยแนะนำการตัดสินใจ | ผลลัพธ์ในเชิงตัวเลข เช่น การจัดหมวดหมู่หรือการให้คะแนน | มีหลากหลายรูปแบบทั้งผลลัพธ์ในเชิงตัวเลข หรือรูปแบบที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ข้อความหรือเสียง |
รูปแบบการทำงาน | ถูกป้อนคำสั่งให้เลียนแบบกิจกรรมของมนุษย์ และสร้างผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกับคน | ใช้อัลกอริทึ่มที่ทำงานแบบอัตโนมัติหลากหลายรูปแบบ เพื่อเรียนรู้และคาดการณ์สิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจากข้อมูล | ใช้ Neural Network หรือโครงข่ายประสาทเทียม ในการประมวลผลและคำนวณข้อมูลต่างๆ เพื่อตีความและระบุความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล |
รูปแบบของ Machine Learning
- Supervised Learning (การเรียนรู้แบบมีผู้สอน)
Supervised Learning เป็นการทำให้ ML เรียนรู้ด้วยการใช้การระบุประเภทข้อมูลเพื่อเทรนอัลกอริทึ่มให้สามารถจะจัดประเภทของข้อมูลได้หรือให้คาดการณ์ผลลัพธ์ โดยข้อมูลที่ถูกป้อนใน Supervised Learning จะต้องประกอบด้วย input (ชุดข้อมูล) และ output (คำตอบของข้อมูล)
การเรียนรู้แบบ Supervised Learning แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. Regression เป็นการคาดการณ์แนวโน้มข้อมูลในอนาคตจาก 2 ตัวแปร
2. Classification เป็นการประมวลเพื่อจัดหมวดหมู่ของข้อมูล
- Unsupervised Learning (การเรียนรู้แบบไม่มีผู้สอน)
Unsupervised Learning เป็นการใช้อัลกอริทึม Machine learning เพื่อวิเคราะห์ และจัดกลุ่มชุดข้อมูลที่ยังไม่ได้มีการระบุประเภท อัลกอริทึ่มเหล่านี้สามารถทำการค้นพบแพทเทิร์นที่ซ่อนอยู่ หรือการจัดกลุ่มของข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องมีคนเข้ามาแทรกแซงในการทำงาน ความสามารถของการเรียนรู้รูปแบบนี้ที่สามารถค้นพบความเหมือน และความแตกต่างของข้อมูล
Unsupervised Learning แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
1. Clustering เป็นการจัดกลุ่มข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน)
2. Dimensionality Reduction คือการลดมิติข้อมูลหรือความซับซ้อนของข้อมูล เพื่อการวิเคราะห์ที่ง่ายยิ่งขึ้น)
- Reinforcement Learning (การเรียนรู้แบบเสริมแรง)
Reinforcement Learning คือการเรียนรู้จากบริบทแวดล้อม ภายใต้การเลือกกระทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่มากที่สุด ผ่านการลองผิดลองถูกภายใต้สถานการณ์หรือระบบจำลอง ที่พัฒนาระบบการตัดสินใจให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการที่เรากำหนดเงื่อนไขบางอย่างให้กับคอมพิวเตอร์ แล้วทำให้คอมพิวเตอร์บรรลุหรือทำตามเงื่อนไขนั้นให้ได้ แล้วมีมนุษย์คอยสอนหรือ Feedback กับว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี
- Semi-Supervised Learning (การเรียนรู้แบบกึ่งมีผู้สอน)
Semi-Supervised Learning เป็นการผสมผสานจุดแข็งระหว่าง Supervised และ Unsupervised Learning โดยใช้ข้อมูลที่มีการระบุประเภทและไม่ได้ระบุประเภท เพื่อพัฒนาความแม่นยำของผลลัพธ์และลดต้นทุนในการระบุประเภทของข้อมูลจำนวนมาก
ทำไม Machine Learning ถึงสำคัญต่อธุรกิจ
- เพิ่มความสามารถในการตัดสินใจ
ML สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยระบุรูปแบบข้อมูลที่ไม่ได้ปรากกมาก่อนได้แบบเรียลไทม์ ทำให้องค์กรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและเหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
- ลดการทำงานซ้ำซ้อน จัดการงานรูทีนให้เป็นไปแบบอัตโนมัติ
อัลกอริทึ่ม ML สามารถคัดกรอง เลือกประเภท และจัดกลุ่มข้อมูลได้เองโดยไม่ต้องให้มนุษย์ช่วยเหลือ ทำให้สามารถสรุปรายงาน สแกนเอกสาร ถอดเสียงคำพูดออกมาเป็นข้อความ และจัดหมวดหมู่เนื้อหาข้อมูลต่างๆ จึงสามารถนำมาช่วยทำงานที่มีความซ้ำซ้อนหรือต้องทำเป็นประจำได้แบบอัตโนมัติ
- ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าแบบ Personalization
ML สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) ตัวอย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีกที่สามารถแนะนำสินค้าที่ลูกค้าต้องการแบบเรียลไทม์ โดยนำ ML ไปช่วยวิเคราะห์ประวัติการสั่งซื้อในช่วงที่มา หรือจากสิ่งที่ลูกค้าค้นหา
- เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับการฉ้อโกงและความปลอดภัย
อัลกอริทึ่ม ML สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้แบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจจับความผิดปกติ ความเสี่ยงหรือช่องโหว่ด้านความปลอดภัย และพฤติกรรมการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งช่วยให้องค์กรลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือเหตุการณ์รั่วไหลของข้อมูล และเพิ่มการป้องกันข้อมูลสำคัญๆ ได้ดียิ่งขึ้น
- บริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ML สามารถช่วยคาดการณ์แนวโน้มและพฤติกรรมต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งนำไปปรับใช้กับการบริหารจัดการทรัพยากรต่างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น คาดการณ์ความต้องการสินค้าต่างๆ และปรับระดับสินค้าคงคลังให้เหมาะสมเพื่อลดต้นทุน รวมไปถึงใช้ในการจัดสรรทรัพยากรภายในองค์กร (Resource Allocation)
ตัวอย่างการใช้งาน Machine Learning ในธุรกิจ
- ธุรกิจบริการสุขภาพ
ML ช่วยวิเคราะห์แนวทางการรักษาจากประวัติการรักษาผู้ป่วย รวมถึงใช้ช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นภาพ X-rays, MRI และ CT สแกน เพื่อระบุความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะแรกได้ เช่น ก้อนเนื้องอก ทำให้กระบวนการรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
- ธุรกิจการเงิน
ML ใช้ในการตรวจจับการฉ้อโกง (Fraud detection) จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและรูปแบบธุรกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงใช้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม
- ธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่ง
ML สามารถช่วยแนะนำเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดที่ใช้ระยะเวลาและเชื้อเพลิงน้อยที่สุด รวมถึงบริหารจัดการระบบจัดการยานพาหนะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ธุรกิจค้าปลีก
ML นำไปช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้า เพื่อนำไปปรับระบบการแนะนำสินค้าให้ตรงความต้องการ หรือเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าทั้งแบบ Upselling และ Cross-selling
- ธุรกิจการผลิต
ML นำมาปรับใช้กับการทำ Predictive maintenance เพื่อช่วยวางแผนเตรียมการซ่อมบำรุงเครื่องจักรล่วงหน้า รวมถึงใช้บริหารจัดการซัพพลายเชนในส่วนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ธุรกิจสื่อ
ML สามารถใช้ช่วยแนะนำคอนเทนต์ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มจากการวิเคราะห์ประวัติการดูที่ผ่านมา รวมถึงวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึก (Sentiment Analysis) เพื่อเข้าใจปฏิกิริยาของผู้ชมเพื่อต่อยอดสู่การทำการตลาดอื่นๆ
- ธุรกิจพลังงาน
ML ใช้ช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงกรณีเครื่องจักรเกิดการขัดข้อง เพื่อวางแนวทางการซ่อมบำรุง รวมถึงใช้วิเคราะห์การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แนวทางปรับใช้ ML สำหรับองค์กร
การสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจจาก ML ไม่ใช่แค่การทำเทคโนโลยีมาใช้งาน แต่ต้องมาจากการวางกลยุทธ์และการจัดลำดับความสำคัญว่าจะนำ ML ไปใช้สร้างคุณค่าให้องค์กรที่จุดไหน และต้องมีความพร้อมเรื่องข้อมูลสำหรับพัฒนาโมเดล ML ให้สร้างผลลัพธ์ได้ตามความต้องการ ดังนั้น ก่อนเริ่มนำ ML มาใช้จริง จึงควรมีการวางแนวทางปรับใช้ ML สำหรับองค์กร ครอบคลุมตั้งแต่
- ระบุปัญหาและเป้าหมายของธุรกิจ
- ประเมินความพร้อมด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร
- เลือกแนวทางและเทคนิคการพัฒนา ML ที่เหมาะสม
- พัฒนาและทดสอบโมเดล ML อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น
ในอนาคต ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ML จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของธุรกิจที่แตกต่างไปจากเดิม ต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่จนพัฒนากลายเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้ธุรกิจยิ่งขึ้น บลูบิคมองว่าองค์กรที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว ย่อมสามารถสร้างความได้เปรียบและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต และด้วยความซับซ้อนของเทคโนโลยี ML หากองค์กรต้องการพัฒนาและต่อยอด การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สามารถทรานส์ฟอร์มองค์กรได้อย่างต่อเนื่องและสร้างการเติบโตในระยะยาว สำหรับธุรกิจที่ต้องการวางกลยุทธ์ด้าน ML เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างการเติบโตให้องค์กร Bluebik มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data & Advanced Analytics ที่สามารถให้บริการโซลูชันครบวงจรและการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงตั้งแต่ระดับกลยุทธ์ไปจนถึงการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กร ติดต่อเราสอบถามหรือปรึกษาเราได้ที่
☎ 02-636-7011
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก IBM, TechTarget, Acropolium