Leadership

ไม่เปิด Ref ทำงานให้สนุก และมีสติในทุกวัน คำแนะนำจาก “พี่เอิร์ธ CXO” นักออกแบบผู้เชื่อว่า ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้

จากเด็กที่สนุกกับการเขียนโปรแกรมกับเพื่อน (แน่นอนว่าเพื่อนคนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก พี่โบ๊ท—พชร อารยะการกุล CEO ของเรานั่นเอง) พี่เอิร์ธตัดสินใจเบนเข็มมาเอาดีด้านดีไซน์ และเติบโตในสายงานนี้มาเรื่อยๆ จนเป็นทั้งนักออกแบบเจ้าของรางวัล Best of the Best - Red Dot Design Awards ประจำปี 2012 และ 2020 ทั้งประธานบริษัท Etran รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทยแท้ และล่าสุดกับการขึ้นรับตำแหน่ง Chief Experience Officer (CXO) หัวเรือใหญ่แห่งทีม Design & Experience ของ Bluebik 

25 มีนาคม 2568

By Bluebik

4 Mins Read

“หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต”  

นี่คือคำวินิจฉัยที่ ด.ช.เอิร์ธ—สรณัญช์ ชูฉัตร ในวัย 13 ปีได้รับจากแพทย์ หลังต้องแอดมิตเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปวดหัวไมเกรนอย่างหนัก 

คำวินิจฉัยนี้ไม่เพียงทำให้สุขภาพของเด็กชายคนหนึ่งดีขึ้น แต่ถึงกับเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของเขาไปตลอดกาล 

จากเด็กที่สนุกกับการเขียนโปรแกรมกับเพื่อน (แน่นอนว่าเพื่อนคนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก พี่โบ๊ทพชร อารยะการกุล CEO ของเรานั่นเอง) พี่เอิร์ธตัดสินใจเบนเข็มมาเอาดีด้านดีไซน์ และเติบโตในสายงานนี้มาเรื่อยๆ จนเป็นทั้งนักออกแบบเจ้าของรางวัล Best of the Best – Red Dot Design Awards ประจำปี 2012 และ 2020 ทั้งประธานบริษัท Etran รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทยแท้ และล่าสุดกับการขึ้นรับตำแหน่ง Chief Experience Officer (CXO) หัวเรือใหญ่แห่งทีม Design & Experience ของ Bluebik  

พี่เอิร์ธบอกว่า เขาเชื่อในการแก้โจทย์งานดีไซน์แบบไร้ Reference เน้นการทำงานแบบไม่ลำไย ดีไซน์กันสดๆ แก้งานกันในห้องประชุมให้ลูกค้าเห็นจะๆ และที่สำคัญคือต้องสร้างบรรยากาศม่วนๆ จอยๆ เพื่อให้ทีมสามารถส่งมอบงานที่สุดยอดที่สุดได้ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากแค่ไหนก็ตาม 

เอาล่ะ หาที่นั่งสบายๆ เปิดเพลงจังหวะสนุกคลอ แล้วมาเรียนรู้เทคนิคการทำงานให้ไม่เครียด แต่สร้างสรรค์งานโคตรเจ๋งได้แบบพี่เอิร์ธกัน  

อ่านจบแล้ว ถ้าใครยังทำงานแบบเดิมๆ อยู่ในกรอบแคบๆ ต้องระวังเป็นอันตรายถึงชีวิต! 

ตอนอายุ 13 ปีทำไมพี่เอิร์ธปวดหัวไมเกรนหนักถึงขั้นที่หมอต้องสั่งจ่ายมอร์ฟีน  

เมื่อก่อนเราเป็นเด็กคอมพิวเตอร์ แข่งเขียนโปรแกรมมาตั้งแต่เด็ก มีอยู่วันหนึ่งเรานั่งเขียนโปรแกรมกับโบ๊ท (พชร อารยะการกุล) ที่โรงเรียนแล้วมันปวดหัว ตอนแรกก็ไม่คิดอะไร กลับบ้านไปยังดู Star Wars กับแม่ต่อแล้วก็เข้านอน แต่มาตื่นอีกทีตอนตี 1 เพราะปวดหัวมากจนอาเจียน คุณแม่กังวลว่าจะเป็นอะไรเลยพาไปโรงพยาบาล ปรากฏหมอตรวจแล้วบอกว่าต้องแอดมิตเพราะเป็นไมเกรน ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักว่าไม่เกรนคืออะไรด้วยซ้ำ ก็นอนโรงพยาบาลไป 4 คืน หมอให้มอร์ฟีนเลยเช้า-เย็น มันหายปวดจริงแต่พอมอร์ฟีนเริ่มหมดฤทธิ์ก็จะปวดอีก ที่เป็นหนักน่าจะเพราะว่าตอนเด็กกว่านั้นเราเคยเป็นไข้ขึ้นสูงจนต้องบล็อกไขสันหลังมาก่อน ระบบสมองระบบประสาทมันผ่านการกระทบกระเทือนมา ตอนออกจากโรงพยาบาลหมอเขียนไว้บนใบรับรองแพทย์เลยว่า แนะนำให้หลีกเลี่ยงความเครียด  เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต 

เมื่อก่อนตอนเรียนวิชาแนะแนว เราจะเขียนในสมุดแนะแนวว่าอยากเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เหมือนโบ๊ทนั่นแหละ แต่พอออกจากโรงพยาบาลก็มาคิดว่า ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวเครียด ก็เลยตั้งคำถามว่าจะเรียนอะไรแทนดี แต่ยังคิดไม่ออก แล้วพอดีมีวันหนึ่งไปกินข้าวเย็นที่ร้านข้าวต้มตีนสะพานที่ตลาดปากน้ำ ไปเจอคุณลุงคนหนึ่งแกมากับเมีย นั่งกินข้าวไปก็แซวกันไป เล่นมุกหัวเราะกันสนุกเลย ลุงเอาผักชีมาแปะฟันแล้วยิ้มทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เราเห็นแล้วรู้สึกว่าตลกดี เลยถามพ่อว่าลุงคนนี้เขาเรียนอะไร เขาดูตลก ไม่เครียดดี พ่อบอกว่าลุงเขาเรียนสถาปัตย์ สถาปัตย์รุ่นเขาคือพวกคุณปัญญา นิรันดร์กุล พวก Workpoint พวกนี้ เราเลยเข้าใจว่า อ๋อ ถ้าอยากเรียนอะไรที่ไม่เครียด ต้องไปเรียนสถาปัตย์ เราก็เลยไปขอสมุดแนะแนวมาแก้ว่าจะเรียนสถาปัตยกรรม แล้วก็บอกโบ๊ทว่าไม่แข่งโปรแกรมด้วยแล้วนะ ไม่โค้ดแล้ว แต่เดี๋ยวออกแบบให้ 

เท่ากับว่างานดีไซน์ชิ้นแรกสุดของพี่เอิร์ธคือก็ทำกับพี่โบ๊ทนั่นแหละ 

ใช่ โบ๊ทลงแข่งโปรแกรมในหมวดเกม โบ๊ทเขียนเกม เราก็ออกแบบ UX/UI ให้ ทำปุ่ม ทำหน้าจอ อะไรพวกนี้ 

แล้วงานดีไซน์ชิ้นล่าสุดของพี่เอิร์ธคืออะไร 

ล่าสุดเพิ่งดูงาน UX/UI ให้แอปพลิเคชันด้านการเงินใน Southeast Asia เป็นช่วงกำลังนำเสนองานกับลูกค้าเลย 

จากงานดีไซน์ชิ้นแรกจนถึงชิ้นล่าสุด พี่เอิร์ธเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง 

จากตอนนั้นอายุ 13 จนตอนนี้อายุ 38 ผ่านมา 25 ปีแล้ว เรา obsess กับเรื่องการออกแบบ แต่เราไม่ได้หยุดอยู่แค่การออกแบบ เรามองว่าทุกอย่างมันออกแบบได้หมดเลย อาจเป็นเพราะเราเรียนภาค ID (Industrial Design – การออกแบบอุตสาหกรรม) มาด้วย มันเป็นเป็ด ทำได้ทุกอย่าง สมมติให้เราออกแบบ Business Model เราก็ทำได้ แม้เราจะไม่ได้เรียนด้าน Business มา แต่ด้วยสมองเราผ่านการคิดสร้างสรรค์ และการคิดแบบ Innovative Thinking มา เรากลายเป็นคนหนึ่งที่เหมือนทำได้ทุกอย่างเลย สมมติเราจะออกแบบแก้วน้ำแก้วหนึ่ง เราต้องรู้ว่าลูกค้าของเราเป็นใคร แปลว่าเราต้องเข้าใจเรื่อง Marketing เราต้องรู้ว่าต้นทุนมันเท่าไหร่ แล้วจะขายเท่าไหร่ แปลว่าเราต้องเข้าใจ Finance เราต้องรู้ว่าจะทำแก้วนี้ให้มันประสบความสำเร็จได้อย่างไร แปลว่าเราต้องคิดเชิงกลยุทธ์เป็น และแน่นอนสุดท้ายเราต้องทำแก้วให้สวยด้วย 

จากประสบการณ์การทำงานกว่า 25 ปี มีงานโปรเจกต์ไหนที่เปลี่ยนมุมมองของพี่เอิร์ธไหม 

คงเป็นโปรเจกต์ที่ทำตอนเป็นที่ปรึกษาด้าน Innovative Lab ให้กับบริษัทลูกของธนาคารแห่งหนึ่ง ประมาณปี 2016 ผู้บริหารท่านหนึ่งบอกว่า “เอิร์ธ มีงานหนึ่งอยากให้ช่วย พอดี CEO เพิ่งเห็นแอปพลิเคชันที่บริษัทต่างชาติออกแบบมาแล้วไม่ชอบเลย ลองออกแบบใหม่ให้พี่ได้ไหม ขึ้นเร็วๆ ใน 1 เดือน จะเอาไปพรีเซนต์ CEO” 

สำหรับเราไม่มีคำว่าทำไม่ได้ ก็เลยของานของเจ้านั้นมาดู ดูแล้วก็เข้าใจว่าทำไม CEO ไม่ชอบ คือมันสวยนะ แต่มันไม่ใช่สไตล์ที่คนไทยจะชอบ จากนั้นเราก็มาลองคิดดูว่าจะทำอย่างไรให้ทันใน 1 เดือน ก็เลยแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ พาร์ตพรีเซนต์เอาโบ๊ทมาช่วยทำ พาร์ตดีไซน์เราชวนคนในธนาคารมาประมาณ 20 คนจากหลายๆ แผนกมาช่วยคิด นั่งด้วยกันเลย เปิดทีวีจอ 100 นิ้ว ใช้การออกแบบที่เราคิดเอง เราเรียกว่า Live Design คือทำกันสดๆ เลย ให้ทุกคนเห็นภาพทันทีและมีส่วนร่วมในการออกแบบแอปฯ นี้ด้วยกัน จิ้มเลยว่าตรงนี้อย่างนั้น ตรงนั้นอย่างนี้ โดยที่เราเป็นคนคุมคอมพิวเตอร์ แล้วตั้งคำถาม ให้คนอื่นช่วยตอบ ช่วยคอมเมนต์ นัดมาทำแบบนี้กันอาทิตย์ละ 1-2 วัน 

พอออกแบบเสร็จเราก็ต้องไปคุยกับฝ่ายที่พัฒนาและเอาแอปฯ ไปเทสต์ ตอนแรกเขาก็ไม่อยากทำของเราเลย เพราะเขาก็ทำของอีกเจ้าไปเยอะแล้ว แต่เราก็ขอเขาว่า “พี่ CEO เขาอยากเห็น ถ้ามันเทสต์แล้วแย่กว่า พี่ก็ทำอันเดิมต่อ แต่ถ้ามันดีกว่า ก็ดีกว่าไม่ใช่เหรอ” เขาก็ยอม ปรากฏว่าไปเทสต์มาทั่วประเทศในหลายๆ Segment ผลคือของเราชนะ คนไทย 60% ชอบดีไซน์ของเรา 

ถามว่าโปรเจกต์นี้เปลี่ยนมุมมองเราอย่างไร อย่างแรกคือ ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ แม้ว่าเวลาน้อยหรือทรัพยากรน้อย หน้าที่ของเรานอกจากจะออกแบบให้ดีแล้ว ยังต้องออกแบบวิธีการที่สร้างสรรค์เพื่อทำให้งานสำเร็จ เช่น การทำ Live Design ทำกันสดๆ เลย โดยเอาคนมีส่วนได้ส่วนเสียมาช่วยกันคิด ไม่ต้องรอประชุม ไปออกแบบ แล้วกลับมาขอ Feedback พูดง่ายๆ คือเวลาน้อยก็ต้องสอยกันเลย ซึ่งวิธีนี้ก็กลายเป็นกระบวนการที่เราเอาไปใช้ตลอดเลย สมมติพรีเซนต์อยู่ ลูกค้าบอกว่า “ผมว่าน่าจะเปลี่ยนสี” เราก็จะเปลี่ยนให้เลยเดี๋ยวนั้น  

มุมมองที่เปลี่ยนไปอีกอย่างคือ ถึงจะต้องทำโปรเจกต์ให้สำเร็จได้แม้มีเวลาและทรัพยากรจำกัด แต่เราห้ามหยุดฝัน คือไม่ใช่ว่า ถ้าเวลาและทรัพยากรจำกัด เราต้องฝันเล็ก ไม่ใช่ เราก็ยังฝันใหญ่เหมือนเดิม แต่เรา Work Smart เพื่อทำให้มันสำเร็จให้ได้ แปลว่าเราไม่ Dilute ความฝัน เราไม่ Compromise จินตนาการ เราไม่ Minimize Passion ของเรา ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดอะไรก็ตาม 

ในฐานะเจ้าของโปรเจกต์นั้น พี่เอิร์ธโน้มน้าวให้คนอื่นอยากมาช่วยงานได้อย่างไร ทั้งที่มีข้อจำกัดและอุปสรรค์เต็มไปหมด 

เราทำให้คนอยากทำงานกับเราเพราะมันสนุก ให้มันเหมือนวันที่เราเลือกเรียนสถาปัตย์ เพราะลุงเอาผักชีแปะฟัน โคตรสนุก อย่างน้อยทั้งวันเขาทำงานเครียดมา 7 ชั่วโมง มาเจอเรา 1 ชั่วโมงแล้วสนุก เท่านั้นพอแล้ว 

เราจะไปสั่งเขา เราก็ไม่ได้เก่งหรือฉลาดขนาดนั้น แต่มันเหลือเรื่องหนึ่งที่เราทำเป็นแล้วคนอื่นอาจไม่ค่อยทำ คือการสร้างบรรยากาศให้เหมาะสม เราชวนคนมา Brainstorm กัน มันก็ต้องคึกๆ หน่อย งั้นเปิดเพลงแดนซ์เลย คึกดี ดีดดีเหมือนกัน หรือเชียร์กันออกหน้าออกตาไปเลย “โอ้โห้ พี่ สวยมาก สุดยอด” ใช้พลังกับการสร้างบรรยากาศให้มันสนุกสนานและเป็นมิตรต่อความคิดสร้างสรรค์ 

ถามเรื่องปัจจุบันบ้าง ทำไมพี่เอิร์ธถึงตัดสินใจมารับตำแหน่ง CXO ที่ Bluebik Group 

จริงๆ เราทำกับโบ๊ทมาตลอดตั้งแต่วันที่เริ่มต้น เราเพื่อนกัน ก็ช่วยกันมาตั้งแต่แรก เราอยู่ตรงนี้แหละ ไปๆ มาๆ เข้าๆ หายๆ เพราะมี Business มีงานที่ต้องทำ มีลูกค้าต้องดูแล ก็เลยไม่ได้มาอยู่ด้วยแบบเต็มเวลา แต่ถ้าโบ๊ทยกหูโทรมาปุ๊บก็ช่วยปั๊บ แต่ถามว่าทำไมคราวนี้ตัดสินใจมาทำแบบเต็มเวลา เราคิดว่าถ้ามาทำงานที่ Bluebik เราคงมีโอกาสได้สร้างสรรค์งานดีไซน์ดีๆ ให้กับโลกใบนี้ได้มากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มของ Bluebik ซึ่งมีความพร้อมมาก 

ที่บอกว่าอยู่กับ Bluebik มาตั้งแต่เริ่มต้น อย่าบอกนะว่าพี่เอิร์ธเป็นคนออกแบบโลโก้ Bluebik 

ใช่ เราเป็นคนออกแบบโลโก้ปัจจุบันที่ใช้กันอยู่  

มันมีหลายๆ ปรัชญาเบื้องหลังที่เราชอบ แต่เรื่องที่เราชอบที่สุดคือการเลือกใช้ฟอนต์ อย่างแรกคือในโลโก้จะเห็นว่าคำว่า Bluebik เป็นตัวพิมพ์เล็กหมด เพราะเราอยากให้เราเป็นบริษัทที่ถ่อมตัว เราว่าโลกใบนี้ต้องการคนดีและถ่อมตัว ซึ่งโบ๊ทเป็นหนึ่งในคนที่ดีที่สุดในชีวิตที่เรารู้จัก และอย่างที่สองคือเราเลือกใช้ฟอนต์ DB Moment ของคัดสรร ดีมาก เพราะเราอยากสอดแทรกว่า ในการทำงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการอยู่กับโมเมนต์ตรงหน้า อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับความเป็นจริง อย่าไปยึดติดกับอดีตมาก  

ในฐานะ CXO พี่เอิร์ธอยากพัฒนาหรือต่อยอดอะไรให้ Bluebik Group 

เราเรียน ID ซึ่งไม่มีกรอบ บวกกับเรามีบริษัทให้คำปรึกษาด้านการออกแบบมาก่อน ดังนั้นเรามีความเป็นอิสระสูงมาก ไม่ยึดติดกับอะไรเลย เน้นว่าต้องทำให้ดีไซน์สุดยอดที่สุด ดีไซน์ต้องเป็นพระเอก เป็นเบอร์หนึ่ง สมมติเวลาทำสไลด์ เราใส่ดีไซน์ไว้หน้าแรกเลย ดังนั้นเราอยากให้งานดีไซน์และประสบการณ์ของ Bluebik มีความ Unique ขึ้น เห็นแคมเปญของ Jaguar เมื่อปีที่แล้วไหม Copy Nothing เราทำงานอย่างนั้นเลย เราไม่เคยเปิด Reference ไม่เคยเปิดไฟล์เก่าของตัวเองด้วยซ้ำ เราลุยเลย สเก็ตช์เป็นร้อยๆ แบบจนมันออกมาเป็นอะไรซักอย่าง เราใส่สุดให้กับลูกค้าโดยไม่ต้องไปหา Inspiration อะไรทั้งนั้น 

นอกจากนี้เราอยากพัฒนา Leadership in Design คือพัฒนาให้คนของเราเป็นผู้นำทางด้านการออกแบบ เพราะเราว่าไม่มีใครอยากเป็นลูกน้องไปจนแก่เฒ่าหรอก ไม่ว่าอย่างไรเขาก็ต้องเติบโต ดังนั้นนอกจากพัฒนาคุณภาพงานแล้ว เราก็จะพัฒนาคุณภาพของคนในทีมด้วย  

เราพูดตรงๆ ว่ามันจะท้าทายมากขึ้น เราไม่ได้มาตรงนี้เพื่อเป็นซูเปอร์สตาร์เดินแคตวอล์ก เราไม่ได้มาตรงนี้เพื่อเป็น Popular Vote เราไม่ได้มาตรงนี้เพื่อให้คนรักที่สุด แต่เรามาเพื่อเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้อะไรมันดีขึ้น ดังนั้นมันจะไม่สบายตัวแน่นอน แต่เชื่อได้เลยว่าเราจะจริงใจที่สุด ถ้าเขายอมให้เราพัฒนา เราก็จะพัฒนาให้สุดเลย เพราะคนคือสิ่งที่ทำให้องค์กรเติบโต และสุดท้ายเรื่องการออกแบบประสบการณ์มันก็ต้องย้อนมองภายในองค์กรเองเหมือนกัน คือเราดูแลลูกค้าเป็นพระเจ้าเลย แต่มองกลับมา Employee ล่ะ คนของเรามีประสบการณ์ที่ดีไหม ซึ่งมันไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีแบบมีโต๊ะปิงปอง มีโต๊ะพูล มีกินเบียร์วันศุกร์ เพราะถ้าอย่างนั้นก็ซื้อถมไปเลย 100 โต๊ะ กินเบียร์กันไปเลยทั้งวัน แบบนั้นคือ What แต่เราต้องดูที่ How ว่า เราจะทำอย่างไรให้การทำงานที่นี่มันมีความหมายกับเขา ทำอย่างไรให้คน Bluebik มีความรักและภูมิใจในทีม ในองค์กร แล้วอยากจะทำงานให้ดีที่สุด 

มีอีกอย่างหนึ่งที่เราอยากทำ และคงค่อยๆ Scale Impact ขึ้นไปคือการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเราได้มีส่วนร่วมกัน ยกตัวอย่าง เราเป็นคนตื่นเช้าอยู่แล้ว แต่เวลามาออฟฟิศเช้าๆ ไม่เจอใคร เหงาด้วย แล้วแอร์จะยังไม่เปิด มันร้อน วันหนึ่งเราก็เลยวางแผน งั้นขี่มอเตอร์ไซค์ไปดีกว่า จะได้รับลม แล้วก็วนไปเข้าโรงเรียน (สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซักหน่อย เอาฟีลเหมือนตอนเด็กๆ พออารมณ์ดีแล้วก็ไปนั่งกินโจ๊กสามย่าน แล้วก็คิดได้ว่าสั่งไปฝากคนที่ Bluebik ดีกว่า เผื่อเขาไม่เคยกินรสชาติออริจินัล เพราะที่สั่งๆ กันในแอปฯ มันไม่ใช่ ก็เลยซื้อไปฝากคนที่ออฟฟิศ 10 ถุง ซื้อปาท่องโก้ฝั่งตรงข้ามด้วยอีก 20 ตัว พิมพ์ไปใน Line ว่า พอดีพี่ไม่อยากกินข้าวเช้าคนเดียว ใครมาเช้าเอาไปกินได้เลย เผื่อมานั่งคุยกัน โอ้โห้ กลายเป็นเรื่องซุบซิบกันยาวว่า “พี่เขาเป็นอะไร ถูกหวยเหรอ” แต่สำหรับเราคือชิลล์มาก เพราะตื่นเช้าอยู่แล้ว ตั้งใจไปกินโจ๊กอยู่แล้ว แค่ซื้อเผื่อคนอื่นหน่อย ทำให้คนประหยัดค่าข้าวไปได้ 1 มื้อ ทำให้คน 10 คนได้มานั่งคุยกัน และอีก 50 คนเอาไปซุบซิบ เรื่องเล็กๆ แค่นี้เลยที่เราอยากทำ 

พี่เอิร์ธเล่าเรื่องเข้าประเด็นมาก มีคำถามหนึ่งที่ลิสต์ไว้ อยากรู้ว่าผู้นำที่ดีในสไตล์ของพี่เอิร์ธเป็นแบบไหน 

เป็นตัวของตัวเอง   

ย้อนไปตอนเด็กๆ โรงเรียนเราเขาให้โอกาสนักเรียนทำกิจกรรมมากๆ รุ่นๆ เราก็จะมีพี่โบ๊ทเป็นประธานนักเรียน เราเป็นรองประธานนักเรียน กับเพื่อนอีกคนเป็นประธานเชียร์​ เล่นกันอยู่ตรงนี้ เราก็จะเข้าใจความหมายของการเป็นผู้นำในบริบทแบบนั้น คือการตั้งใจทำงาน ทำให้มันดูสนุก คนจะได้อยากมาทำงานกับเรา ใส่ Energy ใส่ Passion เป็นความเข้าใจแบบเด็กๆ  

ทีนี้พอเราเปิดบริษัทของตัวเอง เราทำบริษัทของตัวเองตั้งแต่ปี 2 นะ เพราะชอบทำงาน ชอบจับเงิน ก็จะมีความหมายเพิ่มเข้ามาว่า ผู้นำต้องวางแผน กำหนดทิศทาง ริเริ่มสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ก็ทำๆ ไปตามที่เข้าใจ  

จนวันหนึ่งมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นผู้นำที่ดีหรือเปล่า แล้วการเป็นผู้นำที่ดีต้องให้ผลลัพธ์อะไรบ้าง ที่ทำมาด้วยลูกมั่ว ลูกบ้า ลูกฮา หรือการที่เราเสียงดังฟังชัดทำก่อน มันใช่ผู้นำหรือเปล่า เราตอบไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจไปเรียนเรื่อง Leadership เราก็หาข้อมูล จนได้ไปฟัง Session หนึ่งของ Haas Business School ของ Berkeley มันมีคีย์เวิร์ดคำหนึ่ง คือคำว่า Authentic Leadership ผู้นำที่ดีเป็นแบบไหน ก็แบบคุณไง ไม่มีหรอกว่าเราต้องเป็นแบบไหน มันมีอยู่วิธีเดียว คือเป็นแบบเราให้ดีที่สุด แล้วทำให้ทุกคนเขารู้ว่าเราเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปเฟค ไม่ต้องไปพยายามเป็น Steve Jobs เพราะเราเป็นไม่ได้ เราเป็นได้คนเดียวคือสรณัญช์ ชูฉัตร 

เพราะประทับใจ Session นั้นเราก็เลยตัดสินใจไปเรียนคอร์ส Berkeley Executive Leadership ไม่น่าเชื่อว่าเราเป็นคนไทยคนแรก คือไม่เคยมีใครไปเรียนก่อนหน้าเรา แต่หลังจากนั้นก็มีคนไปเรียนเยอะแยะเลยนะ ซึ่งหลังจากไปเรียนแล้วเราก็ค้นพบว่า นอกจาก Authentic Leadership แล้ว มีอีกเรื่องที่เราสนใจคือ Communication Style โดยมันแบ่งเป็น 2 ประเภท พูดเยอะ กับ ถามเยอะ คนส่วนใหญ่พูดเยอะ พูดเก่ง พูดได้ทั้งวัน แต่คนถามเก่งมีน้อย ซึ่งคนถามเก่งเนี่ย เรียกอีกแบบว่าเป็นโค้ชได้ เราเป็นคนชอบตั้งคำถาม ก็เลยไปเรียนคอร์ส Executive Coaching เพิ่มด้วย เราไม่ใช่ Life Coach นะ ชีวิตตัวเองก็ใช่ว่าจะดีมาก แต่ในมิติเรื่องงานที่อเมริกาเขานิยมใช้โค้ชกันมาก พอเราเรียนเรื่องโค้ชแล้วยิ่งเข้าใจการเป็นผู้นำเลย อย่างที่บอกว่าเป้าหมายอย่างหนึ่งของเราคือการพัฒนาคน แปลว่าเวลาทำงานเราไม่เข้าไปทำเองแน่ๆ แต่เราจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากทำงานแบบ 200% แล้วเรามีวิธีการคุยกันอย่างไรเพื่อพัฒนาต่อยอดงานกัน โดยที่เราไม่ใช่คนที่เสียงดังที่สุด จะเห็นว่าการไปเรียนมันเปลี่ยนโลกเราไปเลย 

สรุปกลับมาที่คำถาม ผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร เราคิดว่า หนึ่ง ควรเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด และ สอง ควรมีทักษะการสื่อสารที่เก่งมากๆ เพราะถ้าหากรักนี้ ไม่บอก ไม่พูด ไม่กล่าว เขาจะรู้ว่ารักหรือเปล่า ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นผู้นำแต่วันๆ เงียบ ไม่พูด ไม่ฟัง ไม่ทำอะไรเลย มันก็ไม่ได้ 

มาที่คำถามสุดท้าย บทเรียนสำคัญที่สุดที่พี่เอิร์ธสรุปได้จากตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมาคืออะไร 

ข้อแรก ความไว้วางใจสำคัญมากกับการทำงาน สมมติเราเชื่อใจกันมาตลอด แต่พูดไม่ตรงกันหนึ่งครั้ง เจ๊งเลย ทั้งที่ทำดีกันมาเป็น 10-20 ปี มันเป็น Value ที่ใหญ่มากที่สุดของคนที่จะเติบโต อย่าเสียความไว้วางใจ และต้องสร้างความไว้วางใจทุกวัน อย่าทำให้มันหายไป เพราะหายแล้วกลับมายาก ใช้เวลา เหมือนแก้วที่แตกแล้วประกอบใหม่ก็ยังเห็นรอยร้าว 

ข้อที่สอง ต้องมีสติ อยู่กับปัจจุบัน บางทีเวลาคุยกัน หลายๆ คนเลยไม่รู้อยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ ช่วยกลับมาอยู่กับเราก่อน อยู่กับปัจจุบันก่อน อย่าไปคิดเรื่องเก่า คิดเอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาผูก ถ้าทุกคนอยู่กับปัจจุบัน โลกจะ Powerful มากเลย คนจะมีสติในการคิดสร้างสรรค์ ทำงานได้เฉียบคม มีศักยภาพสูงสุด  

และข้อสุดท้ายเลยคือ สมาธิ จำเป็นมาก ในโลกที่มันวุ่นวายขนาดนี้ เราโดน Distract ทั้งวันอยู่แล้ว โซเชียลมีเดียทั้งวัน Messaging App ทั้งวัน เพราะฉะนั้นทุกคนควรมีทักษะการทำสมาธิ ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเป็นแบบศาสนาพุทธ  เราก็ไม่ใช่คนธรรมะธรรมโมขนาดนั้น แต่หาวิธีทำสมาธิที่เหมาะกับตัวเอง จะได้มีสมาธิอยู่กับสติของตัวเองให้ได้  

เราคิดว่าทั้ง 3 ข้อนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ที่อ่านครับ 

5D Nice to C You CXO TH

8 ข้อที่จะทำให้รู้จัก “พี่เอิร์ธ CXO” มากขึ้น 

1. หนังสือเล่มโปรดคือฤทธิ์มีดสั้น ของโกวเล้ง เพราะมัน Full of Imagination มาก มันบอกเราว่า เราอยากทำอะไรก็ทำได้ เราอยากเหาะขึ้นไปบนหลังคาก็เหาะได้นี่หว่า แล้วมันมีปรัชญาเยอะมาก ความกตัญญู ความเคารพ ธรรมชาติ ความรัก และสุรา 

2. เย็นๆ หลังเลิกงาน เจอตัวพี่เอิร์ธได้ที่… บาร์หรือร้านลาบ 

3. งั้นต้อง Pick your poison หน่อย… เตกิลา ถ้าถึง 3 ช็อตเจอกันอีก 2 ชั่วโมง เราว่าเตกิลาดีๆ กับซาวด์ดีๆ กับเพื่อนดีๆ คือ The Best แล้ว   

4. Team Cat or Team Dog… Team Dog ครับ ที่บ้านเลี้ยงชิบะ 1 ตัวชื่อ Issey Miyake ชื่อเล่น Issey 

5. ตอนนี้อยากขี่ Etran ไปที่… Everest Base Camp วางแผนไว้เรียบร้อย อยากให้ Etran เป็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคันแรกของโลกที่ไปถึง Everest เราเกือบได้ไปแล้ว แต่ขาหักเลยพับแผนไว้ก่อน เดี๋ยวพักฟื้นให้ครบปีก่อนแล้วจะหาเวลาไป 

6. สิ่งที่อยาก Redesign มากที่สุดในตอนนี้คือ Customer Experience ของการเข้าวัด ให้ลดความเป็นพุทธพาณิยช์ลง และทำให้คนอยากเข้ามาทำบุญ ทำความดี ถือศีล ละเว้นการกระทำบาปได้มากขึ้น ซักวันสองวันก็ยังดี 

7. โมเมนต์จำได้ไม่ลืมกับพี่โบ๊ท… มีเยอะเลย ตอนเรียนก็เรียนห้องเดียวกัน เตะบอลก็เตะด้วยกัน ไม่รู้จะตัวติดกันไปไหน แล้วก็ทำกิจกรรมด้วยกันเยอะ เราเคยชวนโบ๊ทเป็นประธานสภา คิดแคมเปญหาเสียง เอาดอกดาวเรืองคล้องคอเดินไหว้รุ่นน้องทั่วโรงเรียน แต่โมเมนต์จำไม่ลืมก็คงเป็นตอนที่โบ๊ทชวนเขียนโปรแกรมนั่นแหละ เปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาล  

8. เมนูโปรดที่คุณภรรยา เชฟเบลล์ MasterChef Thailand Season 5 ทำให้กินคือ… ไอศกรีมกะทิอบควันเทียน เสิร์ฟกับ Gin ที่ Infused กับสมุนไพรไทย คืออร่อยมาก (คนเขียน: แอบกระซิบว่า ใครอยากชิม ตามไปได้ที่ร้าน MIA Made In Ari จ้า) 

25 มีนาคม 2568

By Bluebik