ทุกวันนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งกำลังเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงและทรานส์ฟอร์มกระบวนการทำงานต่างๆ ในหลายภาคธุรกิจ สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานก็เช่นกัน AI สามารถเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ และสร้างกระบวนการทำงานที่ยั่งยืนในระยะยาว
จากบทบาทของ AI ที่กำลังเพิ่มขึ้น บลูบิค (Bluebik) จึงอยากชวนมาดูโอกาสที่เกิดขึ้นจากการนำ AI มาปรับใช้ และตัวอย่างการใช้งาน (Use Cases) ที่น่าสนใจในภาคธุรกิจพลังงาน
การประยุกต์ใช้ AI สร้างความได้เปรียบในธุรกิจพลังงาน
1. ผลิตพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
AI สามารถช่วยประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพลังงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประวัติการใช้พลังงาน ข้อมูลเหตุไฟฟ้าขัดข้อง หรือมีการใช้ไฟมากเกินไป เป็นต้น โดย AI สามารถระบุแพทเทิร์นและการใช้พลังงานในส่วนต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการผลิต และการจ่ายพลังงานไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ ที่มีความต้องการใช้พลังงานแตกต่างกัน
2. ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
การนำ AI มาในใช้ภาคอุตสาหกรรมพลังงานจะช่วยกำหนดปริมาณการใช้พลังงานที่จำเป็นในแต่ละช่วงเวลา และในแต่ละพื้นที่ ทำให้สามารถปรับการผลิตพลังงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ โดยไม่จำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าเพิ่มจนเกินความจำเป็น ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้
นอกจากนี้ AI ยังนำไปใช้ช่วยคาดการณ์ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตไฟฟ้า เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ซึ่งจะช่วยให้วางแผนการผลิตพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และใช้แหล่งพลังงานทดแทนได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
3. ลดต้นทุนการผลิตพลังงาน
เทคโนโลยี AI สามารถช่วยคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานพลังงานให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น และยังช่วยให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ด้วย เช่น ธุรกิจพลังงานสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรจากการใช้ Predictive AI ในการตรวจจับ และจัดการกับอุปกรณ์ที่เสี่ยงทำงานผิดพลาดได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการซ่อมแซมที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูง และการสูญเสียเงินในกรณีที่ต้องหยุดทำงาน นอกจากนี้ เมื่อต้นทุนในการผลิตพลังงานลดลง ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถคิดค่าบริการลูกค้าในราคาย่อมเยาได้

6 Use Cases การประยุกต์ใช้ AI ที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมพลังงาน
1. วิเคราะห์และจัดการข้อมูลด้านพลังงาน
แม้ธุรกิจพลังงานจะมีข้อมูลปริมาณมหาศาล แต่หลายครั้งยังไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่เป็นระเบียบ และการไม่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนี่คือจุดที่ AI เข้ามาช่วยได้ โดยเทคโนโลยี AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว จัดประเภท ค้นหารูปแบบ และความผิดปกติ ทำให้ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานขององค์กร
เมื่อนำข้อมูลภายในที่รวบรวมโดยผู้ให้บริการพลังงาน และข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมที่เปิดเผยต่อสาธารณะมาวิเคราะห์ร่วมกัน AI สามารถช่วยวิเคราะห์อย่างละเอียด และแนะนำการปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจในปัจจุบันได้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความต้องการพลังงาน การบำรุงรักษาอุปกรณ์ หรือประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น แหล่งพลังงานหมุนเวียนและไม่หมุนเวียน การซื้อขายและแนวโน้มการกำหนดราคาพลังงาน และความเสี่ยงในอุตสาหกรรม เป็นต้น
2. จัดการระบบ Smart Grid
AI สามารถเข้ามาช่วยบริหารจัดการสมาร์ทกริด (Smart Grid) ซึ่งเป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยครอบคลุมตั้งแต่การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีตลอดทั้งห่วงโซ่ของระบบไฟฟ้า ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การส่งไฟฟ้า การจำหน่ายไฟฟ้า ไปจนถึงภาคส่วนของผู้บริโภคได้อย่างชาญฉลาด
อัลกอริทึม AI สามารถคาดการณ์รูปแบบการใช้พลังงาน โดยใช้ข้อมูลในอดีตและข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้หน่วยงานสาธารณูปโภคสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในลักษณะเดียวกัน AI ยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรได้อีกด้วย เช่น ในช่วงที่มีความต้องการสูง AI สามารถปรับปรุงการกระจายไฟฟ้า ให้มั่นใจว่าไฟฟ้าจะถูกส่งไปยังพื้นที่ที่ต้องการมากที่สุด และป้องกันความเสี่ยงของการเกิดเหตุไฟฟ้าดับ
ไม่เพียงเท่านั้น สมาร์ทกริดที่มีการใช้ AI สามารถตรวจจับข้อผิดพลาด หรือการหยุดชะงักของกระบวนการทำงานได้ด้วย เช่น อุปกรณ์ไม่ทำงานหรือการผลิตไฟฟ้าขัดข้อง โดยอัลกอริทึม AI สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดปัญหาและปรับกระบวนการ เพื่อไม่ให้การทำงานหยุดชะงัก
3. ช่วยบำรุงรักษาแบบ Predictive Maintenance
AI สามารถช่วยธุรกิจพลังงานคาดการณ์ได้ว่า อุปกรณ์เครื่องจักรมีแนวโน้มที่จะเสียหายหรือจำเป็นต้องซ่อมบำรุงเมื่อใด หรือที่เรียกว่า Predictive Maintenance โดย Machine Learning สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากจากแหล่งต่างๆ ได้ เช่น สถิติการใช้งาน ข้อมูลสภาพอากาศ และบันทึกการซ่อมบำรุงในอดีต เพื่อตรวจสอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง วิธีนี้จะช่วยลดเวลาที่อุปกรณ์ไม่สามารถใช้งานได้ ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม และปรับปรุงความน่าเชื่อถือโดยรวมของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน
เมื่อสามารถระบุและแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ Predictive Maintenance จะช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ได้อย่างมาก ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรบ่อย ส่งผลให้ต้นทุนในการบำรุงรักษาลดลง อีกทั้งยังลดการใช้ทรัพยากร จากการที่ไม่ต้องผลิตอุปกรณ์ใหม่ออกมาเพื่อใช้ทดแทน
4. พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน
AI สามารถใช้วิเคราะห์ความซับซ้อนของตลาดในการซื้อขายพลังงาน โดยประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับแนวโน้มราคา ความต้องการ และอุปทาน ทำให้บริษัทพลังงานสามารถตัดสินใจซื้อขายได้อย่างมีข้อมูลและมีกำไร
ขณะเดียวกัน AI ยังนำไปใช้จัดการความเสี่ยงได้ด้วยเช่นกัน โดยประเมินความผันผวนและความไม่แน่นอนของตลาดล่วงหน้า ด้วยเหตุนี้ การซื้อขายโดยใช้ AI จึงดำเนินการด้วยความเร็วสูง สามารถทำการซื้อขายหลายครั้งในเวลาเพียงไม่กี่มิลลิวินาที นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในพอร์ตการซื้อขาย จำลองสถานการณ์ตลาด วิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึกของตลาด และปรับแนวทางตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ความสามารถของ AI ในการระบุรูปแบบและแนวโน้มในชุดข้อมูลขนาดใหญ่ มีศักยภาพในการพลิกโฉมแพลตฟอร์มการซื้อขายในตลาดพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการที่สามารถตรวจจับโอกาสและความเสี่ยงในตลาดซึ่งอาจถูกมองข้ามไป
5. เพิ่มประสิทธิภาพระบบกักเก็บพลังงาน
สำหรับการปรับใช้กับระบบกักเก็บพลังงาน AI สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บและการแจกจ่ายพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความต้องการ การผลิต ราคา และสภาพของกริดไฟฟ้า อัลกอริทึมของ AI จะกำหนดเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเก็บพลังงาน เวลาที่ควรปล่อยพลังงาน และปริมาณที่จะจัดสรร ตัวอย่างเช่น แหล่งพลังงานหมุนเวียน อย่างลมและแสงอาทิตย์ที่มีความไม่แน่นอน
ด้วยขีดความสามารถนี้ ทำให้สามารถกักเก็บพลังงานส่วนเกิน ที่ผลิตได้ในช่วงที่มีกำลังการผลิตสูงสุด และไม่จำเป็นต้องนำออกมาใช้ ทำให้มีแหล่งพลังงานสำรองสำหรับสถานที่ที่อาจจำเป็นต้องใช้พลังงานเร่งด่วน เช่น โรงพยาบาล ศูนย์ข้อมูล และบริการฉุกเฉินต่างๆ
6. จัดการการจัดเก็บและกำจัดของเสีย
อุตสาหกรรมพลังงานได้สร้างขยะในปริมาณมหาศาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมหากไม่จัดเก็บและกำจัดอย่างถูกต้อง ซึ่ง AI สามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการแนะนำวิธีการจัดการขยะที่ปลอดภัยมากขึ้น ตัวอย่างเช่น AI สามารถวิเคราะห์และประเมินผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวของสารกัมมันตรังสีชนิดต่างๆ รวมถึงความไวต่อสภาพและวัสดุต่างๆ ซึ่งทำให้นักวิจัยเข้าใจระดับความปลอดภัยของสถานที่จัดเก็บกากกัมมันตรังสีที่มีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น และระบุวิธีการรักษาและปรับปรุงสถานที่เหล่านั้น ซึ่งจะช่วยในการสร้างสถานที่จัดเก็บกากนิวเคลียร์ปลอดภัยยิ่งขึ้น หรือหาวิธีกำจัดกากทั้งหมด
นอกจากนี้ AI ยังสามารถปรับใช้กับบริษัทที่ผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยสามารถแนะนำและค้นหาวิธีการกำจัดอุปกรณ์ที่เสียหาย หรือหาแนวทางนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ หรือกังหันลม
เสริมศักยภาพธุรกิจพลังงานด้วย AI
เทคโนโลยี AI กำลังได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ และนำไปปรับใช้กับการทำงานได้หลากหลายรูปแบบ สำหรับธุรกิจพลังงานแล้ว AI ย่อมสามารถสร้างความได้เปรียบทั้งในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ
สำหรับองค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจพลังงาน บลูบิค (Bluebik) พร้อมให้คำปรึกษาโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยวางกลยุทธ์องค์กร วางรากฐานด้านข้อมูล (Data) ไปจนถึงการพัฒนาโมเดล AI ขั้นสูงที่เหมาะสมกับเป้าหมาย และความต้องการของธุรกิจ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือปรึกษาได้ที่ [email protected] หรือโทรศัพท์ 02-636-7011
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก pixelplex.io, energydigital, datadynamicsinc