ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ AI ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจ Healthcare อย่างน่าจับตามองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซลูชัน AI ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานในส่วนต่างๆ หรือในมุมของการดูแลผู้ป่วยที่เริ่มเห็นการใช้อุปกรณ์สวมใส่ที่มี AI มาช่วยมอนิเตอร์อาการความผิดปกติต่างๆ
จากความก้าวหน้าของ AI ในธุรกิจบริการสุขภาพ บลูบิค (Bluebik) จึงอยากชวนมาดูโอกาสที่เกิดขึ้นจากการนำ AI มาปรับใช้ และตัวอย่างการใช้งาน (Use Cases) ที่น่าสนใจในภาคธุรกิจ Healthcare
การประยุกต์ใช้ AI สร้างความได้เปรียบในธุรกิจ Healthcare
1. AI ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ
หนึ่งในผลลัพธ์จากการนำ AI มาใช้ คือ การช่วยให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกล หรือในพื้นที่ที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น Telemedicine ที่ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้โดยตรง สำหรับอาการป่วยเบื้องต้นที่ไม่รุนแรงมาก หรือติดตามผลการรักษาโรค ไปจนถึง AI แชทบอท ที่สามารถตอบคำถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการผิดปกติเบื้องต้นได้
2. AI หลากหลายประเภทสำหรับการใช้งานหลายรูปแบบ
อีกความก้าวหน้าที่น่าสนใจ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้ทำงานได้คล้ายคลึงกับระบบผู้ช่วยที่สามารถทำงานบางส่วนได้แบบอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า Assistive AI โดยมนุษย์ยังเป็นผู้ควบคุมการใช้งานเป็นหลัก และใช้ความสามารถของ AI มาเสริมศักยภาพการทำงาน เช่น การประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก การประเมินและวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์ รวมถึงการให้ข้อมูลและคำแนะนำแบบเรียลไทม์ที่ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น
3. AI กับแนวทางเชิงรุกในด้าน Healthcare
เทคโนโลยี AI ไม่ได้เพียงแค่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถดูแลผู้ป่วยจำนวนมากได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างแนวทางเชิงรุกในด้านบริการสุขภาพ ที่สามารถวางแผนและตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การตรวจพบความผิดปกติของโรคตั้งแต่ในระยะแรกๆ ก่อนที่อาการจะลุกลามรุนแรงขึ้น ซึ่งช่วยให้วางแนวทางการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย เช่น เครื่องมือ AI ที่สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ประวัติการรักษา หรือข้อมูลทางพันธุกรรมที่ช่วยประกอบการตัดสินใจ และช่วยให้ผลลัพธ์ในการรักษาแม่นยำขึ้น เป็นต้น

6 Use Cases การประยุกต์ใช้ AI ที่น่าสนใจในอุตสาหกรรม Healthcare
1. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอุปกรณ์และเอกสาร
หนึ่งในความสามารถของเทคโนโลยี AI คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเอกสารต่างๆ เช่น การสรุปข้อมูลที่ทำได้ในเวลาไม่นาน จากการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) ทำให้สามารถใช้ช่วยย่อยข้อมูลสำคัญๆ จากระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EHR) ที่บันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนการทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ AI ยังนำมาใช้ในด้านการดูแลจัดการอุปกรณ์ ด้วยการใช้ Predictive AI วิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ และคาดการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทำให้คาดเดาช่วงเวลาที่อุปกรณ์อาจเกิดการเสื่อมสภาพ และวางแผนซ่อมบำรุงได้ก่อนที่อุปกรณ์จะเกิดความเสียหายหนักจนไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องปัญหาอุปกรณ์
2. ให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยทางไกล
การให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยทางไกล (Telemedicine) ที่เป็นบริการพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นอีก Use Cases ที่เริ่มเห็นบ่อยขึ้นในด้าน Healthcare ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลจากแพทย์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงช่วยลดรายจ่ายในด้านบริการสุขภาพลง
อีกทั้งผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ได้แบบเรียลไทม์ แชร์ข้อมูลด้านสุขภาพ และขอคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการดูแลรักษา โดยที่แพทย์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยจากอุปกรณ์หรือจากเซนเซอร์ต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพ ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สวมใส่อุปกรณ์ช่วยวัดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด เมื่ออัลกอริทึม AI ตรวจพบความผิดปกติจะส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ป่วยและแพทย์ เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทันท่วงที รวมถึงปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสม โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
3. ตัวช่วยค้นพบและพัฒนายา
การค้นพบและพัฒนายารักษาโรคชนิดใหม่ๆ ถือเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี AI สามารถวิเคราะห์ตัวยาที่มีอยู่และแนะนำการปรับเปลี่ยนสูตรยาใหม่ เพื่อให้เหมาะกับการรักษาโรคแต่ละประเภทโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการพัฒนาตัวยาลงได้อย่างมาก
สำหรับการใช้ AI มาช่วยพัฒนาสูตรยา เป็นการนำ Machine Learning มาวิเคราะห์ฐานข้อมูลยาทั้งหมดที่มีอยู่ ครอบคลุมทั้งโครงสร้างทางเคมีและส่วนประกอบต่างๆ เพื่อสร้างสูตรที่คล้ายคลึงกับยาที่มีอยู่สำหรับนำไปใช้ทดสอบต่อไป รวมถึงสามารถประเมินประสิทธิภาพเบื้องต้น ระบุกลุ่มสารที่มีแนวโน้มนำไปพัฒนาเป็นยาต่อได้
4. วิเคราะห์ภาพทางการแพทย์
AI สามารถใช้ช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นภาพ X-Rays, MRI และ CT สแกน เพื่อระบุความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะแรกได้ เช่น ก้อนเนื้องอก ทำให้กระบวนการรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
อัลกอริทึม AI สามารถวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์และ CT สแกน เพื่อช่วยวิเคราะห์โรคต่างๆ เช่น โรคปอดอักเสบหรือวัณโรค รวมถึงการระบุจุดในปอด (lung nodule) ที่ช่วยลดโอกาสการลุกลามจนกลายเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด อีกกรณีหนึ่งคือการวิเคราะห์ภาพ X-Rays เพื่อตรวจโรคกระดูกพรุน การตรวจเนื้องอกในสมอง การตรวจโรคอัลไซเมอร์จากการสแกนและวิเคราะห์โครงสร้างสมอง เพื่อตรวจสอบความผิดปกติในระยะแรก เป็นต้น
5. ดูแลรักษาผู้ป่วยแบบเฉพาะบุคคล
AI สามารถนำไปใช้ช่วยออกแบบแผนการรักษาผู้ป่วยได้แบบเฉพาะบุคคล โดยอิงตามข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยรายนั้น เช่น ประวัติการรักษา ข้อมูลด้านพันธุกรรม และความต้องการต่างๆ ของผู้ป่วยเมื่อเข้ารับบริการด้านสุขภาพ ซึ่งจะช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ในกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็ง โมเดล AI สามารถแนะนำยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย โดยวิเคราะห์จากข้อมูลพันธุกรรม และยังช่วยเลือกตัวยาที่เหมาะสม โดยอ้างอิงจากประวัติการรักษาที่ผ่านมาและปัจจัยทางสรีรวิทยา
นอกจากนี้เครื่องมือ AI ยังนำไปปรับใช้กับการดูแลผู้ป่วยทางไกล เพื่อตรวจสอบอาการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อัลกอริทึมที่วิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจและค่าความดันโลหิต เพื่อตรวจสอบอาการและสัญญาณที่ผู้ป่วยเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
6. ประเมินและวิเคราะห์ความผิดปกติเบื้องต้น
ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี AI ที่วิเคราะห์และคาดการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ จึงสามารถนำไปปรับใช้กับการวิเคราะห์อาการความผิดปกติเบื้องต้น เช่น ความเสี่ยงการเกิดโรคระบาด โดยสร้างแบบจำลองขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงเกิดโรคที่อาจแพร่ระบาดไปในกลุ่มคนต่างๆ หรือภายใต้สภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้องค์กรด้านบริการสุขภาพสามารถวางแนวทางป้องกันและรับมือได้อย่างเหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น แนวโน้มความรุนแรงและคาดการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ในฤดูที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก ซึ่งจะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถออกแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ให้คนดูแลตัวเองยิ่งขึ้น หรือวางแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมวัคซีน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
เสริมศักยภาพธุรกิจ Healthcare ด้วย AI
ในอนาคตอันใกล้นี้เทคโนโลยี AI จะได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก สำหรับธุรกิจ Healthcare แล้ว AI ย่อมสามารถสร้างความได้เปรียบทั้งในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเสริมขีดความสามารถในการให้บริการได้อย่างครอบคลุม
สำหรับองค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจ Healthcare บลูบิค (Bluebik) พร้อมให้คำปรึกษาโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยวางกลยุทธ์องค์กร วางรากฐานด้านข้อมูล (Data) ไปจนถึงการพัฒนาโมเดล AI ขั้นสูงที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความต้องการของธุรกิจ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือปรึกษาได้ที่ [email protected] หรือโทรศัพท์ 02-636-7011
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก forbes, leewayhertz, ibm, purelogics