Business & Technology

ERP คืออะไร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจมากแค่ไหน

เข้าใจ ERP ระบบที่ช่วยจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ลดข้อผิดพลาด และเพิ่มการทำงานอัตโนมัติ ครอบคลุมทุกแผนกในองค์กร

21 มกราคม 2568

By Bluebik

2 Mins Read

ปัจจุบัน โลกธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น การดำเนินงานต่างๆ ต้องการความรวดเร็วและความแม่นยำเพื่อรักษาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การมีระบบและโซลูชันที่มีประสิทธิภาพในการช่วยจัดการกระบวนการต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ระบบบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร (ERP) จึงเข้ามามีบทบาทในการจัดการกับกระบวนการต่างๆ  

บทความนี้จึงอยากพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับขีดความสามารถของ ERP ครอบคลุมตั้งแต่นิยามความสำคัญ ตัวอย่างการใช้งาน และแนวทางว่าหากองค์กรอยากเริ่มใช้งาน ERP ควรเริ่มอย่างไร  

ERP 101 TH

ERP คืออะไร 

Enterprise Resource Planning (ERP) เป็นระบบบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร ทำหน้าที่ช่วยจัดการข้อมูล ตั้งแต่รวบรวม จัดเก็บ จัดการ และรวมศูนย์ข้อมูลจากแผนกต่างๆ รวมถึงข้อมูลคลังสินค้า การขนส่ง การขาย การบัญชี การเงิน การผลิต การจัดซื้อ และทรัพยากรบุคคล (HR) เพื่อเชื่อมโยงระบบการทำงานจากทุกหน่วยงานภายในองค์กร ทำให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ช่วยให้กระบวนการทำงานต่างๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ERP ทำไมสำคัญกับธุรกิจ  

  • เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร 
    ระบบ ERP สามารถปรับให้กระบวนการทำงานบางส่วนเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาของขั้นตอนต่างๆ และลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้  
  • เพิ่มการมองเห็นภาพรวมของกระบวนการทำงาน 
    ระบบ ERP ช่วยให้เห็นภาพของกระบวนการทั้งหมดภายในองค์กร ทำให้การติดต่อสื่อสารและการทำงานระหว่างแผนกต่างๆ สะดวกและราบรื่นยิ่งขึ้น  
  • ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลภายในองค์กรได้แบบเรียลไทม์  
    ระบบ ERP ช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์จากทุกที่ ทุกอุปกรณ์ ทำให้การกระบวนการทำงานยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  
  • รองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต  
    เมื่อองค์กรขยายตัวขึ้น ระบบ ERP สามารถขยายระบบงานสำหรับส่วนงานต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมา และปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการของธุรกิจได้ 

ประเภทของ ERP 

  • Cloud-based ERP software  

เป็นการติดตั้ง ERP ไว้บน Cloud Server มีข้อดีตรงที่สะดวก สามารถเข้าใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือแอปพลิเคชันบนมือถือ 

  • On-premises ERP software  

เป็นการติดตั้งระบบ ERP ไว้บน Hardware หรือ เครื่องเซิร์ฟเวอร์ขององค์กร เพื่อแชร์ข้อมูลผ่านเซิร์ฟเวอร์นั้น ซึ่งมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่การเชื่อมต่อจากภายนอกองค์กรจะค่อนข้างยุ่งยาก  

  • Hybrid ERP software  

เป็นการผสมผสานความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลทั้งจากผ่านช่องทางออนไลน์หรือจากอุปกรณ์เฉพาะ 

โมดูลหลัก (ระบบงาน) ของ ERP มีอะไรบ้าง 

  1. ระบบจัดการการเงิน (Financial Management)  

ระบบจัดการการเงินเป็นโมดูลพื้นฐานสำหรับทุกระบบ ERP ช่วยบริหารจัดการข้อมูลทาง บัญชี รายรับ-รายจ่ายขององค์กร และข้อมูลทางการเงินทั้งหมด เพื่อนำไปใช้ สำหรับทำรายงานทางการเงิน และนำไปวิเคราะห์เป็นข้อมูลเชิงลึกสำหรับ  

ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ  

  1. ระบบจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management)  

ระบบนี้จะช่วยรวบรวมและแสดงข้อมูลต่างๆ ของพนักงานภายในองค์กร เช่น ผลการทำงาน การลางาน และข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และทำให้องค์กรมองเห็นแนวโน้มของจำนวนพนักงานในแผนกต่างๆ และประเมินได้ว่าควรรับบุคลากรเพิ่มเมื่อใด และจำนวนเท่าไร 

  1. ระบบจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Management)  

ระบบจัดการซัพพลายเชนช่วยให้ธุรกิจมองเห็นภาพรวมทั้งหมดของสินค้า ตั้งแต่ปริมาณการผลิตสินค้า จำนวนที่สั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ ไปจนถึงฟีดแบ็กจากผู้สั่งซื้อ ทำให้ธุรกิจสามารถประเมินได้ว่าควรผลิตหรือสั่งซื้อสินค้าประเภทใดในช่วงเวลาไหนจึงจะคุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด  

  1. ระบบจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management) 

ระบบจัดการความสัมพันธ์ลูกค้าหรือ CRM จะช่วยวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า สำหรับคาดการณ์ว่าสินค้าและบริการประเภทไหนเหมาะกับลูกค้ากลุ่มใด เพื่อเพิ่มโอกาสการกลับมาซื้อซ้ำหรือนำเสนอสินค้าอื่นๆ เพิ่ม ระบบ CRM ยังช่วยในการติดตามการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการลูกค้าที่มีโอกาสซื้อสินค้า (Lead)  

ตัวอย่างการใช้งาน ERP สำหรับองค์กร 

  • ธุรกิจการผลิต  

ระบบ ERP สามารถช่วยจัดการซัพพลายเชนทั้งหมด ตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ บริหารจัดการทรัพยากร ไปจนถึงการขนส่งสินค้า ทำให้ธุรกิจลดความเสี่ยงกระบวนการล่าช้า และบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  

  • ธุรกิจค้าปลีก  

ระบบ ERP สามารถให้ข้อมูลระดับสินค้าคงคลังได้แบบเรียลไทม์และตรวจสอบคลังสินค้าในจากหลายตำแหน่งที่ตั้งร้าน ทำให้ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนสินค้าแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มให้ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป 

  • ธุรกิจบริการทางการเงิน 

ระบบ ERP สามารถช่วยจัดการระบบการเงินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ครอบคลุมหลายส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัญชี General Ledger (GL) บัญชี Accounts Payable (AP) และบัญชี Accounts Receivable (AR) รวมถึงการทำรายงานทางการเงิน และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง  

  • ธุรกิจพลังงาน  

ระบบ ERP สามารถบริหารจัดการสินทรัพย์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์เครื่องจักร ซึ่งช่วยคาดการณ์ช่วงเวลาการซ่อมบำรุง การติดตามและตรวจสอบกระบวนการทำงานต่างๆ ไปจนถึงการจัดทำเอกสารให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม 

3 ข้อที่ต้องพิจารณาก่อนเลือกระบบ ERP  

  1. เลือกให้เหมาะกับความต้องการของธุรกิจ  

ธุรกิจแต่ละแห่งต่างมีความต้องการที่แตกต่างกัน และระบบ ERP มีหลากหลายแบรนด์ จึงควรเลือกให้เหมาะกับความต้องการของตัวธุรกิจมากที่่สุด โดยอาจพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น  

– ระบบการทำงานปัจจุบันเกิดปัญหาที่ตรงไหน และธุรกิจต้องการนำ ERP มาใช้ทำงานฟังก์ชันไหน 

– กระบวนการทำงานอะไรที่ต้องการปรับให้เป็นแบบอัตโนมัติ  

– ส่วนไหนของกระบวนการธุรกิจที่ต้องการเห็นภาพข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือมีปัญหาในการดึงข้อมูลไปใช้งาน 

– มีระบบอื่นๆ ที่ต้องการนำมาเชื่อมต่อกับ ERP หรือไม่ 

  1. ความคุ้มค่าจากการลงทุน (ROI)  

การประเมินความคุ้มค่าจากการลงทุนในระบบ ERP สามารถประเมินเบื้องต้นได้จากหลายแง่มุม เช่น 

– ค่าใช้จ่ายที่ลดลง จากการนำระบบ ERP มาใช้ เช่น ต้นทุนและระยะเวลาที่ลดลงจากการนำกระบวนการอัตโนมัติมาใช้ในการทำงานซ้ำซ้อน หรือค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการจัดการสินค้าคงคลังหรือโลจิสติกส์ที่ดีขึ้น เป็นต้น 

– ขีดความสามารถของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากระบบ ERP เช่น กระบวนการทำงานต่างๆ ของธุรกิจที่รวดเร็ว แม่นยำยิ่งขึ้น การให้บริการลูกค้าที่มีประสิทธิภาพขึ้น หรือการทำรายงาน รวบรวมข้อมูลต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์  

– เกณฑ์การประเมิน ROI ในระยะยาว เช่น ระบบ ERP ใหม่มีความคุ้มค่ามากแค่ไหนหลังผ่านไปแล้ว 1 ปี หรือ 5 ปี  

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่ธุรกิจอาจต้องพิจารณาเพิ่มคือ Total Cost of Ownership (TCO) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดต้นทุนที่เกี่ยวข้องตลอดการใช้งานระบบหรืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น  

– ค่า Software License โดยซอฟต์แวร์ ERP ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายแบบรายเดือนหรือแบบ Software as a Service (SaaS) 

– ค่าใช้จ่ายในการวางระบบ ซึ่งอาจครอบคลุมตั้งแต่ค่าบริการให้คำปรึกษา สิ่งที่จะส่งมอบ และการปรับแต่งระบบให้เหมาะกับความต้องการของธุรกิจแต่ละราย  

– ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ หรือ Cloud hosting  

  1. พาร์ทเนอร์ในการวางระบบ ERP 

พาร์ทเนอร์ที่เหมาะสมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการวางระบบ ERP ให้ประสบความสำคัญ โดยการวางระบบและปรับแต่งระบบ ERP ให้ตรงตามความต้องการของธุรกิจมากที่สุด พาร์ทเนอร์ต้องมีทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงเทคนิค รวมไปถึงการช่วยสนับสนุนในด้านต่างๆ หลังการ Go Live หรือขึ้นระบบให้กับธุรกิจแล้ว

Sources: 

21 มกราคม 2568

By Bluebik