fbpx
บทความ 5 กุมภาพันธ์ 2020

“ปรับตัวไว ใช้เทคโนโลยีเป็น” เพิ่มโอกาสสู่ยอดพีระมิดในกลุ่มธุรกิจอสังหา

ในยุค Digital Disruption ไม่ได้มีแค่ความท้าทาย แต่เป็นโอกาสสำหรับผู้ที่รู้จักนำเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แม้ว่าจะมีหลายต่อหลายเสียงกระซิบบอกว่า Digital Disruption ยังไม่ส่งแรงสะเทือนต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากนัก แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเองก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งหมวดอุตสาหกรรมที่มีโอกาสใหม่ๆซ่อนอยู่มากมาย ฉะนั้นการนำเทคโนโลยียุคดิจิทัลเข้ามาช่วยอุดช่องว่างการทำงานแบบเดิม ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขั้นตอนการทำงานให้สะดวกขึ้น เร็วขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในระยะยาว เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเราสามารถนำเทคโนโลยีเข้าปรับใช้ในธุรกิจอสังหาฯ ได้เกือบทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การจัดสรรที่ดิน (Land Acquisition) การพัฒนาโครงการ (Project Development ) การขายและการตลาด (Sales & Marketing ) รวมไปถึงการบริการหลังการขาย (After Sale Service)  

“จัดสรรที่ดินแบบใหม่ โอกาสทำกำไรสูงกว่า”  

จากเดิม การเลือกซื้อที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย จะถูกยึดโยงกับการตัดสินใจของกลุ่มผู้บริหารเพียงไม่กี่คนที่มีความสามารถในการประเมินและมีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งการจัดสรรที่ดินลักษณะนี้มีข้อเสียคือ เมื่อบุคลากรเหล่านี้ย้ายงาน หรือเกษียณอายุไปแล้ว องค์ความรู้ในการพิจารณาที่ดินขององค์กรย่อมหายไปจากองค์กรด้วย ขณะเดียวกันการพิจารณาจัดสรรที่ดินด้วยคนเพียงบางกลุ่ม ทำให้การวิเคราะห์ไม่ได้ครอบคลุมครบทุกมิติ และมีโอกาสผิดพลาดได้ 

ปัญหาเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลง เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การใช้ AI และ Big Data ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในการจัดสรรที่ดินแทนมนุษย์ เนื่องจาก AI สามารถเรียนรู้และจดจำประสบการณ์ของคนที่เลือกซื้อที่ดินจากข้อมูลเดิม อีกทั้งนำข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินที่สนใจซื้อมาพิจารณาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ดินบริเวณใกล้เคียง สิ่งอำนวยความสะดวก รถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อถึงบริเวณที่จะสร้าง โดยนำมาประกอบกับมูลค่าที่ดิน ทั้งราคาประเมินจากภาครัฐ ราคาประเมินจากกลุ่ม Marketplace จากนายหน้าซื้อขายที่ดิน  รวมถึงข้อมูลความสนใจของลูกค้า มาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าที่ดินที่หมายตาไว้ เหมาะสมที่จะสร้างโครงการลักษณะใด แนวโน้มการตอบรับจะเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการพิจารณาด้วยมนุษย์ ที่สำคัญที่สุดคือการนำ AI มาทำหน้าทีช่วยตัดสินใจในการจัดสรรที่ดิน ทำให้องค์กรไม่เสียโอกาสด้านทรัพยากรข้อมูล เนื่องจากองค์ความรู้ ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการพิจารณาจัดสรรที่ดิน จะถูกสะสมไว้เป็นแพทเทิร์นขององค์กรที่สามารถใช้งานต่อ และเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ 

“คัดสรร Supplier จาก Big Data คุณภาพตรงใจ ไม่เปลืองต้นทุน”  

หลังจากที่ได้ดินที่เหมาะสมแล้ว เข้าสู่ขั้นตอนที่สองคือการดำเนินโครงการ (Project Execution & Delivery) ซึ่งต้องอาศัยผู้รับเหมาเข้ามาช่วยในการสร้างและพัฒนาโครงการ ปัญหาของการคัดเลือกผู้รับเหมาแบบเดิม คือ ความเสี่ยงด้านคุณภาพที่ต้องแบกรับโดยเฉพาะการเปลี่ยนผู้รับเหมาเจ้าใหม่ เนื่องจากจะยากที่รู้ถึงฝีมือและความรับผิดชอบในการทำงานได้ในครั้งแรก 

ปัจจุบัน AI และ Big Data สามารถเข้ามาอุดรูรั่วของปัญหา ช่วยลดความเสี่ยง และช่วยสรรหา ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพตามความต้องการผ่านการวิเคราะห์ผลงานของผู้รับเหมาที่ผ่านมา คำติชมจากผู้ว่าจ้างก่อนๆจะช่วยช่วยตัดสินใจได้ว่าจะทำการจ้างผู้รับเหมาเดิมหรือผู้รับเหมาใหม่ แบบใดจะมีความคุ้มค่ากว่ากัน  

นอกจากนี้ยังสามารถช่วยประเมิน Demand และ Supply ของวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ต้องการใช้สอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งช่วยควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถคาดการณ์ช่วงเวลาที่ควรซื้อวัสดุก่อสร้างที่คุ้มค่าที่สุดได้ 

“ใช้ Big Data วิเคราะห์ลูกค้าแม่นยำ ทำตลาดได้ตรงจุด” 

ขั้นตอนที่สาม ทำการตลาดและการขาย (Sales and Marketing) เป็นส่วนสำคัญที่จะสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดมากกว่าการทำตลาดแบบออฟไลน์เพียงอย่างเดียว เช่น บิลบอร์ด ใบปลิว แต่ปัจจุบันสามารถทำการตลาดแบบออนไลน์ซึ่งเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ทำให้เข้าถึงลูกค้ามากกว่า ใกล้ชิดกว่า ยิ่งไปกว่านั้นคือสามารถเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ว่ากิจกรรมทางการตลาด หรือโฆษณาแต่ละครั้ง มีผลตอบรับจากลูกค้ามากน้อยเพียงใด ทำให้สามารถประเมิน Conversion Rate ที่ได้รับว่าคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปหรือไม่ 

ในทางเดียวกันเทคโนโลยีเหล่านี้ ช่วยนำไปสู่การตัดสินใจซื้อบ้านหรือคอนโดจากโครงการ ผ่านการนำเสนอขายที่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าผ่านเว็บไซต์ซึ่งมีจุดศูนย์กลางคอยให้บริการด้านต่างๆ การนัดหมายเพื่อเข้าเยี่ยมชมโครงการ การติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลืออื่นๆผ่านสื่อออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งการนำข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่สนใจโครงการมาผสมผสานกับการทำการตลาดที่สร้างสรรค์ จะสามารถเสนอบริการที่ตรงความต้องการ รวมถึงทำโปรโมชั่นให้ตรงกับ Lifestyle ของลูกค้าแต่ละรายได้อย่างดี 

“เปลี่ยนลูกค้าเก่าเป็นลูกค้าใหม่ เปลี่ยนคนที่แค่สนใจให้กลายเป็นลูกค้าในอนาคต” 

ขั้นตอนที่สี่ บริการหลังการขาย และการบริหารจัดการทรัพย์สิน (After Sales Service & Asset Management) เป็นขั้นตอนที่นำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมายึดโยงลูกค้าเข้ากับธุรกิจที่นำไปสู่การเสนอขายในครั้งต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

จากสถิติเดิม คนที่เข้ามาดูบ้านหรือคอนโด 100 ราย จะมีการจองเกิดขึ้นจริงเฉลี่ยเพียง 15-20 ราย ซึ่งการนำ Big Data มาวิเคราะห์ความต้องการของว่าที่ลูกค้ากลุ่มนี้ จะทำให้รับรู้เหตุผลที่ลูกค้ายังไม่ตัดสินใจซื้อ ทำให้ฝ่ายขายสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการโน้มน้าวลูกค้าได้อย่างตรงจุด การใช้ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ลูกค้ามีโอกาสตัดสินใจจองและซื้อสูงขึ้นกว่าเดิม  

นอกจากกระบวนการเบื้องหลังธุรกิจอสังหาฯ แล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ยังเข้ามามีบทบาทกับผู้อยู่อาศัย เช่น การพัฒนาสมาร์ทโฮม สมาร์ทคอนโด ที่นำเทคโนโลยี IoT เชื่อมต่ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถเก็บข้อมูลการทำงานของอุปกรณ์เหล่านั้นมาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการได้ เช่น ข้อมูลการเปิด-ปิดไฟ สามารถนำมาพิจารณาเวลา เปิด-ปิดไฟให้ผู้อยู่อาศัยได้อย่างอัตโนมัติ หรือการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อใช้ในการวางแผนซ่อมบำรุงตามอายุการใช้งานที่เหมาะสมได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้สามารถซ่อมอุปกรณ์นั้น ๆ ในช่วงเวลาที่ไม่กระทบผู้อาศัยอีกด้วย 

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีแทรกอยู่ทุกจังหวะของธุรกิจแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล ในทางตรงกันข้ามหากผู้บริหารองค์กรมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา และมองเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถคว้าโอกาสใหม่ๆ ในมหาสมุทรธุรกิจอสังหาฯ ได้