องค์กรต้องปรับยุทธศาสตร์ทุกมิติเพื่อเร่งทรานสฟอร์มรับบรรทัดฐานใหม่ของโลกธุรกิจ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังทวีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก เศรษฐกิจทั้งระบบก็ได้รับผลสะเทือนไม่แพ้กัน นี่ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นฝันร้ายเพราะอีกหลายเดือนต่อจากนี้เศรษฐกิจทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัว
องค์กรธุรกิจจึงต้องเร่งออกมาตรการรับมืออย่างเข้มข้นเพื่อประคับประคององค์กรและพนักงาน สิ่งแรกๆที่เราเห็นคือการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนและปรับลดค่าใช้จ่ายลง รวมทั้งให้น้ำหนักการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นสำหรับพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเป็นผู้นำตลาด
สถานการณ์โควิดและหลังโควิดจะเป็นปัจจัยหลักในการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมหาศาลชนิดที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ (Disruptive Change) ต่อเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมส่วนบุคคลให้ต่างจากเดิมอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งทักษะการทำงานหลายๆ อย่างจะเปลี่ยนแปลงไป เพียงแค่ทุ่มเทหรือทำงานเก่งอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องมีความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งให้ทั้งบุคลากรและองค์กรธุรกิจต้องลุกขึ้นมาปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และหากการดำเนินธุรกิจไม่เริ่มปรับตัวและพัฒนาทักษะบุคลากรให้ทันตั้งแต่วันนี้ อาจจะสายเกินไปและส่งผลเสียต่อองค์กรและผลประกอบการในอนาคต ฉะนั้นองค์กรต้องปรับยุทธศาสตร์ในทุกมิติเพื่อเร่งทรานสฟอร์มรับบรรทัดฐานใหม่ของโลกธุรกิจ (New Business Normal) หลังโควิดจบ
ปรับ Mindset รับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปหนุนองค์กรรอด
การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ ส่งผลให้การทำงานภายในองค์กรแบบเดิมๆเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากองค์กรต้องการทักษะการทำงานใหม่ๆที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ทว่าหลายๆองค์กรอาจประสบปัญหาไม่สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะบุคลากรปรับตัวไม่ทันหรือไม่ยอมปรับตัว
และเมื่อองค์กรต้องการที่จะ Transform ตัวเอง สิ่งที่ต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญเพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จ คือ การบ่มเพาะในเรื่องการพัฒนาคนและปรับทัศนคติใหม่ให้บุคลากรพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเทคโนโลยีไม่ใช่การคุกคามหรือเป็นอุปสรรค แต่เป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยี โดยวิธีในการปรับ Mindset เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ของคนในองค์กรในช่วงที่ต้องก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลง มีหลายหลายวิธี อาทิ
1. ออกแบบแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงด้วยการให้รางวัลหรือผลตอบแทน (Incentive) ที่จับต้องได้ – การกระตุ้นหรือการใช้สิ่งจูงใจจะทำให้บุคลากรเกิดพฤติกรรมที่เต็มใจและกระตือรือร้นเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ฉะนั้นองค์กรควรจัดทำแผนหรือโปรแกรมต่างๆในการจูงใจเพื่อให้เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลง อาทิ เงินรางวัล คะแนนพิเศษ โบนัส ฯลฯ
2. โน้มน้าวพนักงานให้เกิดความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง – ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจและให้ความรู้กับบุคลากรว่าทำไมถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน โดยพวกเขาต้องร่วมทัพเดินหน้าไปด้วยกันกับเป้าหมายและวิธีการใหม่ขององค์กร
3. ส่งเสริมทักษะบุคลากรให้พร้อม – องค์กรจำเป็นต้องดูแลและสร้างคนทำงานที่พร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการลงทุนในเรื่องของการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน องค์กรอาจเลือกวิธีพัฒนาบุคลากรผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจโดยให้พนักงานทดลองปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างเหมาะสม
4. ปรับองค์กรให้มีความยืดหยุ่น โดยแยกส่วนงานที่ต้องเฟ้นหานวัตกรรมใหม่ออกมาจากบริษัทหลัก – ปัจจุบันการทำงานจำเป็นต้องการความรวดเร็วและยืดหยุ่นเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาหรือเฟ้นหานวัตกรรมใหม่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ฉะนั้นจึงเห็นการจัดตั้งองค์กรย่อยเฉพาะขึ้นมาเพื่อรับมือกับ Disruption ตัวอย่างเช่น SCB10X ที่แยกออกมาจาก SCB เพื่อลงทุนและพัฒนาธุรกิจด้าน Digital Technology หรือ Kbank จัดตั้ง KBTG เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในหมวดของ Fintech รวมทั้ง SCG ที่ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนจัดตั้ง SCG-CAS ICCB Innovation Hub เพื่อขยายขอบเขตในการค้นคว้าและวิจัยด้านเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาด
ทักษะที่จำเป็นของบุคลากรในยุคธุรกิจที่มีความผันผวนสูง
บางองค์กรอาจคิดว่าบุคลากรของตนมีความพร้อม มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่นั่นไม่อาจการันตีได้อีกต่อไป เพราะทักษะหรือองค์ความรู้ในอดีตอาจไม่เพียงพอสำหรับอนาคต
จากผลการวิจัยของ World Economic Forum ในอาเซียนพบว่าอายุไขความรู้ในปัจจุบันอยู่ที่ 9 ปี หมายความว่าหลังจากปีที่ 9 ความรู้ที่มีอยู่ในวันนี้อาจไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปในอนาคต ทำให้หลายองค์กรเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับทักษะที่ชื่อว่า Life-long learning มากขึ้น
ทักษะดังกล่าวรวมถึงเรื่องการยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลว การสร้างวัฒนธรรมให้บุคลากรกล้าที่จะก้าวออกจาก Comfort zone ของตัวเองมาทำสิ่งใหม่ เช่น Google ให้รางวัลโครงการนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในบริษัท แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นการบอกกับพนักงานทางอ้อมให้กล้าออกมาทำอะไรใหม่ๆ แม้มันจะล้มเหลวก็ตาม และเลือกที่จะยอมรับมันควบคู่ไปกับการเรียนรู้จากความล้มเหลว
นอกจากนั้น ทักษะที่สำคัญในยุคที่การเปลี่ยนแปลงต้องเคลื่อนเป็นขบวนคือ ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น พร้อมที่จะเปิดใจและรับฟังสิ่งที่แตกต่างจากความคิดของตนเองอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามการเสริมสร้างและปลูกฝังเรื่องของ Life-long learning นั้นยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับหลายองค์กร เพราะโดยธรรมชาติของคนทั่วไปจะชอบในสิ่งที่คุ้นเคย และกลัวการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งขององค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลานานในการสร้างวัฒนธรรมและทักษะที่จำเป็นสำหรับคนในองค์กรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน