fbpx
บทความ 2 กุมภาพันธ์ 2022

5 Initiatives ดันการทำ Digital Transformation สำเร็จ ทลายขีดจำกัดองค์กร ปลดล็อกการเติบโตแบบก้าวกระโดด

อิทธิพลช่องทางออนไลน์ ส่งผลต่อทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและปัจจัยแวดล้อมในการทำธุรกิจ เผยเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลปี 2022 หรือ Digital Transformation เพื่อปลดล็อกศักยภาพการเติบโตขององค์กร ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (AI-driven Advanced Analytics) 2. การย้ายโครงสร้างระบบขึ้นไปบนคลาวด์ (Cloud Migration) 3. การสร้างประสบการณ์ลูกค้าให้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน (Unified Experience) 4. การบริหารจัดการทำงานแบบ Agile และ 5. การปรับรูปแบบธุรกิจให้เป็นแบบ Decentralized Business Model

ปัจจุบันช่องทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของและการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ จึงทำให้ธุรกิจต้องมุ่งสู่การปรับให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ

โดยทั่วไปแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ประกอบด้วย 3 ขั้นหลักๆ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนถ่ายการเก็บข้อมูลมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) ถัดไปคือการปรับกระบวนการทำงานขึ้นมาอยู่บนระบบดิจิทัล (Digitalization) เช่น การเอาระบบ ERP, CRM มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และขั้นที่สามคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างจุดแข็งให้องค์กร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ (Digital Transformation)   

อย่างไรก็ตาม การทำ Digital Transformation ไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นแบบครั้งเดียวจบ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) ธุรกิจจึงต้องปรับตัวอยู่เสมอ

ในปี 2022 บลูบิค มองว่า 5 เทรนด์ที่จะขับเคลื่อนการทำ Digital Transformation ประกอบด้วย 1. การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (AI-driven Advanced Analytics) 2. การย้ายโครงสร้างระบบขึ้นไปบนคลาวด์ (Cloud Migration) 3. การสร้างประสบการณ์ลูกค้าให้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน (Unified Experience) 4. การนำหลัก Agile มาบริหารจัดการองค์กร (Agile at Scale) และ 5. การปรับรูปแบบธุรกิจสู่การกระจายอำนาจการตัดสินใจ (Decentralized Business Model)

1. การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (AI-driven Advanced Analytics)

การนำ AI และ Machine Learning มาใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มปรากฎให้เห็นมากขึ้น และกำลังเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง เพราะสามารถยกระดับศักยภาพองค์กรได้อย่างมหาศาล โดยธุรกิจควรเริ่มพิจารณาการนำ Machine Learning ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของ AI มาใช้งาน เพื่อเทรนโมเดลวิเคราะห์ข้อมูลให้ฉลาดขึ้นและแม่นยำยิ่งขึ้นในยุคที่รูปแบบข้อมูลมีความหลากหลาย เช่น ข้อความ วิดีโอ เสียง เพื่อแปลงข้อมูลให้เข้าใจง่ายและนำไปต่อยอดธุรกิจได้ง่ายขึ้น

ในต่างประเทศ ธุรกิจการเงินเป็นตัวอย่างที่เอา Machine Learning มาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงและประกอบการตัดสินใจ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากวิดีโอ เพื่อดูการแสดงสีหน้าท่าทางของลูกค้า ให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้นของลูกค้าแต่ละราย

2. การย้ายโครงสร้างระบบขึ้นไปบนคลาวด์ (Cloud Migration)

ในยุคที่การทำธุรกิจเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การย้ายโครงสร้างระบบ แหล่งเก็บข้อมูล หรือการดำเนินงานไปไว้บนคลาวด์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของธุรกิจได้ โดยเฉพาะในแง่ของค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่ต้องลงทุนก้อนใหญ่     รอบเดียว แล้วเสี่ยงเกิดต้นทุนจม (Sunk cost) แต่สามารถเลือกจ่ายค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์รายเดือนบนระบบคลาวด์ได้ ไม่เพียงเท่านั้น การใช้คลาวด์ยังสามารถปรับลดความต้องการใช้งานได้ง่าย ยืดหยุ่นเหมาะกับความต้องการธุรกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยในปัจจุบัน ระบบคลาวด์มีหลายตัวเลือก ได้แก่ การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและระบบจัดเก็บข้อมูล หรือทำหน้าที่แทน server (Infrastructure-as-a-Service) หรือ IaaS การให้บริการด้านแพลตฟอร์มสำหรับซอฟต์แวร์ (Platform as a Service) หรือ PaaS การให้บริการซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน (Software as a Service) หรือ SaaS

สำหรับเทรนด์ที่เกือบทุกธุรกิจกำลังมุ่งไปคือ Hybrid Cloud ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมกับการใช้ระบบคลาวด์ เนื่องจากความต้องการเก็บข้อมูลบางส่วนที่ไว้กับองค์กร (On premise) ทั้งด้วยเหตุผลเรืองความปลอดภัยหรือข้อกำหนดบางประการ ควบคู่กับการใช้คลาวด์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความรวดเร็วในการทำธุรกิจ  

3. การสร้างประสบการณ์ลูกค้าให้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน (Unified Experience)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจกำลังเผชิญความท้าทายในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการมีหลากหลายช่องทาง ทั้งออนไลน์ ที่มีทั้งอี-คอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ หรือร้านค้าออฟไลน์ที่คนยังไปจับจ่ายซื้อสินค้า ซึ่งให้ประสบการณ์ใช้งานที่ไม่เหมือนกัน และผู้บริโภคเองรับรู้ข่าวสารข้อมูลที่ต่างกันด้วย ส่งผลให้เกิด Channel Complexity ที่สร้างความสับสนและต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพราะถ้าจัดการไม่ดีธุรกิจอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่เหมาะสมให้ลูกค้า ส่วนลูกค้าเองก็มีความต้องการมากขึ้น ความคาดหวังสูงขึ้น ธุรกิจจึงต้องสามารถตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้

ดังนั้นการสร้าง Unified Experience จึงกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์ลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการในทุกช่องทาง (Unified-channel) ต่างจากปัจจุบันที่เพียงขยายช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย (Omni-channel) ธุรกิจจึงต้องเริ่มจากการลงทุนสร้างระบบเก็บข้อมูลที่ดี เพื่อเก็บข้อมูลให้ได้ในทุก Touchpoint   

4. การนำหลัก Agile มาบริหารจัดการองค์กร (Agile at Scale)

การทำธุรกิจยุคใหม่ไม่ใช่แค่ต้องเร็ว แต่ต้องยืดหยุ่นด้วย เนื่องจากโลกและความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไว สิ่งที่เคยทำแล้วได้ผลลัพธ์ดีในอดีต อาจใช้ไม่ได้กับปัจจุบันอีกต่อไป ดังนั้นการนำหลัก Agile มาปรับใช้กับการดำเนินงานจึงมีความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่สำหรับงานโปรเจ็กต์เดียว แต่ขยายครอบคลุมทั้งองค์กร (Agile at Scale) เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ทันความต้องการของตลาด และยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยนเมื่อเกิดเทรนด์ใหม่ๆ

จุดเริ่มของ Agile ต้องเริ่มต้นที่การปรับ Mindset ของพนักงานในองค์กร กระตุ้นให้กล้าทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และเก็บฟีดแบกไปพัฒนาต่อ รวมไปถึงการวางโครงสร้างทีมให้สามารถทำงานอย่างรวดเร็ว โดยให้ผู้รับผิดชอบงานแต่ละส่วนที่ต่างกัน มาอยู่ทีมเดียวกัน และแบ่งงานออกเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อส่งมอบงานไปทีละขั้น 

5. การปรับรูปแบบธุรกิจให้เป็นแบบ Decentralized Business Model

เมื่อโลกเปลี่ยนไป รูปแบบโครงสร้างองค์กรแบบรวมศูนย์ (Centralized Model) อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเท่ากับในอดีต ทำให้องค์กรควรเริ่มปรับรูปแบบธุรกิจให้เป็นแบบ Decentralized ซึ่งเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ของธุรกิจเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัว และปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว โดย Decentralized Business Model สามารถช่วยลดตัวกลางและขั้นตอนการทำงานต่างๆ ลง จากเดิมที่ต้องรอการตัดสินใจจากบุคคลเดียว ไปเป็นการกระจายให้ผู้ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจึงทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และทันสถานการณ์

ปัจจุบัน เทคโนโลยีบล็อกเชนเอื้อต่อการนำ Decentralized Business Model มาปรับใช้งานจริงกับองค์กร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ Decentralized Finance หรือ DeFi ระบบที่ช่วยตัดตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินออกไป และลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ซึ่งเปิดให้คนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินและตัวเลือกการลงทุนใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้งาน Smart Contract หรือสัญญาอัจฉริยะ โดยเขียนโค้ดหรือโปรแกรมให้สามารถทำงานได้ตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ตั้งเอาไว้ได้อย่างเที่ยงตรง ว่องไว และเชื่อถือได้

ทั้งนี้ 5 เทรนด์ที่กล่าวมาข้างต้นกำลังเป็นที่จับตาเพื่อต่อยอดไปสู่การทรานส์ฟอร์มได้อย่างเต็มรูปแบบ          แต่จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการวางกลยุทธ์ ธุรกิจต้องลองพิจารณาดูว่า สามารถนำเทรนด์เหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมเพื่อปลดล็อกขีดจำกัดการทำธุรกิจและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต