fbpx
บทความ 23 พฤศจิกายน 2023

เปิดสูตรกลยุทธ์ ESG สร้างมูลค่าควบคู่การเติบโตอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจ

เป็นที่ทราบกันดีว่า Generation Y หรือมิลเลนเนียล ที่มีอยู่ราว 1,800 ล้านคน ครองสัดส่วน 23% ของจำนวนประชากรทั่วโลก เป็นกลุ่มคนที่มีทรงอิทธิพลทั้งในแง่ของแรงงานและกำลังซื้อ และอีกไม่นานเกินรอกลุ่ม Generation Z ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของโลก ที่ปัจจุบันมีจำนวนถึง 2,200 ล้านคนหรือราว 26% ของประชากรโลกทั้งหมดจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลกและธุรกิจในอนาคต 

อิทธิพลในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนมือจากคนยุค Baby Boom เป็น Youth Boom กำลังกดดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เท่าทันกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วของ Gen Y และ Z จึงไม่น่าแปลกใจที่กระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกลายเป็นพันธกิจที่องค์กรธุรกิจต้องเร่งลงมือทำในช่วงที่ผ่านมา ผนวกกับการเข้าสู่ภาวะปกติของภาคธุรกิจ  หลังวิกฤตโรคโควิด-19 ทำให้เกิดแข่งขันมากขึ้น ตอกย้ำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ทวีความรุนแรง ทำให้องค์กรธุรกิจต้องหันมาใส่ใจด้าน ESG อย่างจริงจังหากต้องการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

จากรายงานของ Morningstar U.S. Sustainability Leaders Index ในปี 2021 เปิดเผยว่า บริษัทที่มีคะแนนยอดเยี่ยมด้าน ESG สามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 33.3% (YoY) และสูงกว่าผลประกอบการโดยเฉลี่ยของธุรกิจในสหรัฐอเมริกาถึง 8% โดยรายงานดังกล่าวนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ Deutsche Bank ที่ระบุว่าผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับเรตติ้งด้าน ESG อยู่ในระดับสูง สามารถเติบโตเหนือตลาดทั้งในระยะกลาง (5 ปี) และระยะยาว (5 ถึง 10 ปี) 

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงด้านกลยุทธ์ การบริหารจัดการ กระบวนการ รวมถึงรูปแบบการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งมนุษย์และเทคโนโลยีถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอด การมีบทบาทและตัวตนในโลกแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืน 

กลยุทธ์ด้าน ESG คืออะไร?

การใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Environmental Concern) การสนับสนุนความยั่งยืนของสังคม (Social Sustainability) และการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมภิบาล (Corporate Governance) เป็น 3 แกนหลักด้านความยั่งยืนที่เป็นหัวใจของธุรกิจในยุคปัจจุบันและเชื่อมโยงกับ UN Sustainable Development Goals อีก 17 ข้อโดยตรง ด้วยเหตุนี้ นโยบายด้าน ESG จึงเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่นักลงทุนทั่วโลกใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าลงทุนในบริษัทต่าง ๆ รวมถึงเป็นหัวข้อสำคัญในการปรับกลยุทธ์ธุรกิจที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

แล้วหากองค์กรต้องการริเริ่มวางกลยุทธ์ด้าน ESG จะมีแนวทางเบื้องต้นอย่างไรบ้าง ในการจัดทำกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจ (Business Model) บนโลกดิจิทัลที่สามารถเชื่อมต่อโลกออนไลน์กับออฟไลน์ (O2O2O Seamlessness) ได้แบบไร้รอยต่อนั้น จำเป็นต้องพิจารณาทุกแง่มุมของ ESG โดยเฉพาะการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจ เพื่อระบุและจัดลำดับประเด็นที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งด้านบวกและลบ โดยองค์กรที่มี ESG Proposition ที่แข็งแรงจะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ธุรกิจ (Business Impact) อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 

1.) การสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น (Shareholder Value Creation)

  • เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจจากการดึงดูดนักลงทุน มีกองทุนจำนวนมากที่เลือกลงทุนในธุรกิจที่มีการดำเนินนโยบายด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าธุรกิจที่ไม่มีนโยบายด้าน ESG 

2.) การสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม (Social Value Creation)

  • เป็นการกระจายโอกาสไปยังชุมชนรอบข้าง ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) ที่นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังสร้างความภาคภูมิใจและ ความพึงพอใจให้แก่พนักงาน (Employee Satisfaction) ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น
  • การดำเนินนโยบายจ้างงานที่เปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพศ และสถานะทางสังคม จะช่วยดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถและทำให้ประสิทธิผลในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งวัฒนธรรมที่เปิดกว้างยังก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ และนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจและเป็นประโยชน์ต่อสังคม 

3.) การสร้างผลลัพธ์ด้านการเงิน (Financial Performance Improvement)  

  • เป็นการเพิ่มรายได้จากสินค้าและบริการภายใต้แนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ยินดีที่จะซื้อสินค้าและบริการเหล่านี้แม้ว่าจะมีราคาเฉลี่ยสูงกว่าสินค้าปกติก็ตาม  
  • สามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจจากการใชัพลังงานลดลง 

ยกระดับ ‘3 ปัจจัย’ สำคัญปูทางสู่ความสำเร็จด้าน ESG Transformation

แม้การลงมือปฏิบัติตามแผน ESG ของหลายองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดทำเอกสารรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ในมุมมองของ Bluebik นั้น ในแง่ของการวางกลยุทธ์องค์กรหากต้องการสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่า องค์กรจำเป็นต้องกำหนดให้ ESG เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์หลัก พร้อมเปลี่ยนกรอบความคิดและการทำงานตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงพนักงาน (People) รวมถึงรูปแบบของการทำงาน (Process) และเทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ (Technology) ในการทำงานเพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของอนาคต (Future Proofing) 

1.) ผู้บริหารและพนักงาน

การดำเนินการ ESG Transformation ควรเริ่มต้นจากระดับผู้บริหารจนถึงพนักงาน (Top – Down) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์ขององค์กรและกลยุทธ์ (Business Objective Driven) โดยผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้กำหนดวาระองค์กรด้านความยั่งยืน (ESG Agenda) และให้ความสำคัญกับการช่วยสนับสนุนให้แผนงานประสบความสำเร็จเป็นหลัก เพื่อให้การใช้ทรัพยากร การวางแผน การดำเนินการ การติดตามผลและการปรับปรุงเป็นไปอย่างบูรณาการ สามารถถ่ายทอดวาระดังกล่าวนี้ให้กับผู้บริหารลำดับถัดไปจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ ในการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับสอดแทรกผลลัพธ์จากการปฏิบัติตามแผนงานด้าน ESG ให้เป็นหนึ่งในการวัด Key Performance Indicator – KPI ของแต่ละบุคคลด้วย 

2.) กระบวนการ

ในกระบวนการทำ ESG Transformation ควรเริ่มจากการกำหนดกรอบการทำงาน (Framework) ครอบคลุมตั้งแต่วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทางการดำเนินงาน และวิธีการวัดผล เพื่อให้กระบวนการทำ ESG Transformation สามารถเชื่อมโยงกับกลยุทธ์หลัก ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด 

การเผชิญกับข้อแย้งระหว่างการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Value Creation) กับผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder’s Value Creation) เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในกระบวนการทำ ESG Transformation ตัวอย่างเช่น แนวทางการสร้างกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น อาจสวนทางกับการให้ผลตอบแทนระดับสูงกับพนักงานที่มีความสามารถ เป็นต้น ดังนั้นการสร้างสมดุลจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้การสร้างมูลค่าจากแผนงานด้าน ESG ควรวัดผลเชิงปริมาณได้อย่างชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการเปลี่ยนผ่านด้าน ESG ในมิติต่างๆ

3.) เทคโนโลยี

การเลือกใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยด้านบุคลากรและกระบวนการ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีหรือปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงควรพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology) สามารถดำเนินการได้ใน 3 ด้านด้วยกัน 

  • การทำงานภายในองค์กร

การเลือกใช้เครื่องมือ ฮาร์ดแวร์ หรือโซลูชันที่เหมาะสม จะส่งผลให้องค์กรสามารถสร้างผลลัพธ์ (Output) ออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น การโยกย้ายกระบวนการทำงานไปอยู่บนระบบคลาวด์ (Cloud-based Architecture) ที่สามารถปรับลดการใช้งานได้ตามความต้องการ เพิ่มความสะดวกในการแชร์ทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กร ทำให้ช่วยลดการใช้พลังงานมากกว่าบนระบบแบบ On-premises 

  • การดำเนินงานของธุรกิจ 

Sustainable Technology ช่วยให้องค์กรใช้พลังงานและทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น ลดการปล่อยมลภาวะ และสร้างแนวทางการจ้างงานที่เป็นธรรม เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) มาลดภาระการทำงานซ้ำซากที่เดิมใช้เวลาการทำงานยาวนาน ไปจนถึงการผสมผสานการใช้เทคโนโลยี Advanced Analytics และ AI มาสร้างโมเดลคำนวณแนวทางลด Carbon Footprint ให้น้อยลงที่สุดโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน เป็นต้น 

  • การนำเสนอสินค้าและบริการให้ลูกค้า

Sustainable Technology เปิดโอกาสในการออกแบบสินค้าและบริการที่ตอบสนองเรื่องความรักษ์โลกของลูกค้าได้ ตัวอย่างเช่น ลูกค้าอยากใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขณะที่ต้องการวัสดุคุณภาพดีและราคาไม่แพง การนำ Sustainable Technology มาใช้ สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิตของสินค้าดังกล่าวลงได้ โดยที่ยังคงคุณภาพของวัสดุได้ดังเดิม  แม้ ESG จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในสปอร์ตไลท์ความสนใจของธุรกิจทั่วโลกในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาและนับจากนี้จะมีการผลักดันนโยบายด้าน ESG ทั้งในระดับประเทศและองค์กรอย่างจริงจัง เห็นได้จากกระแสที่ผู้บริโภคพร้อมจ่ายเพื่อสินค้ารักษ์โลกมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งนโยบายด้าน ESG ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจในการลงทุน ดังนั้นตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับ การให้เพื่อได้รับของภาคธุรกิจ หรือ Give and Take  เพราะมนุษย์เราเริ่มตระหนักผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเองและต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้น