fbpx
บทความ 6 ธันวาคม 2023

มัดรวมทุกแง่มุม ‘Sustainable Technology’ ที่องค์กรยุคใหม่ห้ามพลาด

หากมองเพียงผิวเผิน ‘Sustainable Technology’ หรือ ‘Green Tech’ กำลังเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงที่พูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงแล้วประวัติศาสตร์ของนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานาน เพียงแต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้เท่านั้นเอง

มนุษย์เรารู้จักใช้พลังงานลมล่องเรือบนแม่น้ำไนล์ตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จุดไฟผ่านแว่นขยายได้ในศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์กาล รวมถึงกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่เหมือนเรื่องใหม่ในโลกยานยนต์ แต่แท้จริงแล้วเรามีรถยนต์ที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เพราะรถแท๊กซี่ที่วิ่งให้บริการใน New York ในช่วงเวลานั้นล้วนแต่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเกือบทั้งสิ้น 

เห็นได้ชัดว่ามนุษย์พยายามหาโซลูชันเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่วันนี้การใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมได้รับความสนใจ และจำเป็นต้องทำมากกว่าที่ผ่านมา โดยมี ‘เทคโนโลยี (Technology)’ เป็นเครื่องมือสำคัญ

Sustainable Technology คืออะไร 

Sustainable Technology คือ การผสมผสานกันอย่างลงตัวของ 2 แนวคิด ที่ประกอบด้วย 1) เทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไข หรือหลีกเลี่ยงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และ 2) เทคโนโลยีที่สนับสนุนแนวคิดรักษ์โลกและความยั่งยืน  

ปัจจุบัน Software Applications เป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยสนับสนุนนโยบายและการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมภิบาลในองค์กร หรือ Environment Social and Governance – ESG ซึ่งการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อความยั่งยืนนั้น เทคโนโลยีต้องสนับสนุนแนวคิดและสอดรับกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร รวมถึงต้องตอบโจทย์ทางธุรกิจอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  • การใช้ซอฟต์แวร์ในกระบวนการทำงาน สามารถช่วยลดการใช้พลังงานและพื้นที่การจัดเก็บ เช่น Energy Management Software – EMS ที่ใช้ในการควบคุมให้การผลิต การส่งพลังงาน รวมถึงให้การใช้พลังงานนั้นเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุดที่เข้ามาช่วยวัดและจัดเก็บการใช้พลังงานภายในองค์กร ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการประหยัดพลังงาน การลดใช้พลังงาน รวมถึงติดตามและดำเนินการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
  • การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถเข้าถึง Insight ของกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ ทำให้บริษัทผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการเฉพาะ ลดความสูญเสียและต้นทุนให้บริษัท 

ข้อดีของการใช้ Sustainable Technology ในองค์กร

ภาคธุรกิจเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุดของโลก ทั้งในแง่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานจำนวนมหาศาลที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และปัญหาขยะล้นโลกโดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่กำลังสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย 

การปรับเปลี่ยนแนวคิดและปฏิบัติจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กรต้องใส่ใจ และลงมือทำเพื่อส่งมอบโลกที่ดีขึ้นให้กับผู้คน และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดย บลูบิค ได้รวบรวมประโยชน์จากใช้ Sustainable Technology ในธุรกิจมาไว้ ณ ที่นี้แล้ว

  1. การยกระดับผลลัพธ์ทางธุรกิจ: การใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะช่วยให้องค์กรสามารถควบคุมการใช้พลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการทำงานจะช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานพร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงและเติบโตในอนาคต
  2. การดึงดูด Top Talent: ไม่ใช่แค่ลูกค้าเท่านั้นที่มองหาสินค้าและบริการแบบรักษ์โลก พนักงงานที่มีความสามารถ (Top Talent) ก็เช่นกัน เพราะคนส่วนใหญ่ล้วนอยากเป็นส่วนหนึ่งของทำให้โลกนี้ดีขึ้น ดังนั้น ธุรกิจที่สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเปลี่ยนผ่านเป็น Green Company จะดึงดูดพนักงานโดยเฉพาะกลุ่ม Tech-Savvy Talent ได้
  3. การกระตุ้นยอดขาย: ปัจจุบันผู้บริโภคมีความคาดหวังสูงมากขึ้น นอกจากสินค้าและบริการที่ดีและโดนใจแล้ว พวกเขายังมองหาผลิตภัณฑ์และบริการจากองค์กรที่มีนโนบายรักษ์โลกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต หรือใช้วัตถุดิบรีไซเคิล เป็นต้น จากรายงานของ Xerox Corporate Social Responsibility Report เปิดเผยว่า บริษัทที่ส่งเสริมแนวคิด ‘รักษ์โลก’ จะเติบโตเร็วกว่าบริษัทที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถึง 28 เท่า
  4. การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร: การใช้ Sustainable Technology เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายด้าน ESG ที่กำลังเป็นกระแสมาแรง เพราะทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ได้แก่ ลูกค้า ภาครัฐ พันธมิตรทางธุรกิจและพนักงาน ต่างต้องการให้องค์กรดำเนินกิจการภายใต้จิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม  
  5. การเพิ่มข้อได้เปรียบให้กับแบรนด์สินค้า: แม้กระแส ‘รักษ์โลก’ กำลังอยู่ในสปอร์ตไลท์ของคนทั่วโลก แต่ยังมีองค์กรหรือแบรนด์สินค้าอีกมากมายที่ยังไม่มีแผนหรือนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นหากองค์กรใดสามารถเริ่มต้นได้ก่อนย่อมสามารถสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจเหนือคู่แข่งได้ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่พร้อมจ่ายแพงขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบโลกที่ดีกว่าเดิมให้ผู้อื่น 

ตัวอย่างเทคโนโลยีที่ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย Sustainable Goals

  • 5G และ Internet of Things – IoT

เครือข่าย 5G สามารถจัดการกับ Data Traffic จำนวนมหาศาลและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงาน นอกจากนั้น การโอนย้ายข้อมูลไปยังแอปพลิเคชัน Cloud-Native 5G ยังช่วยลดการใช้พลังงานและการปล่อย CO2 ในเครือข่าย ยกตัวอย่าง การใช้ 5G เป็นองค์ประกอบสำคัญของ Smart City ทำให้สามารถตรวจสอบและควบคุมทรัพยากรต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ลดปริมาณของเสียและปรับใช้การพลังงานของโรงงานและบ้านพักอาศัยได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

  • Artificial Intelligence –  AI

โมเดล AI สามารถช่วยธุรกิจปรับปรุงการใช้พลังงาน ลดปริมาณของเสีย และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ยกตัวอย่าง โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grids Powered by AI) สามารถบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานของพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกและต้นทุน เช่นเดียวกับเซ็นเซอร์และระบบตรวจสอบที่ใช้ AI  (AI-Powered Sensors and Monitoring Systems) สามารถตรวจจับและบรรเทาความเสียหายจากการรั่วไหลของท่อก๊าซและระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ลดความสูญเสียและการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ เป็นต้น

 นอกจากนี้ AI ยังเป็นนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนอีกด้วย อัลกอริทึมของ Machine Learning – ML สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล เพื่อระบุรูปแบบและคาดการณ์อนาคต ทำให้ผู้บริหารมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น เช่น การใช้ AI ในการวิเคราะห์และตรวจสอบช่วยให้เกษตกรสามารถเพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่าง AppHarvest ใช้ AI และ Computer Vision เก็บข้อมูลเกี่ยวกับธัญพืชและปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการและรสชาติที่ดีที่สุด รวมถึงการใช้หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย และ Blue River Technology ใช้ Machine Vision และ AI แยกธัญพืชออกจากวัชพืช ทำให้ใช้ยาฆ่าวัชพืชได้อย่างแม่นยำและลดการใช้แรงงาน เป็นต้น

  • Blockchain

การใช้เทคโนโลยี Blockchain ช่วยให้การทำธุรกรรมมีความปลอดภัยและโปร่งใส โดยผู้บริหารสามารถตรวจสอบและยืนยันถึงความพยายามในการดำเนินแผนงานด้าน ESG ในระบบซัพพลายเชนขององค์กรและคู่ค้าให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ได้  

นอกจากนี้ Blockchain ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ตรวจสอบความโปร่งใสของการจัดการ Carbon Credit เพราะทุกธุรกรรมของ Carbon Credit บนเครือข่าย Blockchain สามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ และข้อมูลถูกจัดเก็บไว้ในบัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์ ช่วยให้ธุรกิจลดการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง Smart Contract และเครื่องมืออื่น ๆ ของ Blockchain ยังช่วยตรวจสอบ ติดตามและรายงานผลการชดเชยการใช้คาร์บอนฯได้แบบอัตโนมัติ เป็นไปตามมาตรฐานความต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ และทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้เร็วขึ้น

ท่ามกลางวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์มากกว่า 3 ทศวรรษ….เรายังโชคดีมีตัวช่วยอย่าง Sustainable Technology ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนนโยบาย ESG และสร้างผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

 อย่างไรก็ตามการเลือกใช้เทคโนโลยีและแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับพื้นฐานขององค์กร ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้บริหารเพราะการดำเนินนโยบายเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากและต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ