fbpx
บทความ 22 สิงหาคม 2024

เจาะเหตุผล ทำไม Data Governance ไม่เห็นผลจริงในองค์กร

ในการวางกลยุทธ์ข้อมูลและแนวทางบริหารจัดการให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) ถือเป็นรากฐานสำคัญ อย่างไรก็ตาม องค์กรจำนวนไม่น้อยยังคงเผชิญความท้าทายบางประการที่ทำให้การทำ Data Governance ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ซึ่งส่งผลให้ยังคงไม่สามารถนำข้อมูลมาสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจได้จริง

วันนี้ บลูบิค จึงอยากชวนมาดู 4 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Data Governance ยังไปไม่ถึงฝั่ง พร้อมแนวทางเบื้องต้นในการผลักดันให้การกำกับดูแลข้อมูลภายในองค์กรดำเนินการได้จริง 

1.) ขาดการสื่อสารที่ชัดเจนและการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง 

การริเริ่มการทำ Data Governance ควรมีกระบวนการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (Change Management) ครอบคลุมทั้งเรื่องกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย เพราะ Data Governance ไม่ได้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วข้ามคืนแต่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่เฉพาะฝ่ายไอทีเท่านั้น แต่รวมถึงฝ่ายธุรกิจ และทีมข้อมูล หากทุกฝ่ายไม่ได้เข้าใจและมองเห็นภาพเดียวกัน จะเป็นเรื่องยากในการร่วมมือทำงานและทำงานอย่างสอดคล้องกัน 

การมีกระบวนการเรื่อง Change Management ที่ดีจะช่วยลดแรงต้านจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้ในการจัดการข้อมูล และที่สำคัญคือแนวทางทำงานกับข้อมูลที่อาจต่างไปจากในอดีต อย่างการเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูล กระบวนการเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้ เป็นต้น 

2.) ขาดเป้าหมายและตัววัดผลที่ชัดเจน 

Data Governance ยากที่จะเกิดผลลัพธ์จริงในองค์กร หากปราศจากเป้าหมายในการดำเนินงานและตัววัดผลที่ชัดเจน โดยการวัดผลอาจแบ่งออกเป็นในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็น 

  • การวัดผลเรื่องคุณภาพข้อมูล เช่น อัตราความแม่นนำและความถูกต้องของข้อมูล ความเป็นปัจจุบันของข้อมูล 
  • การวัดผลเรื่องแนวทางปฏิบัติ เช่น เปอร์เซ็นต์การปฏิบัติตามแนวทางบริหารจัดการข้อมูล จำนวนเหตสุ่มเสี่ยงกรณีการนำข้อมูลไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น 
  • ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เช่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือการตัดสินใจทางธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน 

3.) ขาดแนวทางปฏิบัติที่ยืดหยุ่น ไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงานของพนักงานในองค์กรจริงๆ 

อีกปัจจัยสำคัญที่มีผลสำเร็จต่อการผลักดัน Data Governance คือแนวทางการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับกระบวนการทำงานของพนักงาน และครอบคลุมกลุ่มพนักงานทั้งหมดในองค์กร เช่น ภาษาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานที่เข้าใจยาก มองไม่เห็นภาพ หรือนิยามต่างๆ เกี่ยวกับข้อมูลที่ซับซ้อน ศัพท์เทคนิคเฉพาะ ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานของพนักงานบางฝ่าย เป็นต้น 

เมื่อแนวทางปฏิบัติไมได้นำไปใช้จริง จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้กระบวนการกำกับดูแลข้อมูลมีประสิทธิภาพและต่อยอดไปสู่การสร้างผลลัพธ์ ดังนั้น กรอบด้าน Data Governance จึงควรมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานจริง เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างครอบคลุม และเมื่อองค์กรเติบโตขึ้น กรอบ Data Governance จึงควรปรับให้รองรับทั้งแหล่งข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  

4.) ขาดทีมผู้ดูแลรับผิดชอบโดยเฉพาะ

การทำ Data Governance เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา มีความซับซ้อน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ดังนั้น องค์กรควรมีการตั้งทีมงานเพื่อมาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็เปรียบเหมือนผู้จัดการโครงการที่จะผลักดันให้การดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จนั่นเอง 

โดยเมื่อมีการจัดตั้งทีมงานแล้ว ควรกำหนดความชัดเจนเรื่องบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบและสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสม ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากครอบคลุมขั้นตอนหลายส่วนทั้งการสร้างและกำหนดบทบาทหน้าที่ด้านการบริหารข้อมูลของบุคลากร การบันทึกสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล และการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลภายในกรอบการบริหารข้อมูล

เช็กลิสต์การทำ Data Governance ฉบับรวบรัด

วางกลยุทธ์และกำหนดเป้าหมายในการนำข้อมูลไปใช้งาน 

การขาดเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำข้อมูลไปใช้งาน ทำให้ขาดทิศทางในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล โดยส่งผลตั้งแต่ทำให้องค์กรเก็บรวบรวมข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งไม่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายของธุรกิจในภาพรวม 

กำหนดนโยบาย บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบ 

การวางแนวทางด้าน Data Governance มีเป้าหมายเพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และบทบาทความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อมูลภายในองค์กรให้ชัดเจน โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามประเภทธุรกิจ เนื่องจากแต่ละองค์กรมีแหล่งที่มาของข้อมูลไม่เหมือนกัน รวมถึงประเภทของข้อมูลที่จัดเก็บและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านข้อมูลก็มีความแตกต่างกัน สำหรับการแนวทางด้าน Data Governance สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1. นโยบายการดูแลข้อมูล (Data Policy) 2. กลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบดูแลจัดการข้อมูล (Data Governance Team) และ 3. กระบวนการจัดการข้อมูล (Process)

สร้างแพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูล 

เพื่อให้มี “Single Source of Truth” ที่รวมศูนย์ข้อมูลในองค์กรไว้ที่เดียวกัน จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสะดวก นำข้อมูลไปใช้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้บริหารและผู้ตัดสินใจมองเห็นภาพรวมและมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจ ทำความเข้าใจเทรนด์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

สร้าง Data-Driven Culture

การสร้าง Data-Driven Culture ต้องทำให้ทุกคนมองว่าข้อมูลคือทรัพย์สินเชิงกลยุทธ์ (Strategic asset) ซึ่งสามารถช่วยสร้างจุดแข็งให้ธุรกิจ เพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเปิดทางสู่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ โดยสิ่งแรกต้องเริ่มที่ Mindset ด้วยการทำให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการนำข้อมูลมาใช้ในกระบวนการทำงานและการตัดสินใจ ควบคู่ไปกับการพัฒนา Skillset ของคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นทักษะการทำความเข้าใจข้อมูลเบื้องต้น หรือวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการนำข้อมูลมาใช้งาน เช่น Data Visualization Tools

Data Governance เริ่มอย่างไร?

แน่นอนว่า การผลักดันให้ Data Governance เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จในระยะยาวย่อมเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่หากมีเป้าหมายและแนวทางที่เหมาะสม การสร้างองค์กรที่เป็น Data-driven ย่อมเกิดขึ้นได้จริง สำหรับธุรกิจที่ต้องการวางกลยุทธ์ด้าน Data & AI เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างการเติบโตให้องค์กร Bluebik มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data & Advanced Analytics ที่สามารถให้บริการตั้งแต่การวางกลยุทธ์ แนวทาง Data Governance ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง การพัฒนาโมเดล AI/ML ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำข้อมูลไปสร้างผลลัพธ์และโอกาสการเติบโตใหม่ๆ 

ติดต่อเราสอบถามหรือปรึกษาเราได้ที่ 

[email protected] 

☎ 02-636-7011

ขอบคุณข้อมูลจาก atlan, montecarlodata, diginomica, informationweek, stibosystems