fbpx
เรื่องราวของเรา 5 ตุลาคม 2021

ถอดรหัสความสำเร็จ “BBIK” IPO กับภารกิจนำพาบริษัทฯ เข้าตลาด

            ก้าวสู่ทำเนียบน้องใหม่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยสำหรับ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทคอนซัลต์ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันรายแรกในตลาด

            ทว่าเบื้องหลังเส้นทางการเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทมหาชนที่หลายคนยังไม่รู้ คือความตั้งใจทุกกระบวนการ จนได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อย่างรวดเร็ว ถือเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่า ธุรกิจดิจิทัลคอนซัลต์รายนี้ ไม่ได้เดินสู่ความสำเร็จแบบบังเอิญหรือโชคช่วย แต่มาจากการเตรียมการอย่างดีนับตั้งแต่ก้าวแรก

            ศรีแพร ธนฐิติพันธ์ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ผู้อยู่เบื้องหลังในความสำเร็จ บอกเล่าถึงประสบการณ์ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาร่วมงานกับบลูบิคว่า หนึ่งในโจทย์สำคัญที่ได้รับมาคือการเตรียมความพร้อมทั้งหมดเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ ตามแนวทางที่ซีอีโอ “พชร อารยะการกุล” วางไว้

           “เป้าหมายของการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีมานับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจ เรารับทราบภารกิจนี้ตั้งแต่เข้ามาร่วมงานในปี 2561 หรือประมาณสามปีก่อน เบ็ดเสร็จแล้วใช้เวลาประมาณปีครึ่งในการเตรียมความพร้อมเริ่มจากศูนย์แล้วค่อยๆ สร้างกันมา ตั้งทีมแบ็กออฟฟิศทั้งหมดที่จำเป็นต้องมี เซ็ตกระบวนการภายใน จัดวางโครงสร้างองค์กรทั้งหมดว่าควรต้องมีแบบไหน รวมถึงการทำบัญชีตามมาตรฐานที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ ถือเป็นการปิดบัญชีเองครั้งแรกหลังจากที่ก่อนหน้านี้ใช้บริษัทภายนอกมาตลอด เป็นมาตรฐานทางบัญชีชุดใหญ่ที่ซับซ้อนและยากยิ่งขึ้น”

            ศรีแพร กล่าวว่า ด้วยเป้าหมายชัดเจนแต่แรก ตนเองและทีมงานจึงเดินหน้าหาข้อมูลกันเองทั้งหมดก่อนว่า สิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการจดทะเบียนมีอะไรบ้าง และเมื่อเซ็ตอัพระบบให้เข้าที่เข้าทางได้แล้วในช่วงเวลาปีครึ่ง จึงแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) เมื่อราวเดือนกันยายนปี 2563 เพื่อให้เข้ามาสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) อย่างจริงจัง เพื่อดูว่าบริษัทยังขาดอะไรอีกบ้าง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเรื่องการปรับโครงสร้าง รวมไปถึงการนำ Internal Audit เข้ามาตรวจระบบภายในที่บริษัทเซ็ตกันขึ้นมาว่าไปได้ถูกทางหรือไม่ เพราะเงื่อนไขของการเข้าตลาดหลักทรัพย์คือ จะต้องไม่พบประเด็นเลยในการตรวจสองรอบทุกสามเดือน เช่นเดียวกับเมื่อเข้าจดทะเบียนแล้ว ก็ต้องได้รับการตรวจสอบแบบต่อเนื่องเพื่อรักษามาตรฐานนี้ไว้

            “เมื่อ Internal Audit เขามาตรวจรอบแรก มีประเด็น 10 กว่าข้อที่เราต้องแก้ไขในเวลาสามเดือน ซึ่งทั้งหมดก็ผ่านไปด้วยดี เรียกว่าไทม์ไลน์ช่วงนั้นค่อนข้างเข้มข้นทีเดียว และเมื่อผ่านการตรวจรอบแรกไปแล้ว ก็ยังต้องได้รับการตรวจสอบสม่ำเสมอโดยไม่ให้มีประเด็นใดเพิ่มเติมมาอีก”

           ในขั้นตอนนี้ เริ่มเห็นวี่แววความสำเร็จที่บ่งชี้การเตรียมพร้อมหลังบ้านอย่างเข้มแข็ง โดยศรีแพรกล่าวว่า ในฐานะที่อยู่ในสายอาชีพ Internal Auditor และ External Auditor ในบริษัทชั้นนำมาก่อน ทั้ง ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) และ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ทำให้รู้ว่าเวลาไปตรวจลูกค้า อย่างไรก็ต้องเจอประเด็นต้องให้แก้ใหม่ การตรวจแล้วไม่เจออะไรเลยนั้นค่อนข้างยาก

            แต่ Internal Audit ที่เข้ามาตรวจบลูบิคและพบ 10 กว่าข้อนั้นถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับ 100-200 ข้อซึ่งมักเจอกันเป็นปกติของการตรวจบริษัทที่เตรียมเข้าตลาด เนื่องจากต้องตรวจสอบกันละเอียดละออทุกขั้นตอน พลิกหน้าทุกเอกสาร ทุกรายละเอียดปลีกย่อย แต่ด้วยระบบที่บริษัทเซ็ตให้เข้าที่เข้าทางไว้แต่เนิ่นๆ เมื่อแก้ประเด็นที่ติดขัดแล้ว เมื่อถูกตรวจซ้ำก็ไม่เคยเจอประเด็นอีกเลย

            “สาเหตุที่กระบวนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ทำได้เร็ว มาจากหลายส่วนประกอบกัน ข้อแรกเลยคือ ทิศทางของผู้บริหารที่ชัดมาก คือต้องเข้าจดทะเบียนให้เร็วที่สุดไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน เราจึงทำงานร่วมกับ FA ภายใต้กรอบนี้เลยว่า ต้องเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เริ่มจากการวางไทม์ไลน์ไว้ แล้ว Work Back กลับมาแต่ละช่วงต้องทำอะไรบ้าง เช่น ต้องแต่งตั้งบอร์ด (คณะกรรมการ) เมื่อไร เพื่อให้บอร์ดอนุมัติให้ทันกรอบเวลา นี่คือสิ่งที่เราวางแผนกันละเอียดมาก โดยต้องไม่มีความผิดพลาดเลยแม้แต่จุดเดียว เพราะหมายถึงอาจต้องขยับออกไปอีกไตรมาส นั่นหมายถึงค่าเสียโอกาสจากความล่าช้า”

            ศรีแพร ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นข้อได้เปรียบที่บริษัทมีขนาดไม่ใหญ่ เมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงจึงไม่มีแรงต่อต้าน ทีมงานที่เป็นกำลังหลักหลังบ้านยังพร้อมที่จะรับความท้าทายนี้แบบเต็มใจ มีการพูดคุยทำความเข้าใจถึงแต่ละขั้นตอนอย่างรัดกุม

            “ในห้องทำงานจะมีกระดาษขนาดใหญ่ติดไว้ให้เห็นเลยว่า ตลอดทั้งปีต้องทำอะไรบ้างในช่วงไหน พนักงานเองก็จะรู้แผนที่ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรในแต่ละเดือน ในทีมมีการสื่อสารและมอนิเตอร์ตลอดว่าช่วงไหนมีประเด็นอะไรที่ต้องระวังมากๆ เช่น เมื่อใกล้เวลาที่ Internal Audit เข้าตรวจสอบ เราต้องโฟกัสมากๆ ต้องเตรียมเอกสารให้เรียบร้อยก่อนที่จะถูกตรวจ”

            นอกจากความพร้อมจากการเซ็ตระบบภายใน อีกปัจจัยสำคัญอย่างการอนุมัติของ ก.ล.ต. ก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยกรุยทางสู่ตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะหลังจากที่บริษัทยื่นไฟลิ่งแล้ว ตามกฎหมายหน่วยงานดังกล่าวมีกรอบเวลาในการทำงานราว 165 วัน แต่กระบวนการดังกล่าวทำได้กระชับมากขึ้นภายในเวลาราว 100 วัน เนื่องจากบริษัทได้เข้าไปขอคำปรึกษาเบื้องต้นกับ ก.ล.ต. ไว้แล้วตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ บอกเล่าให้ฟังล่วงหน้าว่ามีประเด็นอะไรที่ FA ตรวจสอบ แล้วบริษัทแก้ไขไปอย่างไร และรับฟังความเห็นจากหน่วยงานว่ามีประเด็นติดขัดอะไรให้รีบปรับปรุงหรือไม่ ทำให้ยื่นไฟลิ่งได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เรียกว่านับตั้งแต่แต่งตั้ง FA จนยื่นไฟลิ่ง บลูบิคใช้ภายในเวลา 7-8 เดือน ขณะที่ธุรกิจอื่นอาจใช้เวลาเตรียมการนานถึงสองปีสำหรับการผ่านขั้นตอนที่ท้าทายเหล่านี้

            “ความรวดเร็วในกระบวนการจดทะเบียนเข้าตลาด ไม่ได้มาจากความบังเอิญ แต่มาจากการวางแผนไว้แล้วและทำได้ตามเป้านั้น เป้าหมายในการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เราเติบโตได้ตามแผนต่อไป”

           ศรีแพร ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นข้อได้เปรียบที่บริษัทมีขนาดไม่ใหญ่ เมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงจึงไม่มีแรงต่อต้าน ทีมงานที่เป็นกำลังหลักหลังบ้านยังพร้อมที่จะรับความท้าทายนี้แบบเต็มใจ มีการพูดคุยทำความเข้าใจถึงแต่ละขั้นตอนอย่างรัดกุม

Listed Company ยกระดับโอกาสที่มากกว่าเรื่องเงินทุน

           ศรีแพร ย้ำว่า การตัดสินใจเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ให้รวดเร็ว เป็นไปเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ทั้งการได้เงินทุนมาขยายธุรกิจให้เติบโตซึ่งเป็นปัจจัยหลัก

            ทว่าอีกข้อได้เปรียบสำคัญที่ได้มาพร้อมกันคือการทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักของลูกค้ามากขึ้น จากเดิมที่เมื่อนำเสนองานในแวดวงภายนอก อาจมีคำถามว่าบลูบิคเป็นใคร แต่เมื่อบริษัทเข้าตลาดได้ รากฐานชื่อเสียงและความมั่นคงจะชัดเจนมากขึ้น คนทั่วไปสามารถรู้ที่มาที่ไป เพราะการจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้นั้นไม่ใช่ใครก็ทำได้ ขณะที่ปัจจัยเสริมอีกประการที่ทำให้ต้องรีบฉวยโอกาสเข้าตลาดให้เร็วที่สุด คือสร้างปัจจัยดึงดูดพนักงานคุณภาพเข้ามามากขึ้น แทนที่จะไปอยู่กับบริษัทอื่นๆ

            “สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ซีอีโอพูดถึงตลอดว่า นี่คือ Opportunities cost ถ้าเราเข้าตลาดช้าไปนิดเดียว เราอาจเสียโอกาสทางธุรกิจดีๆ ไปแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรก็ได้ที่ต้องเร็วที่สุด”

            เป้าหมายขั้นต่อไปนั้น เริ่มมีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้เมื่อธุรกิจเติบโตในอนาคต เช่น การข้ามไปจดทะเบียนใน SET หรือแสวงหาโอกาสในการจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นๆ แต่อาจเป็นเป้าหมายระยะกลางหรือไกล เพราะบริษัทยังมีภารกิจเฉพาะหน้ารออีกมากหลังจากเพิ่งได้สถานะเป็นธุรกิจป้ายแดงใน mai มาไม่นาน

            และแม้ว่าจะอยู่ในตลาด mai แต่บลูบิคก็ทะลุข้อจำกัดบางประการที่เคยมีมาแล้ว เช่น คำพูดที่ว่าการซื้อขายที่ไม่คึกคักเพราะขาดความสนใจจากนักลงทุนสถาบัน แต่ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่น่าสนใจ นับตั้งแต่เปิดขาย IPO บลูบิคก็ได้นักลงทุนสถาบันมาถือหุ้นแล้วกว่า 25%

            “ความท้าทายในการจดทะเบียน เรื่องแรกคือความคุ้นเคย เขาไม่รู้จักธุรกิจคอนซัลต์เท่ากับธุรกิจขายของหรือทำโรงแรม ความท้าทายต่อไปคือเรามีธุรกิจย่อยเยอะ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำไปจนถึง Big Data ขั้นแรกเราจึงต้องเน้นหนักในการสื่อสาร ทำอย่างไรให้เราเข้าใจ ต้องสร้างความเข้าใจตั้งแต่การไปคุยกับ ก.ล.ต. นำไฟลิ่งไปยื่น ยกตัวอย่างให้เห็นชัดถึงศักยภาพของแต่ละเซอร์วิสที่เรามี เพราะในประเทศไทยเราไม่มี peer ให้เปรียบเทียบ จากการเป็นธุรกิจคอนซัลต์รายแรกในตลาดหลักทรัพย์ของไทย”

            ความท้าทายในแง่ของธุรกิจในขั้นต่อไปก็คือ รักษาโมเมนตัมการเติบโตไปเรื่อยๆ ในระดับ 20% หรือมากกว่านั้น ซึ่งจะเป็นเรื่องยากขึ้นเมื่อเป็นการเติบโตจากฐานที่ใหญ่และมี Absolute Value เพิ่มขึ้น ไม่เหมือนกับการขยายตัวจากพื้นฐานการเป็นรายเล็ก แต่สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายเชิงบวก เพราะเมื่อบริษัทเข้าตลาดได้แล้ว ย่อมเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น การเข้าไปเสนองานหรือได้ลีดใหม่จึงเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา เมื่อบลูบิคเริ่มมีชื่อเสียง ปริมาณลูกค้าจึงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีการแนะนำบอกต่อจากลูกค้าเก่าที่ประทับใจด้วย

            ศรีแพร กล่าวว่า การได้เงินทุนเป็นแรงหนุนว่าบริษัทจะสามารถเติบโตได้มากขึ้น เพราะมีสรรพกำลังในการจัดหาทรัพยากรบุคคล และขยายขอบเขตการรับงานได้เพิ่ม ซึ่งนำมาสู่การสร้างรายได้เพิ่ม ดังนั้นการรักษาเป้าหมายการเติบโตอย่างน้อย 20% จึงไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจ

            จิ๊กซอว์อีกส่วนที่สำคัญจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ คือเงินทุนที่จะเข้ามาสนับสนุนการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) และก่อตั้งกิจการร่วมค้า (Joint venture) นับเป็น Upside ที่จะหนุนการเติบโตให้ทะยานไปข้างหน้าได้เร็วมากขึ้น เพราะเงินจากการระดมทุนในตลาดก้อนใหญ่สุดในสัดส่วนกว่า 30% จะเข้ามาเสริมภารกิจตรงนี้โดยเฉพาะ

            ขณะที่อีก 15% เพื่อสนับสนุนการทำโปรดักต์ของตัวเอง จากเดิมที่บริษัทเน้นให้เซอร์วิสเมื่อลูกค้าต้องการเป็นรายกรณีไป แต่ต่อไปเมื่อมีการตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อผลิตโปรดักต์ของตัวเองแล้ว บริษัทคาดหวังว่าจะสร้างรายได้ต่อเนื่องเป็น Recurring Income ในอนาคตได้ด้วย

            “เป้าหมายของการร่วมทุนอื่นๆ จะเป็นไปในหลักการเดียวกับที่ บลูบิค ร่วมมือกับ ปตท. น้ํามันและการค้าปลีก (OR) ในการจัดตั้ง Orbit Digital ขึ้นมาคือ ต้องดูว่าการ Synergy นั้นจะเพิ่มรายได้และกำไรให้บริษัทได้หรือไม่ และเพิ่มโอกาสจับตลาดลูกค้าใหม่แบบแน่นอนมากขึ้นได้อย่างไร อย่างในกรณีของ Orbit Digital นั้นทำให้เราขยายไปสู่ธุรกิจรีเทลที่มีรากฐานมั่นคงได้ โดยไม่ต้องเผชิญความไม่แน่นอนในการไปเสนองานแข่งกับใคร และอาจไม่การันตีผลความสำเร็จ ถือเป็นโอกาสได้ลูกค้าใหม่เพิ่มเติม”

            แม้ว่าในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจต้องเผชิญคลื่นความเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าบลูบิคได้เตรียมแผนสำรองรับมือไว้ในหลายสมมติฐาน แต่โชคดีที่ฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้ยังไม่ได้รับผลกระทบ ทว่ายังได้รับอานิสงส์บางส่วนจากธุรกิจหลากหลายประเภท ที่จำเป็นต้องปรับตัวใช้เครื่องมือดิจิทัลมาแสวงหารายได้ใหม่ๆ เพื่อการอยู่รอดในวิกฤต และบลูบิคเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการนำเสนอบริการเหล่านั้น

            “รายได้จาก Operation ของเราเข้มแข็งและหล่อเลี้ยงบริษัทให้เติบโต สามารถขยายธุรกิจจากพนักงานระดับ 20 คนมาเป็น 150 คนแบบไม่ต้องหาเงินทุนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมเลยในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีเหตุการณ์ที่เป็นผลกระทบอย่างโควิด-19 ทำให้มีการพูดคุยอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมแผนสำรองฉุกเฉินและคาดการณ์กระแสเงินสดไว้ แต่ในสถานการณ์จริงเรายังไม่ต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัด เพราะยังมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งรองรับ”

            แน่นอนว่าก้าวต่อไปที่ต้องจับตามองคือ การเปิดตลาดใหม่ที่ต่างประเทศ ซึ่งผู้บริหารของบลูบิคมั่นใจว่า แม้จะต้องกรุยทางไปหาความสำเร็จครั้งใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม เหมือนดังเช่นกระบวนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่สำเร็จได้ผ่านเป้าหมายและความตั้งใจที่ชัดเจนเป็นเครื่องกำกับ

            “เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของเราเลยที่ต้องปั้นโครงสร้างธุรกิจเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราศึกษากระบวนการกันเองโดยเริ่มจากศูนย์จนทำได้สำเร็จในกรอบเวลารวดเร็วตามที่คิดไว้ ส่วนตัวรู้จักกับซีอีโอตั้งแต่ทำงานด้วยกันที่ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ เมื่อเราต่างเคยทำองค์กรใหญ่ๆ แบบนั้น จึงทำให้มีสิ่งที่อยากพัฒนาให้บลูบิคในวันนี้คือ ทำธุรกิจของเราที่เป็นน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต รักษาพนักงานไว้กับเราอย่างเหนียวแน่น ทำให้ชื่อเสียงของบลูบิคเป็นที่ๆ ใครก็อยากเข้ามาร่วมงาน เหมือนเวลาคนพูดถึงชื่อบริษัทใหญ่อื่นๆ แล้วมีแรงดึงดูด”

            ศรีแพร ปิดท้ายว่า ปลายทางอีกเรื่องที่ต้องการพิสูจน์ให้เห็นคือ การสร้างความน่าเชื่อถือของบลูบิคให้เทียบชั้นธุรกิจแถวหน้าระดับ Big Four ในด้านคอนซัลต์ได้ ด้วยการนำเสนอคุณภาพและความคุ้มค่าที่ลูกค้าจะได้รับแบบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน