หลายคนคงรู้จัก “พี่เปรม” หรือ “วรัทย์ ไล้ทอง” ในฐานะกัปตันทีม ERP Advisory แต่รู้ไหมว่า นอกเวลางาน พี่เปรมยังรับบท Youtuber ท่านหนึ่งที่ขยันผลิตคอนเทนต์ที่ทั้งดูสนุกและได้ความรู้ผ่านแชนแนลที่ชื่อว่า Flown by Prame อีกด้วย
คงเดาได้จากชื่อแชนแนลกันแล้วใช่ไหมว่า คอนเทนต์ที่พี่เปรมทำไม่ใช่คอนเทนต์ธรรมดาทั่วไปที่ไหน แต่เป็นคอนเทนต์ที่พาทุกคนทะยานขึ้นท้องฟ้าไปด้วยกันในเครื่องบินเล็ก นอกจากจะได้ตามพี่เปรมไปเที่ยวเชียงราย แม่ฮ่องสอน หัวหิน ชุมพร หรือกระทั่งบุรีรัมย์แบบ Exclusive สุดๆ แล้ว คนดูอย่างเราๆ ยังได้เห็น Insight ว่านักบินต้องเรียน ต้องรู้ ต้องทำอะไรบ้างเพื่อขับเครื่องบินให้ราบรื่นในทุกๆ สถานการณ์
แม้ดูเผินๆ การเป็นกัปตันทีม ERP และการเป็นนักบินจะเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง แต่พี่เปรมบอกเราว่า การเรียนรู้เพื่อเป็นนักบินก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียนรู้เพื่อทำงานด้าน SAP เพราะกว่าจะทำทั้งสองอย่างนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ พี่เปรมก็ต้องตั้งใจเรียนอย่างหนัก ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง และที่สำคัญคือต้องฝึกฝนบ่อยๆ ทำซ้ำบ่อยๆ จนช่ำชอง
“การจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเราต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ อย่างตอนพี่ขับเครื่องบิน ความรู้หลายๆ อย่างเราก็ต้องไปหาเอง เพราะว่าคุณครูเขามีหน้าที่สอนตามบทเรียนที่ถูกกำหนดมา แต่ในชีวิตการขับเครื่องบินจริงๆ มันต้องมีการ Adapt หรือหาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงต้องแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบทเรียนด้วย”
“ตอนพี่เรียน SAP ครูเขาก็สอนตามบทเรียนเหมือนกัน แต่เชื่อไหมว่าสุดท้ายแล้วพี่แทบไม่ได้ใช้บทเรียนที่เรียนมาเลย แต่พี่มาเรียนรู้ระหว่างการทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเหมือนกับการเรียนขับเครื่องบิน เราเรียนพื้นฐานจากครู แต่สุดท้ายการที่เราจะเป็นนักบินที่ดีและบินไปไหนมาไหนเองได้ เราก็ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง และฝึกฝนบ่อยๆ”
บอกเลยว่าที่ยกมานี้เป็นแค่ Teaser กรุบกริบเท่านั้น เพราะวันนี้พี่เปรมพร้อมแล้วที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดดีๆ ให้เราฟังแบบ Full HD พร้อมวิวสวยๆ จากเครื่องบิน
อย่ารอช้า กระโดดขึ้นเครื่องบินไปกับพี่เปรมกันเลย!
มีอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำอีกบ้าง
“พี่ชอบเครื่องบินมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนเด็กๆ ทำอะไรมากไม่ได้ ก็พับกระดาษเป็นเครื่องบิน แล้วเอาไปร่อนเล่น หรือไม่ก็ให้คุณพ่อพาไปดูเครื่องบิน Take Off ที่สนามบินเชียงรายซึ่งเป็นบ้านเกิดพี่ พอโตมาหน่อยก็เล่นพวกเครื่องบินบังคับ ก็ชอบมาเรื่อยๆ แต่ด้วยจังหวะชีวิต รวมถึงสมัยนั้นการแข่งขันในการเป็นนักบินมันสูงมาก เพราะมีการบินไทยแค่สายการบินเดียว เราเลยไม่ได้คิดจะเดินเส้นทางนั้น ก็เลยมาเป็นวิศวกรไปซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชอบรองลงมาจากเรื่องการบิน”
“ทีนี้พอพี่ทำงานมาเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เริ่มมีเวลา มีความพร้อม เลยเริ่มถามตัวเองว่า ในชีวิตนี้มีอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำอีกบ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้มันขึ้นมาเลยว่า ‘ขับเครื่องบิน’ พี่ก็เลยไปสมัครเรียนเลย”
When was the last time you did something for the first time?
“ตอนไปสมัครเรียน ทางคุณครูแฟร์มากๆ เขาชวนให้ไปลองนั่งเครื่องบินเล็กก่อนรอบนึง เพราะหลายคนคิดว่า ปกติก็นั่งเครื่องบินโดยสารอยู่แล้ว ไม่เห็นกลัวเลย แต่เครื่องบินเล็กมันเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง หลายคนนั่งเครื่องบินโดยสารอยู่ประจำแต่พอมาลองนั่งเครื่องบินเล็กแล้วกลัวจนเรียนไม่ได้ พี่ก็เลยได้ลองขึ้นไปบินกับคุณครูดู ได้ลองขับเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ครูอนุญาตด้วย”
“พี่รู้ทันทีว่านี่คือที่ของพี่ เคยเจอโมเมนต์ที่รู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่รอมาทั้งชีวิตไหม มันคือความรู้สึกพี่เลย ลงมาปุ๊บพี่สมัครเรียนตรงนั้นเลย แล้วพี่จำได้ว่า พี่โพสต์รูปตอนลองขับเครื่องบินลง IG พร้อมเขียน Caption ว่า ‘When was the last time you did something for the first time?’ มันเหมือนอะไรที่เรารอมาทั้งชีวิตจริงๆ”
อะไรที่ทำด้วยแพสชั่นคือไม่ต้องพยายามเลย
“พี่ไม่ได้เรียนอะไรมานานมากแล้ว และพี่เองก็ไม่ได้เป็นคนรักเรียนมากขนาดนั้น แต่พอมาเป็นนักเรียนการบินสิ่งที่สังเกตได้เลยก็คือ พี่ไม่ได้ขี้เกียจไปเรียนเหมือนที่เคยเป็น คืนก่อนวันเรียนพี่จะไปนอนโรงแรมแถวๆ ที่เรียนเพื่อที่พี่จะได้ตื่นแต่เช้าแล้วไปบินให้ได้เร็วที่สุด ปกติพี่ไม่ชอบตื่นเช้า แต่วันเรียนขับเครื่องบิน 6 โมงเช้าพี่ก็ตื่นเลย อะไรที่ทำด้วยแพสชั่นคือไม่ต้องพยายามเลย เป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูกจริงๆ
“ตอนนี้หลักสูตรนักบินส่วนบุคคลคือ 60 ชั่วโมง แต่ตอนพี่เรียนหลักสูตรยังเป็น 40 ชั่วโมงอยู่ ซึ่งพี่ใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือนก็เรียนครบ 40 ชั่วโมงและบินเดี่ยวได้เแล้ว”
ทำให้บ่อยจนเชี่ยวชาญ จนเราสามารถทำได้โดยไม่ต้องพยายาม
“ความท้าทายของการขับเครื่องบินคือการ Multi-tasking เวลาบินเราต้องควบคุมให้ได้ 4 อย่างคือ 1. ความสูง 2. ความเร็ว 3. ท่าทางการบิน และ 4. ทิศทางการบิน ในเวลาเดียวกัน เราต้องคอยฟังวิทยุสื่อสารอยู่ตลอดว่าทาง Air Traffic Controller เขาสั่งให้เราทำอะไรบ้าง รวมถึงต้องฟังด้วยว่าเครื่องบินลำอื่นเขาคุยอะไรกัน
“ช่วงแรกมันเป็นปัญหามาก อย่างเช่นพี่จะเอาเครื่องลงจอด พี่ต้องควบคุมเครื่องบินให้ลงไปแตะรันเวย์ในตำแหน่งที่ต้องการ เราควบคุมทิศทางและความสูง ได้เป็นอย่างดี แต่พอจะถึงพื้นก็พบว่าความเร็วเครื่องมันเกินกว่าความเร็วที่ใช้ลงจอด เพราะเราไม่สามารถแยกประสาทไปควบคุมความเร็วได้ ในทางกลับกัน บางทีเราควบคุมความเร็วได้ แต่เรากลับลงจอดไม่ได้เพราะบินมาสูงเกิน ซึ่งทั้งหมดนี้มันเกิดจากการที่เราไม่สามารถทำ Multi-tasking ได้”
“เวลาทำงานถ้าเรา Multi-tasking ไม่ได้ เราก็แค่ทยอยทำงานทีละอย่างและอย่างมากก็ลงเอยด้วยการทำงานล่วงเวลา แต่ในการขับเครื่องบิน มันเป็นการ Multi-tasking ของจริง ซึ่งถ้าพลาดพลั้งขึ้นมา มันอาจหมายถึงชีวิต ก็เลยเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราต้องทำให้ได้ และวิธีการเดียวที่เราจะทำให้ได้คือ เราต้องทำให้บ่อยจนเชี่ยวชาญ จนรู้สึกว่าเราสามารถทำได้โดยไม่ต้องพยายาม ซึ่งในที่สุดถ้าเราเชี่ยวชาญมากพอเราจะสามารถทำมันได้อย่างอัตโนมัติเลยทีเดียว”
“เรื่องการทำงานก็เหมือนกัน มีน้องใน Bluebik หลายคนมาถามว่า เห็นพี่ทำ SAP ไปด้วย ฟังประชุมไปด้วย คุยกับลูกค้าไปด้วย พี่ทำได้ยังไง คือแรกๆ พี่ก็ทำไม่ได้ แต่พอพี่ทำบ่อยๆ จนกลายเป็น Habit ไปแล้ว มันก็สามารถทำได้เอง เหมือนร่างกายมันทำไปโดยอัตโนมัติ”
วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
“การขับเครื่องบินไม่ต่างจากการทำงานโปรเจกต์เลย คือทั้งสองอย่างนี้ต้องมีการวางแผนที่ดี ก่อนบินพี่ต้องวางแผนเส้นทางการบินก่อนเสมอ เช่น กรุงเทพฯ-หัวหิน ไปได้หลายทางมาก เราต้องเลือกเส้นทางว่าเราจะไปทิศทางไหน เราต้องเช็กด้วยว่า ในวันที่เราจะบินมีอุปสรรคการบินอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทาง เขาจะมีการแจ้งล่วงหน้า และเราก็ต้องคำนวณด้วยว่า ต้องใช้น้ำมันเท่าไหร่ ต้องเผื่อน้ำมันเท่าไหร่ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันแล้วเราต้องไปลงจอดที่สนามบินสำรอง”
“ฟังแบบนี้เหมือนเราทำโครงการๆ หนึ่งเลย เราต้องกำหนดว่าเราจะดำเนินโครงการโดยมีวัตถุประสงค์อะไร แล้วเราต้องวางแผนว่าจะทำอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้น ต้องใช้วิธีการแบบไหน มีงบประมาณเท่าไหร่ เราต้องคุมงบประมาณให้อยู่ แต่ทุกโครงการจะมีความเสี่ยง เราต้องมีการเผื่อ Buffer ไว้ในกรณีที่ทุกอย่างที่ไม่เป็นไปตามแผน”
มี Situational Awareness เพื่อรับมือกับทุกเหตุการณ์
“มีสิ่งหนึ่งที่ในที่ทำงานไม่ค่อยมีใครสอนกันแต่นักบินจะถูกสอนตลอด มันคือสิ่งที่เรียกว่า Situational Awareness มันคือการระแวดระวังสถานการณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่เราจะคาดคะเนได้ว่า จะมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นหรือไม่และเราต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร เช่น เวลาขับเครื่องบินแล้วเราเห็นว่าควันไฟที่ชาวบ้านเผาอะไรบางอย่างมันลอยเอียงไปด้านข้างเยอะจัง เราต้องเริ่มคิดแล้วว่า เอ๊ะ ข้างล่างลมแรงใช่ไหม เดี๋ยวตอนลงจอดจะต้องระวังอะไรบ้าง
“นอกจากนี้เวลาที่เราขับเครื่องบิน หูฟังเราจะเชื่อมต่อกับคลื่นวิทยุสื่อสารของ Air Traffic Controller อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราจะได้ยินนักบินท่านอื่นพูดคุยกับ Air Traffic Controller ด้วย บางครั้งเราจะได้ยินนักบินส่วนใหญ่เริ่มขออนุญาตบินหลบสภาพอากาศกัน เราก็ต้องคิดตามว่า เอ๊ะ หรือในบริเวณนี้มีสภาพอากาศไม่ดีแต่เราไม่รู้หรือเปล่า เพราะเราเป็นเครื่องบินเล็ก เราไม่ได้มีเรดาร์ตรวจสภาพอากาศแบบเครื่องบินพาณิชย์
“Situational Awareness เหมาะกับการทำงานมาก เช่น เราอาจเริ่มสัมผัส Mood & Tone บางอย่างจากน้ำเสียงของลูกค้าได้ หรือ ถ้าเริ่มได้ยินคำถามแปลกๆ ก็ต้องตั้งคำถามว่า เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้นกับโปรเจกต์เราหรือเปล่า หรือ บางทีเราไปประชุมกับลูกค้า เอ๊ะ ทำไมวันนี้มีคนเข้าเยอะกว่าปกติ มีอะไรหรือเปล่า เราต้องคอยประเมินว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมมีเหตุการณ์แปลกๆเหล่านี้ ต้องหัดตั้งคำถามว่า คนที่ไม่เคยเข้าประชุมกับเรามาก่อนทำไมวันนี้ถึงเข้า จะเข้ามาทำอะไร จะมาขอ Requirement ใหม่ๆ หรือเปล่า เราต้องมี Situational Awareness เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อที่เราจะสามารถระงับหรือหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ ทุกวันนี้พี่ใช้สิ่งนี้ในการดำเนินโครงการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันช่วยได้จริงๆในหลายๆสถานการณ์”
เป็นนักบินไม่พอ เป็น Youtuber ด้วย
“ตอนที่พี่หาข้อมูลเรื่องการเรียนขับเครื่องบิน พี่แทบไม่เจอข้อมูลของคนไทยเลย เท่าที่เจอก็จะเป็นแค่เว็บไซต์ของโรงเรียนการบิน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคำโฆษณา ไม่มีใครมาเล่าให้ฟังว่าจริงๆแล้ว ต้องเตรียมตัวยังไงหรือต้องเจออะไรบ้าง พี่ก็เลยคิดว่า ตอนเรียนขับเครื่องบิน ถ้ามีโอกาสได้แบ่งปันความรู้เรื่องพวกนี้ให้คนอื่นๆ ที่เขาสนใจก็น่าจะดี อีกอย่างคือพี่ต้องการจะบอกกับโลกภายนอกว่า Hobby ประเภทนี้มีอยู่จริงและมันไม่ได้เข้าถึงยากอย่างที่คนภายนอกเข้าใจ
“ตอนคิดคอนเทนต์พี่เริ่มจากถามตัวเองก่อนว่า ตอนที่เราหาข้อมูลเรื่องเรียนขับเครื่องบิน เราอยากรู้อะไรบ้าง เราอยากเห็นอะไร ดังนั้นคอนเทนต์พี่จะเน้นเล่าเรื่องให้คนดูเห็นว่า การเรียนขับเครื่องบินต้องทำอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง พี่อยากให้มีแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ที่สนใจการบิน สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้
“นอกจากนี้เราก็รู้แหละว่าการเล่าเรื่องการเรียนการบินล้วนๆ ก็อาจจะดูน่าเบื่อเกินไป ก็เลยแทรกไลฟ์สไตล์บ้าง เช่น การขับเครื่องบินไปเที่ยวตามที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมเห็นว่า พอขับเครื่องบินเป็นแล้ว เราก็สามารถขับไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ได้ มีก๊วนเพื่อนๆ ที่ไลฟ์สไตล์แบบเดียวกัน ให้เขาได้เห็นว่าการขับเครื่องบินเล็ก มันไม่ใช่แค่การขับเล่นอยู่บริเวณสนามบิน แต่ มันสามารถบินเดินทางไปไหนมาไหนได้จริงๆด้วย”
ใครๆ ก็เป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งได้
“พี่ทำคอนเทนต์เรื่องการบินด้วยความชอบ เรารู้ว่านักบินอยากรู้อยากเห็นอะไร ก็เล่าเรื่องไปตามนั้น รวมถึงดูจากคอมเมนต์ของผู้ชม แล้วก็เอามาต่อยอดทำสตอรี่ออกไป พี่จะเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิคการบินสูงๆ เพราะถ้าเราพูดไปแล้วคนฟังไม่เข้าใจ ไม่อินไปกับเรา สุดท้ายก็สื่อสารกันไม่ได้ เขาก็ไม่ติดตามเรา
“พี่อาจไม่ได้เป็นนักเล่าเรื่องแต่แรก แต่ด้วยอาชีพการงานของพี่ ที่ทำระบบ SAP บางทีเราจะต้องไปเก็บ Requirements ของลูกค้าเพื่อมา Apply กับระบบ แล้วเราก็ต้องกลับไปเล่าให้ลูกค้าฟังว่า เราจะทำอะไรกับระบบของลูกค้าบ้าง ถ้าเราเล่าไม่ดี ไม่มี Structure ไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน หรือใช้ศัพท์เทคนิคที่สูงเกินไป ก็อาจจะทำให้ลูกค้าสับสนและไม่ยอมรับ Solution ของเราได้ พี่ก็เลยได้ฝึกฝนการเป็นนักเล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านการทำงานมาตลอด
“จริงๆ แล้วการเล่าเรื่องที่ดี ต้องมาจากการเตรียมตัวที่ดี ในชีวิตการทำงานมีน้อยครั้งที่เราต้องไปพูดอะไรโดยที่เราไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน คือส่วนใหญ่จะมีการนัดกันล่วงหน้าเสมอ ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวด้วยการทำความเข้าใจในเรื่องที่จะพูดให้ดี พี่ไม่เห็นด้วยกับการที่เราไม่เข้าใจเรื่องนั้นจริงๆ แล้วเราไป Google หรือใช้ ChatGPT แล้วก็เอาคำพูดเหล่านั้นไปพูดต่อทั้งๆที่ไม่เข้าใจ มันจะทำให้คอนเทนต์เราดูเบาบาง คำแนะนำก็คือ ไม่ว่าจะต้องพูดเรื่องอะไร เราต้องเข้าใจเรื่องนั้นก่อน จากนั้นลองพยายามหาตัวอย่างหรือหาสถานการณ์อะไรก็ได้ที่เปรียบเทียบแล้วเข้าใจง่ายเตรียมไว้ พอถึงเวลาที่เราเล่าเรื่องนั้นออกไป ก็จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายและสื่อสารได้ตรงประเด็น”
ลงมือทำงานจริง และอย่ากลัวงานยาก
“ถ้าเราจะทำงานให้ได้ดี เราก็ต้องฝึกฝนในสายงานของเราจนเชี่ยวชาญ อันนี้ไม่มีทางลัดอยู่แล้ว คุณต้องฝึกฝน เรียนรู้ แล้วก็หมั่นลงมือทำจริงๆ น้องๆ หลายคนคงเรียนวิชาบริหารธุรกิจ บริหารโครงการต่างๆ มาจากห้องเรียน พี่จะบอกว่า พวกนั้นเป็น Practice ที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ แต่หน้างานมันไม่ได้เป็นแบบนั้น พี่ชอบคำหนึ่งที่คุณโบ๊ท CEO ของพวกเราเคยเปรียบเทียบไว้ เขาบอกว่า ‘ทหารที่เรียนตำราการรบอยู่ในค่ายกับทหารที่ออกรบอยู่ที่ชายแดน จะมีทักษะทางการรบที่ต่างกันมาก’ อาชีพ Consultant ของเราใน Bluebik ก็เหมือนกัน ถ้าเรามัวแต่อ่านหนังสือหรือตำรา แต่ไม่เคยไปลงงานจริงๆ ไม่เคยไปดูที่หน้างาน ไม่เคยไปเจอลูกค้าเลย มันก็เป็นเรื่องยากที่จะเก่งเท่าคนที่ได้ลงมือทำจริงๆ
“อีกสิ่งหนึ่งที่พี่ว่าสำคัญมากๆก็คือ อย่ากลัวงานยาก สำหรับตัวพี่เอง ทุกครั้งที่มีลูกค้าบอกว่า งานนี้ยากมาก Vendor 3-4 เจ้าที่ผ่านมาทำไม่เสร็จสักราย พี่จะรู้สึกว่า เอามาสิ เดี๋ยวจะทำให้สำเร็จให้ดู ต้องจำไว้ว่า ทุกครั้งที่มีงานยากเข้ามา มันคือโอกาสที่เราจะได้ฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง
ในชีวิตการทำงาน มันเป็นเรื่องปกติที่เราจะเจองานที่ยากจนเรารู้สึกท้อแท้ แต่ขออย่างเดียว อย่ายอมแพ้ ปัญหาทุกอย่างมันแก้ไขได้ถ้าเรามีความพยายามมากพอ ถ้าเราทำสำเร็จสักครั้งนึงแล้ว ครั้งต่อไปมันจะกลายเป็นเรื่องง่ายเอง”
และทั้งหมดนี้ก็คือประสบการณ์และข้อคิดจากห้องนักบินของพี่เปรม ขอกระซิบไว้ตรงนี้ด้วยว่า ถ้าใครอยากไปลองนั่งเครื่องบินเล็กล่ะก็ทักไปหาพี่เปรมได้เลย กัปตันของเราพร้อมพาเปิดประสบการณ์ Once in a life time สุดๆ!