เพราะเห็นโลกกว้าง มุมมองจึงเปิดกว้าง
นี่คือสิ่งที่เราสรุปได้หลังจากพูดคุยกับ “พี่เก่ง–เจษฎา ตันรัตนกุล” Chief Operating Officer แห่ง Bluebik
เพราะพี่เก่งเคยไปเปิดโลกกว้างที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงมัธยมปลาย ไปเพิ่มพูนความรู้ด้านการบริหารธุรกิจสมัยเรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมาช่วยลูกค้าระดับโลกเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในฐานะ Management Consultant ในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำในประเทศไทย ก่อนจะกระโดดไปดูแลกระบวนการผลิตทั้งหมดของโรงงานเครื่องเขียนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงรับบท CEO ให้กับสตาร์ทอัปสาย Telemedicine เจ้าแรกๆ ในประเทศอินโดนีเซีย
ประสบการณ์การเรียน ทำงาน และใช้ชีวิตใน 4 ประเทศทำให้พี่เก่งมีมุมมองที่เปิดกว้าง สามารถเทียบความเหมือนและความแตกต่างของแต่ละประเทศ เพื่อเลือกหยิบเอาสิ่งที่ดีที่สุดมา Add Value ให้ลูกค้าได้
ในวันนี้ที่พี่เก่งก้าวขึ้นมารับบทบาทใหม่ในฐานะ Chief Operating Officer ที่ Bluebik เราขอชวนทุกคนไปทำความรู้จักพี่เก่งให้มากขึ้น พร้อมทั้งรับเอาแนวคิดการทำงานดีๆ ที่พี่เก่งอยากส่งต่อให้พวกเรากัน
ก้าวออกจาก Comfort Zone ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา
แม้จะพูดภาษาอังกฤษไม่เป็นและไม่เคยใช้ชีวิตด้วยตัวเองมาก่อน แต่เมื่อเห็นโอกาสในการก้าวออกจาก Comfort Zone ครั้งแรกในชีวิต เด็กหนุ่มจากเชียงใหม่ก็ไม่ลังเลที่จะกระโจนเข้าไปอย่างเต็มตัว
กระโจนในที่นี้ คือบินลัดฟ้าไปเรียนมัธยมปลายที่เมืองเกอริง รัฐแนแบรสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา
“พี่ไปอยู่ Middle of Nowhere สุดๆ เกอริงเป็นเมืองเล็ก มีคนไม่ถึงหมื่นคน ที่โรงเรียนมีพี่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจากเอเชียแค่คนเดียว แล้วพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยอีก ช่วง 2 เดือนแรกพี่เครียดมาก บางคืนถึงขั้นอยากจะตะโกน แต่ไม่อยากให้คนอื่นได้ยิน ก็เลยตะโกนเบาๆ ใส่หมอน จำได้ว่าเป็นช่วงที่มืดมาก แต่พอผ่านช่วงนั้นไปได้ เริ่มฝันเป็นภาษาอังกฤษ ที่เหลือก็เอ็นจอยวัฒนธรรมใหม่ๆ แล้วครับ
“การไปเรียนที่อเมริกาทำให้พี่ได้เรียนรู้ในการอยู่ด้วยตัวเอง และได้เข้าถึงวัฒนธรรมของเขาจริงๆ ด้วยความที่เป็นเมืองเล็ก เขาก็จะมีคอมมิวนิตี้ของเขาเอง และนัดทำกิจกรรมกันบ่อยมาก พี่ก็ไปร่วมกิจกรรมกับเขาด้วย เช่น กิจกรรมที่โบสถ์ ส่วนที่โรงเรียนก็มีกิจกรรมเยอะ ซึ่งพี่ก็ไปร่วมกิจกรรมเยอะมาก เพราะคิดว่าเราอยู่ไม่นาน ก็อยากจะร่วมกิจกรรมให้เยอะที่สุด
“ตอนนั้นพี่ได้เข้าใจว่า ถ้าเราอยากจะเห็นโลกจริงๆ เราต้องออกไปข้างนอก ไปทำกิจกรรม ไปรู้จักคนใหม่ๆ”
แอบกระซิบตรงนี้ว่า แม้พี่เก่งจะเป็นเด็กกิจกรรมสุดๆ ทั้งมีชื่อใน Marching Band ร่วมแสดงละครเพลง แถมยังไปแข่งพูดสุนทรพจน์อีก แต่ GPA ที่ปรากฏในสมุดพกคือ 4.00 เชียวนะ!
ค้นพบความชอบในการบริหารธุรกิจระหว่างเรียนที่ไทยและอังกฤษ
หลังจากกลับจากอเมริกา พี่เก่งตัดสินใจเรียนปริญญาตรีด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ก่อนไปต่อปริญญาโทด้านธุรกิจอีกเช่นกันที่ London School of Economics and Political Science
แม้จะย้ายมาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว แต่แนวคิดการใช้ชีวิตของพี่เก่งยังคงเหมือนเดิม นั่นคือเรียนให้หนัก และทำกิจกรรมให้หนักกว่า การันตีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 สมัยปริญญาตรี และ Distinction สมัยปริญญาโท ควบคู่กับการแข่งขันเคสธุรกิจจำนวนนับไม่ถ้วน
พี่เก่งให้คำนิยามการเรียนด้านธุรกิจว่าเป็นสิ่งที่ Close to Home
“สมัยเด็กครอบครัวพี่ขายของเก่า รับซื้อพวกเศษกระดาษ เศษขวด เศษอลูมิเนียม เอามาย่อยแล้วก็อัดเป็นก้อนก่อนส่งให้โรงงาน ครอบครัวพี่เป็น Hustler บ้านกับโรงงานคือที่เดียวกัน พี่เห็นตรงนั้นทุกวัน เห็นการซื้อมาขายไป การ Add Value การทำอย่างไรให้ลดต้นทุน แต่เพิ่มประสิทธิภาพ บางทีก็ชอบไปนอนบนกองกระดาษใหญ่ๆ (หัวเราะ) รู้สึกว่าสบายจัง พี่โตมาจากธุรกิจตรงนั้นจริงๆ
“ตอนแรกพี่ก็ยังไม่แน่ใจหรอกว่าอยากจะทำอะไร เด็กๆ เคยอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ โตมาหน่อยชอบตีกลองก็อยากจะเป็นนักดนตรี แต่พอถึงเวลาจะเลือกคณะเรียนก็อยากปลายเปิดไว้ก่อน เผื่อจะค้นพบตัวเอง ก็เลยเลือกเรียนด้านธุรกิจ ซึ่งปรากฏว่ามัน Close to Home มาก พี่รู้สึกว่าเนื้อหามันจับต้องได้ มีทฤษฎีและ Framework ให้เอาไปใช้ ไม่ได้เป็นนามธรรมจนเกินไป ทำให้ได้ลองคิดว่าถ้าเอาทฤษฎีต่างๆ ไปใช้ในโลกความเป็นจริง เราจะทำได้ดีหรือเปล่า ประกอบกับช่วงเรียนพี่ไปแข่ง Business Competition เยอะ เลยได้เห็นว่า พอตั้งใจเรียน เอาทฤษฎีไปใช้ เราก็จะได้ฟีดแบ็กที่ทำให้พัฒนาตัวเองขึ้นไปได้เรื่อยๆ มันก็เลยยิ่งสนุก และยิ่งทำได้ดี”
ตัวอยู่ไทยแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศ
ตั้งแต่ก่อนเรียนจบ พี่เก่งปักธงไว้ในใจว่าอยากทำงานเป็น Management Consultant เพราะมองว่าเป็นงานที่จะได้ใช้ทักษะทุกด้านอย่างสมดุล งัดมาใช้หมดทั้งศาสตร์และศิลป์
แน่นอนว่าพี่เก่งทำได้ดั่งใจหวัง โดยทำงานเป็น Management Consultant เกือบ 10 ปีในบริษัทที่ปรึกษาชั้นน้ำในประเทศไทย นั่นคือ Accenture, L.E.K. Consulting และ BCG (แน่นอนว่าที่สุดท้ายนี้ พี่เก่งได้เจอพี่โบ๊ท–พชร อารยะการกุล CEO ของเราด้วย)
เรื่องราวสมัยเป็น Management Consultant ของพี่เก่งนั้นเข้มข้นและเปี่ยมรสชาติ เชื่อว่าเพื่อนๆ ชาว Management Consultant ที่ Bluebik คงพยักหน้าด้วยความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหามรุ่งหามค่ำให้ทันเดดไลน์ การกระโดดเข้าไปทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ความท้าทายในการวิเคราะห์ปัญหาและหาวิธีแก้ไขให้ลูกค้า และอื่นๆ อีกมากมาย
“รสชาติพวกนี้ทำให้พี่รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก ตลอดเวลาเกือบสิบปีพี่เติบโตขึ้นมากจริงๆ” พี่เก่งเล่า
“สาระสำคัญที่พี่กลั่นออกมาได้คือ เราต้องเป็น Thought Partner ให้กับลูกค้า ลูกค้าเขายินดีจ่ายเงินให้เราเยอะมาก แน่นอนเขาต้องการ Value จากเรา ซึ่ง Value ตรงนั้นมันไม่ใช่แค่การที่เราช่วยเป็น Rubber Stamp ยืนยันความคิดของเขา สำหรับพี่ นั่นไม่ใช่ Value ที่แท้จริง Value ที่แท้จริงคือการ Deliver สิ่งที่ Implement ได้จริง ไม่ใช่แค่ขายฝัน เราต้อง Walk the Talk ให้ได้ และสุดท้ายเมื่อจบโปรเจกต์ ลูกค้าเอาคำแนะนำของเราไป Implement แล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราทำแบบนี้ซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง สุดท้ายเขาก็จะรู้ว่าคนคนนี้เป็น True Advisor ที่เขาเชื่อถือได้ในทุกสถานการณ์ ถ้าเขามีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือในด้านใดด้านหนึ่ง เขารู้ว่าจะโทรหาใคร เพราะเขารู้ว่าถ้าโทรหาคนคนนี้ เขาได้คำตอบ เขาได้ความเชื่อใจ”
ตลอดระยะเวลาการทำงานในฐานะ Management Consultant เกือบสิบปี พี่เก่งทำงานมามากกว่า 100 เคส ครอบคลุมแทบทุกอุตสาหกรรมและสายงาน รวมทั้งมีโอกาสได้ร่วมงานกับลูกค้าจากหลายหลายประเทศ โดยลูกค้าเจ้าสุดท้ายที่พี่เก่งช่วยวางกลยุทธ์ให้นี่เองที่เป็นตัวแปรสำคัญ กระตุ้นให้พี่เก่งได้ออกจาก Comfort Zone อีกครั้งหนึ่ง
ลูกค้ารายนั้นคือหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย
ขอพลิกบทบาทเป็นคนลุยงานเองที่อินโดนีเซีย
แม้จะมีแพสชันให้กับอาชีพ Management Consultant มากแค่ไหน แต่พี่เก่งก็มีคำถามลึกๆ ในใจอยู่เสมอ “พี่เชื่อว่า Consultant ทุกคนมีคำถามข้อนี้เหมือนกัน นั่นคือเรา Add Value ให้ลูกค้าได้จริงหรือเปล่า”
ประจวบเหมาะที่หลังจากปิดโปรเจกต์ พี่เก่งได้รับคำชวนให้ไปทำงานที่อินโดนีเซีย ซึ่งหลังจากไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน พี่เก่งก็ตัดสินใจตอบรับความท้าทายใหม่ในชีวิต ลองไปทำงานในองค์กรธุรกิจดูบ้าง
“พี่คิดว่า ถ้าพี่ไม่โดดตอนนี้ ก็คงไม่มีโอกาสโดดแล้ว งั้นลองไปดูแล้วกัน อยากจะลองไปเป็น Management ในองค์กรธุรกิจ ลองดูสิว่าถ้าเรามีไอเดียหนึ่งๆ เราจะสามารถทำมันได้จริงไหม บางทีตอนเป็น Consultant เราบอกว่าทำได้ ง่ายจะตาย แต่พอมาทำจริง ทำได้หรือเปล่า”
โดยบริษัทที่พี่เก่งไปทำงานนั้นอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งหน้าที่แรกของพี่เก่งคือ Head of Operations ที่โรงงานของบริษัท Asia Pulp & Paper ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องเขียนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เมืองสุราบายา ซึ่งพี่เก่งเอาตัวเข้าไปคลุกคลีทำความเข้าใจและช่วยปรับปรุงกระบวนการการทำงาน ก่อนจะขยับมาเป็น Head of Strategy for Consumer Business Unit
หลังจากนั้นพี่เก่งได้ย้ายอุตสาหกรรมอีกครั้งไปทำงานในสายสุขภาพ โดยร่วมก่อตั้ง SehatQ สตาร์ทอัป Telemedicine ที่ช่วยเชื่อมต่อผู้ป่วยเข้ากับโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยพี่เก่งเริ่มต้นทำงานในฐานะ Head of Platform ผู้ดูแลงานครอบคลุมทุกด้าน ก่อนจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น CEO ในที่สุด
แม้การพลิกบทบาทใหม่นี้จะท้าทายอย่างยิ่งเพราะทุกอย่างใหม่หมด ทั้งอุตสาหกรรมใหม่ หน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ ประเทศใหม่ แต่พี่เก่งบอกว่าตอนนั้นก็ลุยไปด้วยความมั่นใจ ซึ่งเป็นความมั่นใจที่สั่งสมมาจากการทำงาน Management Consultant มานานนั่นเอง
“เวลาย้ายอุตสาหกรรม สิ่งแรกที่คนทั่วไปจะกลัวคือ เราจะพูดภาษาเดียวกับเขาหรือเปล่า หรือเราจะคุมลูกทีมที่อยู่ในอุตสาหกรรมมานานกว่าและมี Expertise ลึกกว่าเราได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราเสียความมั่นใจ แต่พี่เจอเหตุการณ์นี้มาไม่รู้กี่สิบครั้งตอนทำ Management Consultant ซึ่งทำให้พี่รู้ว่า สาระสำคัญคือ เรามีทักษะอื่นๆ ที่ช่วย Add Value ให้เขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารคน การตรวจสอบและแก้ไขปัญหา หรือการที่เรามี Framework ในการแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เรียนรู้เรื่อง Technical หรือ Industry Jargon ที่จำเป็นต้องรู้นะ ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องเรียนรู้ให้เร็ว แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในเวลาอันรวดเร็ว แต่ต้องไม่เปลี่ยนด้วยการเข้าไปบอกว่า ฉันเป็นบอส ฉันสั่งอะไรก็ได้ โดยไม่ไปทำความเข้าใจก่อน แบบนั้นพี่ว่าเป็น Misstep” พี่เก่งสรุป
เพราะเห็นโลกมามาก จึงนำมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากทักษะการเรียนรู้เร็วและการแก้ไขปัญหาที่ได้จากสมัยทำงานเป็น Management Consultant จะช่วยให้พี่เก่งปรับตัวเข้ากับบทบาทใหม่ได้อย่างรวดเร็วแล้ว อีกปัจจัยที่พี่เก่งบอกว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ การได้เห็นโลกกว้าง ตลอดจนได้คลุกคลีอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย
“ยกตัวอย่างตอนทำ Asia Pulp & Paper พี่เห็นว่าที่ไทยมี Copy Paper ไม่กี่แบรนด์ แต่ที่อินโดนีเซียมีเป็นร้อยแบรนด์ พี่มองว่าสมควรต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะพอมีแบรนด์เยอะก็มีค่า Marketing ค่า Production มี Inventory Complication มี Channel ที่จะช่วยโปรโมตแบรนด์ต่างกัน การที่พี่เห็นโลกหลายๆ ส่วน ทำให้พี่สามารถใช้จุดหนึ่งเป็น Reference มา Apply กับอีกจุดหนึ่งได้ พี่ไม่จำเป็นต้องเป็น Industrial Engineer หรือเป็นคนที่เข้าใจเครื่องจักร ก็สามารถช่วย Add Value ได้
“การได้เปิดมุมมองเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ทำให้พี่ได้เรียนรู้ว่าความแตกต่างเป็น Value ที่สำคัญ มันทำให้เรามองโลกหรือมองปัญหาหลากหลายด้านมากขึ้น ซึ่งถ้าพูดถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในองค์กร พี่อยาก Encourage ว่า มีหลายที่ให้ Explore อีกเยอะ อย่าหยุดแค่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เราอาจจะพัฒนา Best Practice มา แต่ถ้าเราลองเปิดใจ เปิดมุมมอง เรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศอื่น เราก็จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เยอะ ซึ่งตรงนี้มันไปไกลกว่าเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วยนะ มันรวมไปถึงคนที่มีวิธีคิดหรือมีแบ็กกราวนด์ต่างกัน ซึ่งเราเรียนรู้จากกันและกันได้ พี่อยากให้เปิดใจ เปิดมุมมองเข้าไว้”
กลับมาไทยพร้อมภารกิจสำคัญที่ Bluebik
หลังจากอยู่อินโดนีเซียได้ราว 8 ปี พี่เก่งก็รู้สึกอิ่มตัวอีกครั้ง ประกอบกับอยากให้ลูกๆ เติบโตในวัฒนธรรมไทย จึงตัดสินใจย้ายกลับไทย ระหว่างที่หยุดพักเพื่อครุ่นคิดกับตัวเองและวางแผนว่าจะทำอะไรต่อ พี่เก่งก็บังเอิญได้ไปเจอพี่โบ๊ทที่งานแต่งงานเพื่อนคนหนึ่ง “and the rest is history” พี่เก่งเล่าด้วยรอยยิ้ม
“พี่ว่ามันเป็น Serendipity เลยล่ะ ชีวิตพี่ Come Full Circle เริ่มต้นจากการเป็น Consultant แล้วไปทำงาน Management Roles ในองค์กรธุรกิจ จนตกผลึกได้แล้วว่า เราต้องการอะไร เราทำอะไรถูก เราทำอะไรไม่ถูก ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้พี่สามารถเป็น Consultant ที่ดีขึ้นได้ เพราะพี่สามารถใช้มุมมองและประสบการณ์จาก 2 ฝั่ง ทั้งในฐานะ Consultant และในฐานะลูกค้า ทำให้คำแนะนำของพี่มีน้ำหนักมากขึ้น”
สำหรับบทบาท Chief Operating Officer ที่ Bluebik นั้น พี่เก่งดูแลครอบคลุมหลายส่วน แต่สรุปง่ายๆ ได้ว่ามาช่วยดูแลคุณภาพของความเป็น Bluebik ทั้งคุณภาพของโปรเจกต์และคุณภาพของคน
“ในมุมโปรเจกต์คือเราจะ Execute โปรเจกต์อย่างไร และจะคงคุณภาพของ Execution ได้อย่างไร อีกมุมคือคน เพราะคุณภาพของ Service Organization ขึ้นอยู่กับคน เราจะช่วยให้คนของเราเข้าถึง Resource ที่ดีได้อย่างไร จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เขาได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้เขาทำงานระดับ Gold Quality”
พี่เก่งมองว่า Bluebik เป็นบริษัทที่เติบโตรวดเร็วและเต็มไปด้วยผู้คนที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ในฐานะคนที่อยากมาช่วยให้ Bluebik เติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ พี่เก่งตั้งข้อสังเกตว่า “สิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในอนาคตได้”
พี่เก่งอธิบายต่อว่า “แน่นอน ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ รักษาคุณภาพงาน และรักษาลูกค้าที่ให้โอกาสและสนับสนุนเรามาตลอด แต่เราต้องไม่จำกัดตัวเองไว้กับสิ่งที่เป็น Comfort Zone ของเรา เช่น ตอนนี้ เรามี Service ที่หลากหลายภายใต้กรอบ Digital Transformation และในอนาคตพี่ว่าเรายังสามารถไปได้ไกลกว่านี้อีกเยอะ รวมทั้งนำของบางอย่างออกมาทำเป็นโปรดักต์ โดยเราสามารถโชว์ได้ว่า ทำไมโปรดักต์ของเราดีกว่า Off-the-Shelf Product ที่มีอยู่แล้วในตลาด และเรายังมีทีมที่มีความพร้อม หากลูกค้ามี Requirement เฉพาะของตัวเองเราก็สามารถ Tailor ให้เขาได้
ในสายตาพี่เก่ง ในอนาคต Bluebik จะเติบโตและยิ่งใหญ่กว่านี้อีกหลายเท่าตัว “เราจะเป็น Global Firm ที่มี Footprint อยู่หลายที่ ทีมเราจะขยายใหญ่ขึ้น และที่สำคัญในแง่ของ Expertise เราก็จะมีคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญครบทุกด้าน”
และนี่คือเรื่องราวและความตั้งใจของพี่เก่ง Chief Operating Officer คนเก่งที่จะเข้ามาเสริมทัพให้ชาว Bluebik แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและเติบโตไปได้ไกลยิ่งกว่าที่เคย
ถ้าใครเจอพี่เก่งที่ออฟฟิศ ก็อย่าลืมแวะเข้าไปทักทายล่ะ รับรองว่าพี่เก่งพร้อมแชร์ประสบการณ์และแนวคิดให้ฟังแบบตัวต่อตัวแน่นอน!
สรุป 3 แนวคิดการทำงานของ “พี่เก่ง COO”
1. จงกล้าออกจาก Comfort Zone ไปเปิดมุมมอง ไปดูโลกกว้าง ไปเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ทั้งในมิติของอาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว
2. ไม่ว่าจะทำงานอะไร สิ่งสำคัญคือเราต้อง Add Value ให้กับองค์กรของเราหรือลูกค้า ลองหยุดแล้วถามตัวเองว่า เรากำลังทำอะไร เรากำลัง Add Value อยู่หรือเปล่า ถ้าคำตอบคือไม่ ก็ต้องหาวิธีปรับแก้หรือวางแผนใหม่
3. ความมั่นใจคือสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ หาวิธีหล่อหลอมความมั่นใจให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสมชั่วโมงบิน การฝึกฝนทักษะ การสร้าง Mindset ที่ดี เพราะแค่มั่นใจก็เท่ากับว่าประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว
5 ข้อที่จะทำให้รู้จัก “พี่เก่ง COO” มากขึ้น
1. คำศัพท์ภาษาอินโดนีเซียที่ชอบที่สุดคือ…
“Bisa แปลว่า Can หรือ ทำได้ เอะอะอะไรก็ Bisa Bisa ไว้ก่อน (หัวเราะ)”
2. เมนูโปรดที่คิดถึงที่สุดเวลาอยู่ต่างประเทศคือ…
“หมี่กรอบราดหน้าหมูที่ร้านหนึ่งในเชียงใหม่ แต่ตอนนี้ร้านเจ๊งไปแล้ว (หัวเราะ) ไปกินไม่ได้แล้ว”
3. สุดสัปดาห์เจอตัวพี่เก่งได้ที่…
“Kid Cafe ครับ พาลูกเที่ยว เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์”
4. เพลงโปรดเวลาตีกลองคือ…
“เพลง Metropolis ของวง Dream Theater เป็นเพลงที่เล่นยากมาก ไม่ได้ยากแค่กลอง แต่ยากทุกอย่าง ต้องเล่นประสานกันทั้งหมด เมื่อก่อนฝึกกันหามรุ่งหามค่ำ”
5. ถ้าย้อนเวลาไปหาตัวเองในวัย 20 ปีได้จะบอกเขาว่า…
“ไปเป็นนักดนตรีเถอะ อย่ามาเป็นคอนซัลต์เลย ชีวิตไม่ได้สุขสบายอย่างที่คิด (หัวเราะ)”