fbpx
เรื่องราวของเรา 30 กันยายน 2024

หมวก 5 ใบที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย สลับสวมใส่เพื่อนำพา Bluebik เติบโตสู่ระดับโลก

ดร.สันติธาร เสถียรไทย หรือ ดร.ต้นสน คือหนึ่งในบุคคลที่เราไม่ต้องเสียเวลาแนะนำตัวให้มากความ 

ไม่ใช่เพราะชื่อเสียงขจรขจาย แต่เพราะ Portfolio แห่งหน้าที่การงานซึ่งเขาจัดสรรมาอย่างดี เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับประเทศไทยมากที่สุดเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้ ทั้งบทบาทในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะอนุกรรมการกฤษฎีการ่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และที่ปรึกษาด้าน Future Economy สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  

ในวันที่ ดร.ต้นสน มีอีกบทบาทใหม่ในฐานะบอร์ดที่ Bluebik เราถือโอกาสนี้ชวนเขามาเล่าให้ฟังว่า นักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารเจ้าของ “หมวก” หลากหลายใบอย่างเขา จะใช้ความรู้และประสบการณ์ของตนมาผลักดันให้ Bluebik เติบโตไปได้ไกลกว่าที่เคยอย่างไรบ้าง 

อย่ารอช้า หยิบหมวกนักเรียนรู้ขึ้นมาสวม แล้วไปฟังวิสัยทัศน์จาก ดร.ต้นสน พร้อมๆ กัน 

หมวกใบที่ 1 : นักเล่าเรื่องผู้รักการเปรียบเปรย 

หนึ่งในบทบาทที่ ดร.ต้นสน รักที่สุดคือการเป็นนักเล่าเรื่อง  

สำหรับเขา การเล่าเรื่องเป็นธรรมชาติราวกับหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่าเรื่องด้วยการเปรียบเปรย หากเคยสนทนากับเขา จะได้ยินอุปมาอุปไมยซักเรื่องสองเรื่องโผล่มาเสมอ 

ในหนังสือเล่มล่าสุด Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม นักเศรษฐศาสตร์มือรางวัลเปรียบชีวิตคนเราเป็นการขับรถบนถนนเส้นยาว เราต้องรู้จักสร้างสมดุล นั่นคือเร่งเครื่องบนทางตรง ผ่อนแรงในช่วงโค้งหักศอก และหักเลี้ยวอย่างไม่ลังเลเมื่อเดินทางมาถึงทางแยกสำคัญ 

เมื่อเราขอให้เปรียบ Bluebik เป็นรถยนต์ที่กำลังวิ่งไปบนถนน ดร.ต้นสน บอกว่า Bluebik คือรถ Sports EV ซึ่งไม่เพียงเครื่องแรง วิ่งเร็ว แต่ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย  และมีคุณสมบัติที่ไม่คิดว่าจะรวมอยู่ด้วยกันได้ในรถคันเดียว และตอนนี้เรากำลังพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง 

“Bluebik หักเลี้ยวครั้งสำคัญมาแล้วตอนเข้าตลาดหลักทรัพย์และปักหมุดการเติบโตนอกประเทศไทย ตอนนี้ Bluebik กำลังพุ่งไปข้างหน้าบนทางตรง มุ่งสู่การเติบโต สิ่งที่ต้องโฟกัสคือการขับให้ดีต่อจากนี้ โจทย์ที่จะผลักดัน Digital & AI Transformation เป็นโจทย์ที่ถูกต้องแล้วและทันสมัยมาก อยู่แค่ว่าตอนนี้ต้องทำให้ดี ทำให้เต็มที่ 

“ถ้าพูดถึง Mission หรือปลายทางของถนนเส้นนี้ มีอยู่ 2 มิติด้วยกัน หนึ่งคือ Bluebik จะเป็น Enabler ที่สำคัญของประเทศไทย โดยจะพาประเทศไปสู่เทรนด์ Digital Transformation โดยเฉพาะ AI Transformation ซึ่งเป็น Wave ล่าสุด สองคือ Bluebik จะทำให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับอนาคต เชื่อมประเทศไทยและองค์กรไทยสู่ระดับโลกได้มากขึ้น คือไม่ใช่แค่ตัวเองไปคนเดียว แต่ Bluebik ไปเพื่อที่จะพาคนอื่นไปด้วย อันนี้เป็นบทบาทสำคัญของ Bluebik และความสำเร็จจะอยู่ตรงนั้น 

“ปลายทางทั้ง 2 มิตินั้นสำคัญเพราะถนนหรือบริบทที่เราอยู่ตอนนี้คือเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งต้องการทั้ง Digital & AI Transformation และการมุ่งสู่ระดับโลก เพราะประเทศไทยมีโจทย์ใหญ่อยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือเรากำลังขาดแคลนแรงงานอย่างมหาศาลในทุกระดับ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรวัยแรงงานน้อยลงเรื่อยๆ ฉุดให้เศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยโตช้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม  

“ปกติหนทางที่เราจะโตได้ ถ้าไม่เพิ่มคน ก็เพิ่มผลผลิตต่อหัว ซึ่งสำหรับประเทศไทยตอนนี้การเพิ่มคนไม่ค่อยเป็นทางเลือก เราต้องเพิ่มผลผลิตต่อหัว ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ตรงนั้นเกิดขึ้นได้คือเทคโนโลยี อันหนึ่งที่เห็นชัดเลยคือ AI ซึ่งบางคนอาจกังวลว่า AI จะมาแทนที่คน แย่งงานคนหรือเปล่า แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งของเหรียญนี้ AI คือโอกาสสำคัญของประเทศที่ขาดแรงงานอย่างมหาศาล เพราะมันจะเป็นตัว Enabler ให้เราสามารถสร้างผลผลิตและเติบโตต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนมากเกินไป  

“แน่นอนว่าเทคโนโลยีไม่ได้ทำให้คนฉลาดขึ้นโดยอัตโนมัติ คนก็ต้องใช้เทคโนโลยีเป็นด้วย ซึ่ง Bluebik มีศักยภาพจะเป็น Enabler ที่ช่วยให้สังคมสามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่ และที่ผมเข้ามา Bluebik ก็เพราะต้องการมาทำภารกิจนี้ เพราะมันตอบโจทย์ประเทศเต็มๆ 

“โจทย์ข้อที่ 2 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือการขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยความที่เศรษฐกิจในประเทศโตช้าลง เราอยู่ในตลาดเราอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องออกไปหาโอกาสข้างนอกด้วย อย่างที่พูดถึงว่าอินโดนีเซียหรือเวียดนามโตเร็ว แล้วทำไมเราถึงไม่ขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดของเขา แล้วเอาการเติบโตของเขามาเป็นของเราล่ะ ถ้าไปได้ก็จะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นเยอะเลย  

“อย่างที่ผมบอกว่าถ้า Bluebik ทำโจทย์ของตัวเองสำเร็จ นั่นคือการออกไปเติบโตนอกประเทศไทย Bluebik ก็จะสามารถพาคนไทยและองค์กรไทยไปด้วย เราจะช่วยเชื่อมประเทศไทยสู่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกด้วยเทคโนโลยี” 

หมวกใบที่ 2 : ผู้บริหารหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย 

บทบาทหนึ่งที่ทำให้คนรู้จัก ดร.ต้นสน มากที่สุด คือการเป็น Group Chief Economist ของหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่เขาตั้งและเขียน Job Description ให้ตัวเอง  

จังหวะการทำงานที่บริษัทแห่งนี้หมุนเร็ว เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง เวลาย้อนเล่าเรื่องนี้ ดร.ต้นสน มักเน้นความสำคัญของการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี  

คำถามคือ แล้วในยุคนี้ที่ AI กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีชีวิตและวิถีการดำเนินงาน องค์กรต่างๆ จะปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร 

“เวลาพูดถึงการปรับตัว บางทีเราตั้งโจทย์ให้ตัวเองผิดนะครับ ในบางองค์กร พอ AI มาก็ถามว่าจะใช้ AI อย่างไรดี ซึ่งโจทย์นี้อาจไม่ได้ผิด แต่อาจไม่ใช่โจทย์ที่ดีที่สุด จริงๆ โจทย์ที่ดีที่สุดคือ “รู้จักเธอ รู้จักเขา รู้จักเรา” ให้ได้ก่อน 

“รู้จักเธอ คือรู้จักลูกค้าของเรา ความต้องการหรือโจทย์ของเขาเปลี่ยนไปอย่างไรในโลกใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแค่เทคโนโลยี เทคโนโลยีมันผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีกมากมาย อย่างเมื่อกี้ที่เล่าให้ฟังว่าการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยคือโตช้าลง ต้อง Go Global มากขึ้น ใช้คนน้อยลง ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องใส่ใจเรื่อง Sustainability มากขึ้น ในฐานะที่เราเป็น Enabler หรือคนช่วย เราต้องเข้าใจว่าในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงเยอะขนาดนี้ โจทย์ของลูกค้าเปลี่ยน ความต้องการของลูกค้าก็เปลี่ยน แล้วเราจะช่วยตอบโจทย์เขาได้อย่างไร 

“อีกอันหนึ่งที่ต้องรู้จักคือรู้จักเขา หรือรู้จักคู่แข่ง เพราะในโลกธุรกิจเราไม่ได้อยู่คนเดียว เราก็ต้องคิดว่า โจทย์เราเปลี่ยน คู่แข่งเราก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกันแหละ เราต้องรู้ว่า เขาปรับตัวอย่างไร พื้นที่เขาอยู่ตรงไหน พื้นที่เราอยู่ตรงไหน บางอย่างเขาทำได้ดีกว่าเรา บางอย่างเราทำได้ดีกว่าเขา มีอะไรที่เราจะสามารถทำได้ดีกว่าคนอื่นหรือ Add Value ได้บ้าง 

“อันสุดท้ายคือรู้จักเรา เราคือใคร Purpose ขององค์กรเราคืออะไร จุดแข็งของเราคืออะไร อยากจะเป็นอะไรให้ลูกค้าของเราในโลกใบนี้ อะไรคือสิ่งที่เราอยากปักธง มันคือการเข้าใจจิตวิญญาณขององค์กร อย่างที่ Satya Nadella แห่ง Microsoft พูดไว้ว่า ให้หา Soul of Your Company 

“เมื่อรู้จัก 3 อันนี้แล้ว เทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือ เป็น Enabler ที่ตามมา ว่าสุดท้ายแล้วเราต้องใช้เทคโนโลยีอะไร AI มันตอบโจทย์ Purpose ความเป็นตัวเรา ทำให้เราใช้ความสามารถของเราได้เต็มที่หรือเปล่า มันคือการเริ่มต้นกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องก่อน เพราะถ้าเราไปเริ่มต้นจากเทคโนโลยีปุ๊บ มันจะกลายเป็นว่าเรามีเครื่องมืออันหนึ่งที่เราต้องมาคิดว่าจะใช้มันทำอะไร ซึ่งมันไม่ใช่ เราต้องเริ่มต้นที่โจทย์ก่อน แล้วถึงไปหาว่าเทคโนโลยีอันไหนดีที่จะตอบโจทย์นี้ได้ 

“ผมคิดว่า Bluebik อยู่ใน Position ที่น่าสนใจ เพราะ Bluebik ไม่ใช่คนที่รับทำเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าลูกค้ามาหาเราโดยบอกว่า คิดมาหมดแล้วว่าอยากจะทำอย่างนี้ Bluebik ทำให้หน่อย มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะ บทบาท Bluebik คือต้องคิดตั้งแต่กลยุทธ์ลงมาว่า โจทย์ของลูกค้าคืออะไร สิ่งที่ต้องการทำคืออะไร มาช่วยกะเทาะและตกผลึกด้วยกันก่อน จนกลยุทธ์มันชัดเจน ซึ่งถ้าเป็น Consulting Firm อื่นๆ อาจจบกันแค่นี้ แต่ Bluebik ช่วย Implement เรื่องเทคโนโลยีต่อให้ได้ จะ Transform องค์กรด้วยเทคโนโลยีอย่างไร เหมาะสมที่จะใช้ AI หรือเปล่า ความเป็นลูกครึ่งของ Bluebik คือจุดแข็งของเรา เพราะเราช่วยตั้งแต่การตั้งโจทย์ คิดหาคำตอบให้โจทย์ รวมถึงลงมือทำเอาเทคโนโลยีมาแก้โจทย์และคิดเรื่องการพัฒนาคนให้ด้วย เป็น End-to-end ผมถึงได้บอกว่า Bluebik เป็นรถ Sports EV เป็นลูกครึ่งที่มีหลายอย่างผสมกันในคันเดียว”  

หมวกใบที่ 3 : ครูใหญ่แห่ง Academy of Changemaker Excellence (ACE)  

หนึ่งในบทบาทใหม่ที่ ดร.ต้นสน เริ่มทำหลังจากกลับมาประเทศไทยคือการเป็นหนึ่งใน Program Director หรือครูใหญ่แห่ง Academy of Changemaker Excellence (ACE) หลักสูตรอบรมผู้นำรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเอง องค์กร และสังคม 

ในบทบาทนี้ ดร.ต้นสน กลั่นเอาประสบการณ์การเป็นผู้นำและ Changemaker ตลอดทั้งชีวิตมาถ่ายทอดให้กับนักเรียน โดยเขาเชื่อว่า Changemaker นั้นมีหลากหลายประเภท และ Changemaker ที่ดีคือคนที่สามารถเปลี่ยนหมวกทั้ง 6 ใบนี้ได้ตามกาลเวลาและบริบทที่เหมาะสม อย่าง ดร.ต้นสน เองที่เคยเป็นทั้ง Initiator คนต้นคิดริเริ่มไอเดียใหม่ๆ Influencer ผู้นำไอเดียนั้นมาสื่อสารให้คนคล้อยและขยับตาม ตลอดจน Supporter ผู้ใหญ่สายซัปฯ ให้น้องๆ ฉายแสง  

“Changemaker มีอยู่ 6 ประเภท แบบที่เรามักนึกถึงก่อนประเภทอื่นๆ คือแบบ Greta Thunberg ที่ออกมาส่งเสียงดัง มีความกระแทก แบบนี้เรียกว่า Accelerator ซึ่งเป็นประเภทที่สำคัญ จะดีมากๆ เวลาที่ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงของเราคือความเฉื่อย ความที่คนรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ต้องรีบ เดี๋ยวค่อยทำ Accelerator จะช่วยเร่งไฟให้อย่างรุนแรงมากๆ ดีมากๆ นะครับ แต่ประเด็นคือแต่ละองค์กรมีปัญหาของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนกัน บางคนในบางองค์กร เขาอาจมีไฟ เขาอาจเก่งทุกอย่างอยู่แล้ว แต่เขาอาจกำลังรู้สึก Frustrated ว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้นซักที ดังนั้น Changemaker ที่ช่วยเขาได้อาจเป็น Supporter ที่มี Empathy สูง ช่วยให้กำลังใจ บอกว่าเราเข้าใจ เคยผ่านตรงนี้มาเหมือนกัน ให้ Wisdom จากความผิดพลาดที่เราเคยทำ ว่าเราเรียนรู้อะไรมาบ้าง  

“ที่ Bluebik ผมคิดว่าจริงๆ แล้วผมคงช่วยได้หลายบทบาท มากกว่า 1 ประเภท แต่ก็มองว่าน่าจะได้เป็น Supporter เพราะในองค์กรที่โตเร็ว มีไอเดีย มีความสามารถในการสื่อสาร มีความเป็น Accelerator ไปเร็ว พุ่งแรงได้อยู่แล้ว น่าจะต้องการ Supporter มาดูเรื่องคน จิตใจคนเป็นอย่างไร ทุกคนยัง Align กันไหม ทุกคนยังมีกำลังใจดีไหม มีตรงไหนที่เราจะเสริมได้บ้าง 

“สำหรับการบ่มเพาะ Changemaker ใน Bluebik ผมว่าที่นี่มี Changemaker หลากหลายประเภทอยู่แล้ว เราแค่ต้องให้พื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ค้นพบประเภท Changemaker ของตัวเอง ถ้าเรามีบริบทที่แตกต่าง ให้เขาได้ทดลองเล่นบทบาทที่แตกต่าง ในแต่ละทีม ในแต่ละสิ่งที่เขาต้องเจอ เขาจะได้ค้นพบ Changemaker ในตัวเอง บางทีเขาอาจไม่รู้ตัวว่าเขามีคุณสมบัตินั้นอยู่ด้วยซ้ำ เช่น เขาอาจนึกว่าเขาเป็นคนพูดไม่เก่ง ไม่ชอบออกหน้า แต่ปรากฏว่าเขาเป็น Connector ที่ดี สามารถช่วยเชื่อมคนแบบ One-on-one ได้ดี ตัวผมเองก็เหมือนกัน บางอย่างเพิ่งมาค้นพบว่าเรามีด้านนี้ในบริบทนี้ แค่อาจไม่ได้มีในทุกบริบท ถ้ามันมีพื้นที่ปลอดภัย ให้พนักงานได้ทดลอง เขาก็จะค้นพบตัวตนและหมวกใบอื่นๆ ของเขา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ Bluebik ทำได้ดีที่สุดคือสร้างพื้นที่ปลอดภัยและ Embrace Diversity ของ Changemaker หลากหลายประเภทครับ” 

ในวันนี้ที่ ดร.ต้นสน เข้ามาเป็น “ครูใหญ่” อีกคนในโรงเรียน Bluebik ข้อคิดสำคัญที่เขาอยากฝากไว้คืออยากให้พวกเรา Stay Humble  

“คำนี้ไม่ได้หมายความถึงการอ่อนน้อมถ่อมตนแบบถล่มตัวเอง จริงๆ มันมี 2-3 ความหมายอยู่ในนั้น ความหมายแรกคือ Ready to Unlearn เราอาจเป็นคนเก่งมากๆ ในบ้างด้าน แต่เราอยู่ใน Industry ที่เปลี่ยนเร็วมาก พอเราถึงยอดเขายอดหนึ่ง เราก็วิ่งเลยไปเขาลูกต่อๆ ไป แล้วมันมีคู่แข่งใหม่ มี Challenge ใหม่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารู้ในวันนี้ วันหน้ามันอาจใช้ไม่ได้แล้วก็ได้นะครับ ซึ่งไม่ใช่แค่โลกเปลี่ยน แต่ตัวเองก็เปลี่ยน องค์กรก็เปลี่ยน เราต้องเอ๊ะนิดนึง ตั้งคำถามตัวเอง คู่แข่ง หรือโลกในสิ่งที่กำลังทำ มันเป็นอย่างนั้นในปีที่แล้ว แต่วันนี้มันยังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า 

“ความหมายที่ 2 คือ Under-promise, Over-deliver เราไม่จำเป็นต้องประกาศว่าเราจะเป็นโน่นเป็นนี่ แต่ให้การกระทำและผลลัพธ์ของเราพูดแทน เราคิดว่าเราทำได้ 100 แต่เราบอกว่าน่าจะทำได้ 80-90 แต่ถึงเวลาจริงเราทำได้ 120 ด้วยซ้ำ ให้ผลลัพธ์เป็น Track Record ที่สร้าง Credibility ของเรา ซึ่งข้อนี้มันเป็นจริงทั้งในระดับพนักงานและระดับองค์กรนะครับ สัญญาน้อยไว้ก่อน Manage Expectation ดีๆ แล้วเราทำให้สูงกว่านั้น Gap ระหว่าง Expectation กับสิ่งที่ทำได้จริงคือสิ่งที่จะทำให้คนในองค์กรมองว่าเราเป็นคนแบบไหน ถ้าเราสัญญาสูงตลอดแล้ว Under-deliver ตลอด เขาก็จะจำว่าเราพึ่งพาไม่ได้ แต่ถ้าเราสัญญาไม่มากนัก แต่ว่า Over-deliver ตลอด เขาก็จะเชื่อมั่นเชื่อถือในตัวเรา  

“ความหมายสุดท้ายคือการมี Challenger Mindset คือมองว่าการเปลี่ยนแปลงคือโอกาส มันจะต่างจาก Champion Mindset ที่จะรู้สึกว่าเราเก่งแล้ว เราเป็นตัวใหญ่ เราจะระวังการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจจะโค่นบัลลังก์ของเรา แต่ Challenger Mindset หรือความเป็นผู้ท้าชิงคือความเป็น Underdog เรารู้สึกว่าเราสู้กับอะไรที่ใหญ่กว่าตัวเราเสมอ และเราเป็นผู้ท้าชิงเสมอ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงคือโอกาส เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะก้าวไปให้ใหญ่กว่าเดิม ให้สูงกว่าเดิม”  

หมวกใบที่ 4 : คุณพ่อผู้ขอเป็นเชฟซูชิ  

นอกเวลางาน บทบาทที่เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดของ ดร.ต้นสน คือการเป็นคุณพ่อของลูกชาย 2 คน ซึ่งเขาให้คำนิยามว่าเป็น “The Most Humbling Experience”  

“พอเป็นพ่อแม่ ทุกคนก็จะตื่นเต้น อ่านหนังสือเยอะ คุยกับหมอคนโน้นคนนี้ ต้องเลี้ยงลูกอย่างไร มีสูตรอะไรบ้าง แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่ค้นพบก็คือว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเชฟ เมื่อก่อนเราคิดว่าเราเป็นเชฟอาหารอิตาเลียนหรืออาหารอะไรก็ตามที่เน้นการปรุง เราปรุงเต็มที่เลย ปรุงอย่างไรรสชาติก็ออกมาเป็นอย่างนั้น แต่พอมาเลี้ยงลูกจริงๆ ผมพบว่าตัวเองเป็นเชฟซูชิ คือสิ่งสำคัญมันอยู่ที่เนื้อปลา เนื้อปลามันมารสชาติแบบนี้ เราจะไปปรุงหรือบังคับให้มันมีรสชาติตามที่เราต้องการไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือ เราทำความรู้จักเนื้อปลานั้นให้ดีที่สุด และถามว่าทำอย่างไรเราถึงจะดึงรสชาติของเนื้อปลานั้นออกมาให้ได้มากที่สุด เนื้อปลาขาวจะต้องทำแบบหนึ่ง ซาบะทำอีกแบบหนึ่ง เนื้อปลาแดงก็ทำอีกแบบหนึ่ง เราปรุงได้ไม่เยอะครับ สิ่งที่ทำได้คือเราเข้าใจธรรมชาติปลา แล้วดึงรสชาติของมันออกมา  

“นั่นคือสิ่งที่ผมเรียนรู้เกี่ยวกับลูก อ่านหนังสือแทบตาย แต่หนังสือส่วนใหญ่ก็เขียนจาก Average ซึ่งเป็นค่าตรงกลางที่มาจากทุกคน แต่ทุกคนแตกต่างกัน ผมมีลูก 2 คน ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่นิดเดียว วิธีที่ใช้กับคนหนึ่งได้ ใช้กับอีกคนไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดูว่า ลูกคนนี้เป็นปลาเนื้อขาว ลูกคนนี้เป็นปลาเนื้อแดง เราก็ต้อง Recognize และปฏิบัติกับเขาต่างกัน ผมถึงกับส่งลูก 2 คนไปคนละโรงเรียน เพราะคิดว่าเขาคาแร็กเตอร์ต่างกัน  

“ขมวดกลับมาเรื่องการบริหารคน ผมคิดว่าสุดท้ายเราต้องรู้จักน้องทุกคนในแบบของตัวเขา เขาเป็นปลาคนละประเภท แตกต่างกัน แล้วคนเป็นผู้นำจะ Enable เขายังไง ให้เขาดึงรสชาติของตัวเองออกมาให้เต็มที่ที่สุด  

“ซึ่งผมอยากให้น้องๆ ที่ Bluebik เอา Mindset นี้ไปใช้ต่อเวลาเขาไป Enable องค์กรอื่นๆ เหมือนกัน เพราะในฐานะ Enabler เราต้องดูว่าองค์กรที่เราไปช่วยเขาเป็นปลาแบบไหน แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะดึงรสชาติของเขาออกมาได้มากที่สุด” 

หมวกใบที่ 5 : ต้นสนที่หยัดรากลึกและแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา 

บทบาทสุดท้ายหรือเรียกได้ว่าเป็นร่มใหญ่ที่ครอบคลุมทุกบทบาทของ ดร.ต้นสน คือการเป็นต้นสนที่หยัดรากลึกและแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา เป็นที่พึ่งพิงและสร้างประโยชน์ให้กับคนรอบตัว  

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมนักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารที่ทำงานบนเวทีโลกมาแทบทั้งชีวิตถึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่ประเทศไทย แต่แท้จริงแล้วนี่คือจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตการทำงานของ ดร.ต้นสน นั่นคือการใช้ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกให้กับคนไทยและสังคมไทย  

และในวันนี้ เขาตั้งใจจะทำสิ่งนั้นผ่าน Bluebik บริษัทที่จะพาประเทศไทยมุ่งสู่ระดับโลกด้วยเทคโนโลยี 

“ภารกิจใหญ่ของผมคือการสร้างอิมแพกต์เพื่อประเทศไทย แต่จริงๆ แล้วมันมีภารกิจย่อยของตัวเองอยู่ในนั้นเหมือนกัน ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่กลับมาเมื่อปีที่แล้ว คืออยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยโดย 3 ช่องทาง หรือ 3 Connect 1) Connect ประเทศไทยกับโลก 2) Connect คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นผู้ใหญ่ และ 3) Connect คนกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาส  

“ผมตั้ง 3 ภารกิจนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนเจอ Bluebik เสียอีก เพราะฉะนั้นเวลาจัดสรร Portfolio ของงานที่จะทำ ผมก็ถามตัวเองว่ามันตรงกับ Mission ไหนบ้างใน 3 อันนี้ มันต้องตรงบ้างแหละ ถ้าไม่ตรงก็คือไม่ทำ ซึ่ง Bluebik ตรงกับทั้ง 3 ภารกิจของผมเลย เรื่องเทคโนโลยีและการมุ่งสู่ระดับโลกนี่ชัดเจนมากๆ อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการ Connect คนต่าง Generation ผมมองว่า Bluebik เป็นบริษัทที่มีคนรุ่นใหม่เยอะ ซึ่งจะมองว่ามาคอนเนกต์กับผมซึ่งเป็นรุ่นใหญ่หน่อยก็ได้ หรือจะมองว่า Bluebik เป็น Enabler ซึ่งไม่ได้โตด้วยตัวเอง แต่ต้องเข้าไปทำงานกับองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่เขามาจาก Generation อื่น ซึ่งเราจะ Connect อย่างไรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องและยั่งยืน  

“จะเห็นว่าตัวตนของ Bluebik สอดคล้องกับ 3 ภารกิจของผมมากๆ จึงเหมาะที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยด้วยกันครับ”