Ep. 2: 3P เข็มทิศสู่ความสำเร็จด้าน ESG ในองค์กร
ผลลัพธ์ที่มิใช่ผลกำไรอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยมองแผนงานด้าน ESG เป็นภาระขององค์กร อย่างไรก็ตามผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและข้อเรียกร้องด้านบรรษัทภิบาล กดดันให้ธุรกิจต้องจัดให้ ESG เป็นพันธกิจหนึ่งขององค์กร เพราะปัจจุบันผลกำไรเพียงอย่างเดียว มิอาจสะท้อนถึงคุณค่าของธุรกิจได้อย่างแท้จริง
การสร้างสมดุลอย่างเหมาะสมระหว่าง ผลตอบแทนบริษัท ผู้คนและสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นภารกิจของธุรกิจที่อยากเติบโตอย่างยั่งยืน แต่การประสบความสำเร็จด้าน ESG เป็นเรื่องท้าทายหากปราศจาก ความรู้ความเข้าใจและกรอบการทำงานที่ถูกต้อง ซึ่งบทความนี้มาเผยเคล็ด (ไม่) ลับ ที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ง่ายกว่าที่คุณคิด
3P เข็มทิศสร้างสำเร็จด้าน ESG
Tripple Bottom Line หรือ 3P: People (คน), Planet (โลก), และ Profit (ผลกำไร) คือ กรอบการทำงานที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ปัจจุบันองค์กรธุรกิจจำนวนมากได้ปรับใช้ TBL ในการประเมินทั้งผลกระทบจากการดำเนินงาน การสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจต่อสังคม รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
People: ในอดีตการดำเนินธุรกิจจะให้ความสำคัญกับผลกำไรต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นหลัก แต่ People ในบริบทนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าองค์กรดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร โดยจะพิจารณาจากกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ดังนี้
- ลูกค้า (Customers): องค์กรส่งมอบสินค้า/บริการที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงในราคายุติธรรม
- ซัพพลายเออร์ (Suppliers): การสนับสนุนธุรกิจซัพพลายเออร์ขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือมีวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน
- พนักงาน (Employees): การจัดให้มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและเหมาะสม การให้ค่าตอบแทนอย่างยุติธรรมและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะให้แก่พนักงาน
- ชุมชน (Community): การสนับสนุนชุมชนในท้องถิ่นและสร้างผลประโยชน์ให้เกิดแก่ชุมชนใกล้เคียง
Planet: เป็นการชี้วัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานขององค์กร ได้แก่
- ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint)
- การใช้พลังงาน
- การใช้น้ำประปา
- การก่อให้เกิดขยะหรือของเสีย
ธุรกิจสามารถลดการใช้การพึ่งพาพลังงานฟรอสซิลและเลือกวิธีการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือลดการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น อีกองค์กรยังสามารถปรับปรุงกระบวนการจัดการของเสียด้วย้เทคโนโลยี
Profit: การแสวงหาผลกำไรของบริษัทจะต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมและดำเนินธุรกิจอย่างยุติธรรมต่อซัพพลายเออร์และคู่ค้า จ่ายเงินเดือนตรงเวลา ปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินที่มีต่อพนักงานและให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่น
ประโยชน์ที่ได้จากการปรับใช้ 3P ในองค์กร
การปรับสมดุลการให้ความสำคัญกับด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กับผลประกอบการทางธุรกิจอย่างเหมาะสม นอกจากความน่าเชื่อถือแล้วยังนำมาซึ่งประโยชน์ทางธุรกิจและสามารถสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรในหลายมิติ ได้แก่
- การเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร: การให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ ยกระดับความสัมพันธ์และความจงรักภักดีของพนักงานที่มีต่อองค์กร
- การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า: ภาพลักษณ์ด้านจริยธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ยกตัวอย่าง กว่าร้อยละ 64% ของผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ
- การยกระดับประสิทธิภาพการทำธุรกิจ: องค์กรที่มีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบมักมีผลประกอบการทางการเงินที่เหนือกว่าองค์กรทั่วไป
- การลดความเสี่ยงด้านการกำกับดูแล: การรายงานผลการดำเนินงานด้าน ESG กำลังกลายเป็นแนวปฏิบัติสำคัญของการทำธุรกิจ และช่วยป้องกันค่าปรับหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
- การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน: การบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างมีความรับผิดชอบช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักทางธุรกิจ
- การดึงดูดนักลงทุน: ปัจจุบัน นักลงทุนให้ความสำคัญกับคะแนน ESG มากขึ้น การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นจุดดึงดูดที่สำคัญ
การนำแนวคิดสามมิตินี้มาใช้ไม่เพียงแต่สร้างคุณค่าให้องค์กร แต่ยังเป็นการวางรากฐานสู่ความยั่งยืนในโลกธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านองค์กรธุรกิจนี้ จำเป็นต้องมี 3 ปัจจัยดังต่อไปนี้
- การสร้างแรงจูงใจ: เป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนแผนการด้าน ESG ให้ประสบความสำเร็จ โดยธุรกิจจำเป็นต้องสร้างรางวัลตอบแทน (Incentive) อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของพนักงาน เช่น การกำหนดให้แผน ESG เป็นส่วนหนึ่งของ KPI พนักงาน เป็นต้น
- การตรวจสอบขีดความสามารถ: การขับเคลื่อนนโยบาย ESG ให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องทราบถึงขีดความสามารถของพนักงานในการปฏิบัติตามแผนงานด้าน ESG เช่น การตรวจสอบปริมาณงานและลักษณะงานของพนักงาน เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติอย่างเหมาะสมโดยไม่กระทบหน้าที่หลักในแต่ละวัน เป็นต้น
- การกำจัดอุปสรรคให้แก่พนักงาน: การจัดหาเครื่องมือ/อุปกรณ์ เพื่อช่วยลดภาระงานทำให้พนักงานสามารถ ดำเนินแผนงาน ESG ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพพ
การขับเคลื่อนนโยบาย ESG ให้ประสบความสำเร็จนั้น องค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน การตรวจสอบขีดความสามารถ และการกำจัดอุปสรรคในการทำงาน โดยเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างสมดุลระหว่างผลประกอบการ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำองค์กรไปสู่การเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก keyesg
สามารถติดตามอ่าน ESG: จาก ‘ภาระ’ สู่ ‘ภารกิจ’ ขององค์กร EP.1 ได้ที่ EP.1 เปิด 8 แนวทางหนุนให้ ESG เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ