เป็นที่ทราบกันดีว่า Generation Y หรือมิลเลนเนียล ที่มีอยู่ราว 1,800 ล้านคน ครองสัดส่วน 23% ของจำนวนประชากรทั่วโลก เป็นกลุ่มคนที่มีทรงอิทธิพลทั้งในแง่ของแรงงานและกำลังซื้อ และอีกไม่นานเกินรอกลุ่ม Generation Z ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของโลก ที่ปัจจุบันมีจำนวนถึง 2,200 ล้านคนหรือราว 26% ของประชากรโลกทั้งหมดจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลกและธุรกิจในอนาคต
อิทธิพลในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนมือจากคนยุค Baby Boom เป็น Youth Boom กำลังกดดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เท่าทันกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วของ Gen Y และ Z จึงไม่น่าแปลกใจที่กระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกลายเป็นพันธกิจที่องค์กรธุรกิจต้องเร่งลงมือทำในช่วงที่ผ่านมา ผนวกกับการเข้าสู่ภาวะปกติของภาคธุรกิจ
อีกทั้งวิกฤตโรคระบาดได้ทำให้เกิดแข่งขันมากขึ้น ตอกย้ำให้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ที่ทวีความรุนแรง ทำให้องค์กรธุรกิจต้องหันมาใส่ใจด้าน ESG อย่างจริงจัง หากต้องการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
จากรายงานของ Morningstar U.S. Sustainability Leaders Index ในปี 2021 เปิดเผยว่า บริษัทที่มีคะแนนยอดเยี่ยมด้าน ESG สามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 33.3% (YoY) และสูงกว่าผลประกอบการโดยเฉลี่ยของธุรกิจในสหรัฐอเมริกาถึง 8% โดยรายงานดังกล่าวนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ Deutsche Bank ที่ระบุว่าผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับเรตติ้งด้าน ESG อยู่ในระดับสูง สามารถเติบโตเหนือตลาดทั้งในระยะกลาง (5 ปี) และระยะยาว (5 ถึง 10 ปี)
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงด้านกลยุทธ์ การบริหารจัดการ กระบวนการ รวมถึงรูปแบบการจัดการทรัพยากรต่างๆ ทั้งมนุษย์และเทคโนโลยีถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอด การมีบทบาทและตัวตนในโลกแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืน
กลยุทธ์ ESG คืออะไร?
กลยุทธ์ ESG ประกอบด้วย การใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Environmental Concern) การสนับสนุนความยั่งยืนของสังคม (Social Sustainability) และการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมภิบาล (Corporate Governance) ซึ่งเป็น 3 แกนหลักด้านความยั่งยืนที่เป็นหัวใจของธุรกิจในยุคปัจจุบันและเชื่อมโยงกับ UN Sustainable Development Goals อีก 17 ข้อโดยตรง
ด้วยเหตุนี้ นโยบายด้าน ESG จึงเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่นักลงทุนทั่วโลกใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าลงทุนในบริษัทต่างๆ รวมถึงเป็นหัวข้อสำคัญในการปรับกลยุทธ์ธุรกิจที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
3 ผลลัพธ์เชิงบวกต่อธุรกิจที่มี ESG Proposition แข็งแกร่ง
หากองค์กรต้องการริเริ่มวางกลยุทธ์ด้าน ESG ในการจัดทำกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจ (Business Model) บนโลกดิจิทัลที่สามารถเชื่อมต่อโลกออนไลน์กับออฟไลน์ (O2O2O Seamlessness) ได้แบบไร้รอยต่อ จำเป็นต้องพิจารณาทุกแง่มุมของ ESG โดยเฉพาะการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจ เพื่อระบุและจัดลำดับประเด็นที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งด้านบวกและลบ
โดยองค์กรที่มี ESG Proposition ที่แข็งแรง จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ธุรกิจ (Business Impact) อย่างเป็นรูปธรรมได้ ดังนี้
1. การสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น (Shareholder Value Creation)
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจจากการดึงดูดนักลงทุน มีกองทุนจำนวนมากที่เลือกลงทุนในธุรกิจที่มีการดำเนินนโยบายด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าธุรกิจที่ไม่มีนโยบายด้าน ESG
2. การสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม (Social Value Creation)
การกระจายโอกาสไปยังชุมชนรอบข้าง ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) ที่นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังสร้างความภาคภูมิใจ และความพึงพอใจให้แก่พนักงาน (Employee Satisfaction) ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น
โดยการดำเนินนโยบายจ้างงานที่เปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพศ และสถานะทางสังคม จะช่วยดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถและทำให้ประสิทธิผลในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งวัฒนธรรมที่เปิดกว้างยังก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ และนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
3. การสร้างผลลัพธ์ด้านการเงิน (Financial Performance Improvement)
การเพิ่มรายได้จากสินค้าและบริการภายใต้แนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ยินดีที่จะซื้อสินค้าและบริการเหล่านี้ แม้ว่าจะมีราคาเฉลี่ยสูงกว่าสินค้าปกติก็ตาม ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจจากการใชัพลังงานลดลง
3 ปัจจัยสำคัญปูทางความสำเร็จสู่ ESG Transformation
แม้การลงมือปฏิบัติตามแผน ESG ของหลายองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดทำเอกสารรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ในมุมมองของ บลูบิค (Bluebik) นั้น ในแง่ของการวางกลยุทธ์องค์กร หากต้องการสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่า องค์กรจำเป็นต้องกำหนดให้ ESG เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์หลัก
พร้อมเปลี่ยนกรอบความคิดและการทำงาน ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงพนักงาน (People) รวมถึงรูปแบบของการทำงาน (Process) และเทคโนโลยีและระบบต่างๆ (Technology) ในการทำงานเพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของอนาคต (Future Proofing)
1. ผู้บริหารและพนักงาน
การดำเนินการ ESG Transformation ควรเริ่มต้นจากระดับผู้บริหารจนถึงพนักงาน (Top – Down) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์ขององค์กรและกลยุทธ์ (Business Objective Driven) โดยผู้บริหารสูงสุดจะเป็นผู้กำหนดวาระองค์กรด้านความยั่งยืน (ESG Agenda) และให้ความสำคัญกับการช่วยสนับสนุนให้แผนงานประสบความสำเร็จเป็นหลัก
ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ทรัพยากร การวางแผน การดำเนินการ การติดตามผล และการปรับปรุงเป็นไปอย่างบูรณาการ ให้สามารถถ่ายทอดวาระดังกล่าวนี้ให้กับผู้บริหารลำดับถัดไปจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการในการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับสอดแทรกผลลัพธ์จากการปฏิบัติตามแผนงานด้าน ESG ให้เป็นหนึ่งในการวัด Key Performance Indicator – KPI ของแต่ละบุคคลด้วย
2. กระบวนการ
ในกระบวนการทำ ESG Transformation ควรเริ่มจากการกำหนดกรอบการทำงาน (Framework) ครอบคลุมตั้งแต่วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทางการดำเนินงาน และวิธีการวัดผล เพื่อให้กระบวนการทำ ESG Transformation สามารถเชื่อมโยงกับกลยุทธ์หลัก ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
การเผชิญกับข้อแย้งระหว่างการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Value Creation) กับผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder’s Value Creation) เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในกระบวนการทำ ESG Transformation ตัวอย่างเช่น แนวทางการสร้างกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น อาจสวนทางกับการให้ผลตอบแทนระดับสูงกับพนักงานที่มีความสามารถ เป็นต้น ดังนั้นการสร้างสมดุลจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้การสร้างมูลค่าจากแผนงานด้าน ESG ควรวัดผลเชิงปริมาณได้อย่างชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการเปลี่ยนผ่านด้าน ESG ในมิติต่างๆ
3. เทคโนโลยี
การเลือกใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยด้านบุคลากรและกระบวนการ ดังนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยีหรือการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงควรพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ใน 3 ด้านด้วยกัน
- การทำงานภายในองค์กร
การเลือกใช้เครื่องมือ ฮาร์ดแวร์ หรือโซลูชันที่เหมาะสม จะส่งผลให้องค์กรสามารถสร้างผลลัพธ์ (Output) ออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น การโยกย้ายกระบวนการทำงานไปอยู่บนระบบคลาวด์ (Cloud-based Architecture) ที่สามารถปรับลดการใช้งานได้ตามความต้องการ เพิ่มความสะดวกในการแชร์ทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กร ทำให้ช่วยลดการใช้พลังงานมากกว่าบนระบบแบบ On-Premises
- การดำเนินงานของธุรกิจ
Sustainable Technology ช่วยให้องค์กรใช้พลังงานและทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น ลดการปล่อยมลภาวะ และสร้างแนวทางการจ้างงานที่เป็นธรรม เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) มาลดภาระการทำงานซ้ำซากที่ต้องใช้เวลาการทำงานยาวนาน ไปจนถึงการผสมผสานการใช้เทคโนโลยี Advanced Analytics และ AI มาสร้างโมเดลคำนวณแนวทางลด Carbon Footprint ให้น้อยลงที่สุด โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน เป็นต้น
- การนำเสนอสินค้าและบริการให้ลูกค้า
Sustainable Technology เปิดโอกาสในการออกแบบสินค้าและบริการ ที่ตอบสนองเรื่องความรักษ์โลกของลูกค้าได้ ตัวอย่างเช่น ลูกค้าอยากใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขณะที่ต้องการวัสดุคุณภาพดีและราคาไม่แพง ซึ่งการนำ Sustainable Technology มาใช้ สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิตของสินค้าดังกล่าวลงได้ โดยที่ยังคงคุณภาพของวัสดุได้ดังเดิม
แม้ ESG จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในสปอร์ตไลท์ความสนใจของธุรกิจทั่วโลก โดยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาและนับจากนี้ จะมีการผลักดันนโยบายด้าน ESG ทั้งในระดับประเทศและองค์กรอย่างจริงจัง เห็นได้จากกระแสที่ผู้บริโภคพร้อมจ่ายเพื่อสินค้ารักษ์โลกมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งนโยบายด้าน ESG ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจในการลงทุน ดังนั้นตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการให้เพื่อได้รับของภาคธุรกิจ หรือ Give and Take เพราะมนุษย์เราเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเอง และต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้น
หากองค์กรธุรกิจต้องการคำปรึกษาด้านกลยุทธ์ ESG เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จด้วยแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด บลูบิค (Bluebik) ในฐานะที่ปรึกษาชั้นนำผู้ให้บริการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันครบวงจร มีแผนกลยุทธ์ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจ ที่อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยสามารถติดต่อสอบถามหรือปรึกษาได้ที่ [email protected] หรือโทรศัพท์ 02-636-7011