fbpx
บทความ 18 ตุลาคม 2022

ยกระดับเทคโนโลยี Cloud Computing ด้วย 5 หลักการออกแบบ ‘Cloud Architecture’

บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาชั้นนำผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน  แบบครบวงจร แนะองค์กรยกระดับเทคโนโลยี Cloud Computing ด้วยการออกแบบ ‘Cloud Architecture’ หรือสถาปัตยกรรมคลาวด์ 5 ประการ ครอบคลุมตั้งแต่การดำเนินงาน ความปลอดภัย ค่าใช้จ่าย ความน่าเชื่อถือ และความเสถียรของระบบ ซึ่งหลักการดังกล่าวจะทำให้การบริหารจัดการระบบเซิร์ฟเวอร์ (Server) ขององค์กรมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และรองรับการทำงานงานรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อปูทางสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวให้องค์กร

นายพิพัฒน์ ประภาพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการและหัวหน้าทีม Big Data and Advanced Analytics   บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวว่า ปัจจุบันระบบ Cloud Computing กำลังได้รับความนิยม   มากขึ้นเรื่อยๆ สอดรับกับผลการสำรวจของ Gartner ภายใต้หัวข้อ Cloud Shift ที่ระบุว่า ในปี 2568 การใช้จ่ายมากกว่าครึ่งด้านไอทีขององค์กรจะเกี่ยวข้องกับระบบ Cloud และมีหลายเทคโนโลยีหลักที่จะย้ายไปใช้บริการระบบคลาวด์มากขึ้น เช่น ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น จากกระแสดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์ว่า ระบบคลาวด์จะเป็นอีกเทรนด์สำคัญในโลกธุรกิจแห่งอนาคต ที่เข้ามารองรับการใช้งานขององค์กรทุกขนาดและสามารถรองรับระบบการทำงานในรูปแบบใหม่ เช่น Work from Anywhere – Any Time

นอกจากนี้ ระบบคลาวด์ยังช่วยให้การบริหารค่าใช้จ่ายขององค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ลดการลงทุนด้านเซิร์ฟเวอร์แบบ On-premises และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบเอง และยังมีระบบการชำระเงิน ‘แบบใช้ก่อนจ่ายทีหลังและระบบจ่ายตามการใช้งานจริง’ ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร อีกทั้งผู้ให้บริการระบบคลาวด์หลายรายมีการพัฒนาแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในปัจจุบันการประยุกต์ใช้ Cloud Computing มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ

1) การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและระบบจัดเก็บข้อมูล หรือทำหน้าที่แทนเซิร์ฟเวอร์ (Infrastructure-as-a-Service หรือ IaaS)

2) การให้บริการด้านแพลตฟอร์มสำหรับซอฟต์แวร์ (Platform-as-a-Service หรือ PasS) เช่น เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) ระบบประมวลผลกลางขององค์กรขนาดใหญ่ (Database Server) หรือระบบ API ที่มีการรักษาความปลอดภัยสูง

3) การให้บริการซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน (Software-as-a-Service หรือ SaaS) ที่ส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการตามการใช้งาน


“โดยทั่วไปแล้ว Cloud Computing มีพื้นฐานการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมที่ไม่ต่างจากระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบ On-premises ที่มีระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเป็นของตนเอง เพียงแต่อุปกรณ์หรือเซิร์ฟเวอร์ของระบบคลาวด์นั้นจะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ให้บริการแทน ซึ่งสามารถใช้งานผ่านระบบต่างๆ เช่น หน้าเว็บไซต์ (Portal) หรือ ด้วยคำสั่ง Command-line Interface (CLI) ผ่าน Console โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการและระบบต่างๆ ได้ง่าย ด้วยการเลือกแพ็คเกจและตั้งค่าใช้งาน จากนั้นระบบจะบริหารจัดการให้เอง และสามารถยกเลิกการใช้งานได้ตามต้องการ แต่การออกแบบ ‘Cloud Architecture’ ให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงของแต่ละองค์กรที่มีรูปแบบธุรกิจและกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันนั้นจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน” นายพิพัฒน์ กล่าว

โดย บลูบิค เปิดเผยถึงหลักการออกแบบ ‘Cloud Architecture’ หรือ สถาปัตยกรรมคลาวด์ ตามแนวทางปฏิบัติงานที่ดี หรือ Best Practice ของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบที่ออกแบบนั้นสามารถใช้งานได้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์การใช้งานจริงและพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ โดยหลักการออกแบบแบ่งออกเป็น 5 ประการ ดังนี้

1) หลักการออกแบบด้านการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ (Operational Excellence) ที่มุ่งเน้นการออกแบบให้ง่ายต่อการตรวจสอบ การพัฒนาระบบ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการและสภาวการณ์ของภาคธุรกิจ

2) หลักการออกแบบด้านความปลอดภัย (Security) ที่จะต้องป้องกันตั้งแต่การแลกเปลี่ยนข้อมูล การเชื่อมต่อ และการจัดเก็บข้อมูล ด้วยการเข้ารหัสไว้ทั้งหมดผ่านกุญแจ (Encryption Key) รวมถึงการออกแบบจะต้องง่ายต่อการตรวจสอบความปลอดภัย และกำหนดสิทธิ์การใช้งานให้ครอบคลุมและเจาะจงมากพอในแต่ละส่วนงาน ซึ่งการออกแบบด้านความปลอดภัยนี้เป็นไปตามหลักปฏิบัติของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)  

3) หลักการออกแบบด้านค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ (Cost Optimization) ที่มุ่งเน้นเรื่องการตรวจสอบและประมาณการค่าใช้จ่ายในอนาคตได้ง่าย สามารถลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดขนาดเครื่องมือให้สอดรับกับการใช้งานจริง

4) หลักการออกแบบด้านความน่าเชื่อถือของระบบ (Reliability) ที่ให้ความสำคัญในการทำ Backup และ Restore รวมถึงการทำสำเนาข้อมูลจัดเก็บไว้ในหลายแหล่ง เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้ต่อเนื่องแม้เกิดปัญหา และยังสามารถรองรับการใช้งานที่มากขึ้นหรือลดลงในระยะยาว

5) หลักการออกแบบด้านเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน (Performance Efficiency) เน้นการออกแบบให้ระบบสามารถทำการพัฒนาและทดสอบได้เหมือนกับการใช้งานจริงบน Production ดังนั้นการทดลองสิ่งใหม่ๆ จึงทำได้ง่ายและสามารถตรวจสอบผลกระทบได้ก่อนนำไปใช้งานร่วมกับระบบอื่นๆ ลดข้อผิดพลาดและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

“นอกจากกระบวนการออกแบบ Cloud Architecture แล้ว องค์กรที่ต้องการใช้บริการระบบคลาวด์จำเป็นต้องมีการวางแผนงานด้านอื่นๆ ก่อนการออกแบบอย่างรัดกุม เช่น การวางแผนด้านบุคลากรที่จะเข้ามาดูแล พัฒนา และใช้งาน และการวางแผนด้านงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ Big Data บนระบบคลาวด์ ที่ต้องคำนึงถึงการนำข้อมูลให้ผู้ใช้งานทั้งนักวิเคราะห์ข้อมูลและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและนำไปทำ Artificial Intelligent (AI) ด้วยตัวเองหรือที่เรียกว่า Self-service Analytics ได้ ดังนั้นหากต้องการให้กระบวนการทำงานตั้งแต่การเตรียมความพร้อมก่อนการออกแบบ และการออกแบบ Cloud Architecture ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่เดิม และรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่ในอนาคต เป็นไปตามเป้าวัตถุประสงค์อย่างราบรื่น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและองค์ความรู้จากหลายส่วนงาน ด้วยเหตุนี้ การเลือกใช้ที่ปรึกษาที่ให้บริการแบบครบวงจร และมีความรู้ความเข้าใจทั้งภาคธุรกิจและเทคโนโลยี จะช่วยให้กระบวนการทำงานทั้งหมดเป็นไปอย่างราบรื่น ลดความผิดพลาดและสามารถใช้งานระบบได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว” นายพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย