หากจะต้องเปรียบเทียบ Career Journey ของเรากับอะไรสักอย่าง เราจะเปรียบเทียบกับอะไร บางคนก็บอกว่า เหมือนรถไฟเหาะ บางคนก็บอกว่า เหมือนเล่นสกี แต่สำหรับมาย-ธนพล Lead Backend แห่งทีม Digital Excellence and Delivery (DX) เขาเปรียบการเดินทางของเขาเหมือนการขับจรวดสู่อวกาศ
“มาย-ธนพล สุพิทยากุล” คือหนึ่งในคนGen Z สายเทคที่น่าจับตามอง ด้วยเส้นทางการเติบโตในระยะเวลาเพียง 3 ปี จากหนึ่งในทีม Front-End ขยับมาสู่ทีม Back-End จากนั้นได้ขึ้นเป็นซีเนียร์ และในปีที่ผ่านมาก็เพิ่งได้รับการโปรโมตขึ้นเป็น Lead Backend Engineer ซึ่งหลายๆ โปรเจกต์ที่เขาดูแล สามารถ “ลดคอสต์” ได้อย่างน่าทึ่งและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสร้างอิมแพกต์ได้จริง เรียกได้ว่าเรามองเห็นอนาคตที่งดงามของเขาได้ไม่ยากเลย

ย้อนไปก่อนหน้านั้น มายคือบัณฑิตจากสาขาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเรียนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ใดๆ ก็ตามที่บินได้ ตั้งแต่โดรน เครื่องบิน ไปจนถึงยานอวกาศ แต่จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นตอนเขาเรียนปี 4 หลังจากที่ได้ลองฝึกงานและพบว่ากระบวนการผลิตอากาศยานสักลำนั้น มีความหน่วงในการผลิต ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลลัพธ์ของการทำงาน ซึ่งไม่ทันใจเขานัก ดังนั้นเขาจึงใช้เวลาในการเรียนปีสุดท้ายควบคู่ไปกับการรีสกิลตัวเองเพื่อเปลี่ยนสายไปสู่การเขียนโค้ดที่เห็นผลลัพธ์เร็วทันใจกว่า และเขาก็ทำได้สำเร็จ
“มาย-ธนพล สุพิทยากุล” บัณฑิตจากสาขาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังเรียนจบ เขาได้งานในตำแหน่ง Front-End Engineer สังกัดทีมที่รวบรวบผู้เชี่ยวชาญสายเทคเข้าไว้ด้วยกันอย่าง Digital Excellence and Delivery (DX) ที่ Bluebik ทันที และตลอด 3 ปีในการทำงานที่นี่ เขาก็ได้รับโอกาสมากมาย ทั้งในการย้ายสายงานและการเติบโต – พออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจเห็นภาพมายเป็นคนที่เต็มไปด้วยแพสชั่นและแน่วแน่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้กับตัวเอง แต่ตรงกันข้าม เขาไม่เคยตั้งเป้าเอาไว้ว่าอายุเท่าไหร่ตัวเองจะต้องเป็นอะไร มายคือคนที่พร้อมกระโจนไปตาม Flow พร้อมจะปรับตัวกับงานที่ได้รับหรือรับบทบาทหน้าที่ใหม่ๆ และไม่หยุดที่จะคว้าโอกาสที่ถูกหยิบยื่นให้
โอกาสนี้ เราเลยอยากชวนไปอ่านเรื่องราวของมาย ที่เขาเองเปรียบเทียบเอาไว้ได้อย่างเห็นภาพ ถึงการเดินทางไปสู่อวกาศ
เฟสที่ 1: Launching from the Earth
ช่วงเก็บเกี่ยวความรู้และย้ายสายงานจาก Front-End สู่ Back-End
“ถ้าให้เปรียบเป็นจรวด ก็คงเป็นเหมือนตอนที่มันกำลัง Launch จากสถานี ตอนที่มันยังอยู่ในโลก กําลังเก็บความเร็วอยู่ แต่จังหวะนั้นแหละครับ ตามหลักของอากาศยาน เขาก็จะมองว่ามันเป็นจังหวะที่น่ากลัวที่สุด ถ้าเกิดจะมีอะไรผิดพลาด มันก็คือตอนนั้นนั่นเอง”
ในฐานะ First Jobber มายคือเด็กจบใหม่ที่ทำงานไม่ตรงสายที่เรียนมา และสิ่งที่เขาทำอย่างเต็มที่ในการทำงานช่วงแรกก็คือการเรียนรู้ ด้วยมายด์เซ็ตที่ว่างานของ Software Developer นั้นคืออวกาศที่กว้างไกล เขายังรู้แค่ผิวเผินเท่านั้น ดังนั้น การรับฟังทีมและศึกษาเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
“ตอนแรกเราเข้ามาทำงาน Front-End เพราะมันเห็นภาพชัด เราบอกให้พื้นหลังสีฟ้ามันก็สีฟ้า เราบอกให้ตัวอักษรสีแดงมันก็สีแดง กดปุ๊บมันก็มาเลย เรารู้สึกว่ามันรีแอคทีฟดี ทีนี้พอเราทำ Front-End ได้ประมาณ 2 เดือน เราก็มีโอกาสได้คุยกับไดเรกเตอร์ ซึ่งเขาถามเราว่าสนใจมาทำทีม Back-End มั้ย เพราะกำลังรีครูทคนเพิ่ม ตอนนั้นทุกอย่างมันใหม่หมดสำหรับเรา แต่เราก็บอกไปว่า ตกลงครับ ซึ่งถ้าถามว่าทำไมถึงตัดสินใจย้าย มันไม่ได้มีเหตุผลตายตัวเลย ผมรู้สึกว่าตอนนั้นเราแค่ Go with the Flow มีโอกาสอะไรลอยมาเราก็แค่คว้าไว้”
“การที่ทำ Front-End มาก่อน ช่วยทำให้งาน Back-End ง่ายขึ้นเยอะเลยครับ จริงๆ ผมค่อนข้างเชียร์ว่าไม่อยากให้เรา Define ตัวเองว่าเป็น Front-End หรือ Back-End เพราะการที่เราทำงานแล้วเราปิดกั้นตัวเองว่าเราเป็นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง มันทำให้เราเห็นภาพได้ไม่ครบ ถ้าเราบอกว่าเราเป็น Front-End เราจะสนใจแค่นี้ แล้วเวลามันเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมาแล้วเราบอกว่า มันไม่ใช่หน้าที่ผมครับ ผมไม่รู้ เราปล่อยจอย โอเค มันก็ได้แหละครับ เพราะหน้าที่คุณคือตรงนั้น แต่การที่เราพอจะรู้แม้จะแค่ผิวเผินก็ตาม ว่าน้ำที่มันไหลมาจากภูเขา ของที่มันมาจาก Back-End น่ะ มันไหลผ่านอะไรมาบ้าง พอเราเห็นภาพตรงนั้นคร่าวๆ ผมว่า Flow งานจะง่ายขึ้นเยอะเลย แล้วในระยะยาวผมว่ามันสามารถทำให้เราโตไปในฟีลด์ข้างหลังได้อีกเยอะ ถ้าเราอยู่ใน Ecosystem ที่เรารู้สึกปลอดภัยอย่างเดียว ผมว่าเราก็อาจจะโตไปได้ไม่เยอะครับ”
“สำหรับ Bluebik ด้วยความที่เราเป็นบริษัทคอนซัลต์แบบครบวงจร ผมเชื่อว่า หลายๆ คนจะมีสกิลพื้นฐานที่สามารถ Apply ได้กับงานด้านอื่นๆ ด้วย อย่าง Front-End กับ Back-End เนี่ย เนื้องานมันอาจจะต่างกันก็จริง แต่ว่าตัวสกิลพื้นฐานมัน Transfer ได้ ดังนั้นจริงๆ แล้วการย้ายสายงานใน Bluebik มันเป็นไปได้ ถ้าคุณพิสูจน์ว่าตัวคุณสามารถทำงานในบทบาทหน้าที่ใหม่ได้ ก็ไม่มีอะไรห้ามคุณไม่ให้ทำ”
เฟสที่ 2 : Entering Earth’s orbit
จากตำแหน่ง Junior Back-End สู่ Senior Back-End
“ในปีที่สอง การได้ขึ้นมาเป็นซีเนียร์ มันก็คล้ายๆ กับจรวดที่มาอยู่ในวงโคจรโลกแล้ว เรารู้แล้วว่างานมันทำยังไง เราอาจจะไม่ได้รู้ลึกรู้จริงหรอก แต่อย่างน้อยถ้าให้เราทำ เราก็ทำได้แล้ว ซึ่งในจังหวะนั้นมันคือตอนที่เรากำลังหาเป้าหมายต่อไป นั่นคือการสั่งสมความเชี่ยวชาญ”
จากตำแหน่ง Junior Back-End สู่ Senior Back-End มายได้เจอกับงานที่ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ และสำหรับเขา ความท้าทายเหล่านั้นเองคือการบังคับตัวเองให้ต้องเรียนรู้และสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างมากในสายอาชีพ
“โปรเจกต์ที่ได้เรียนรู้แบบเข้มข้น ทำให้ Career เรามันไปข้างหน้าได้แบบก้าวกระโดด เพราะ challenge มันค่อนข้างโหด ก็คือ โปรเจก์ที่เกี่ยวกับแอปพลิเคชันตัวหนึ่ง ตอนนั้นไม่รู้มีอะไรบันดาลใจให้เราหยิบฟีเจอร์หนึ่งมาทำ นั่นคือการส่งโนติฟิเคชัน (Notification) ซึ่งมันเป็นโจทย์ที่ยากมากกว่าที่เราคิด ตอนแรกเรานึกว่ามันจะง่าย แค่ส่งข้อความเอง ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่พอเอามาดู โอ้โห ข้างหลังมันซับซ้อนมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นระดับล้านยูสเซอร์ แต่งานนั้นก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมากเช่นกัน ทั้ง Front-End, Back-End และ Infrastructure ซึ่งผมรู้สึกว่าโชคดีที่ได้ทำ เพราะโปรเจกต์นี้ทำให้เราต้องรีเสิร์ชและเรียนรู้ทุกอย่างให้ได้ครับ”
“เราไม่ได้เป็นคนเก่ง ไม่ได้เป็นคนรู้เยอะ แต่สถานการณ์มันบังคับให้เราต้องสู้กับโจทย์ที่เราได้มา ผมคิดว่าสถานการณ์นั้นแหละที่สร้างโอกาสให้ผม เพราะถ้าเราทำแต่งานที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว มันก็เป็น average เนอะ แต่การที่เรา challenge ตัวเอง ลองเสี่ยงดู มันช่วยเพิ่มโอกาส ถ้าเราไม่ได้ก้าวขามาทำสิ่งอื่น มันก็ทำให้เราไม่ได้เติบโต”
“จากนั้นพอขึ้นเป็นซีเนียร์ เรามีความรับผิดชอบใหม่ๆ มีภาระหน้าที่ที่มากขึ้น เราต้องทำงานของตัวเองแล้วก็ต้องช่วยโค้ชคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งมันคือปีที่เราได้ Reflect ว่าในฐานะ Developer เราควรจะต้องทำอะไรต่อ”

เฟสที่ 3 : Beyond Earth’s orbit
จาก Senior Back-End สู่ตำแหน่ง Lead Back-End
“ปีล่าสุดที่ผ่านมานี้ ผมคิดว่ามันคือจุดที่ผมออกจากวงโคจรโลกแล้วล่ะ และกำลังจะเดินทางต่อไปอีก เพราะมันคือจุดที่เราได้รับมอบหมายให้ขึ้นโปรเจกต์ใหม่เอง จากที่ผ่านมาเราทำโปรเจกต์ที่มีคนตั้งโครงให้เราก่อน แล้วเราก็แค่ทำฟีเจอร์ในนั้น แต่พอมาถึงปีล่าสุดนี้ เราพูดได้เต็มปากแล้ว ว่าเทคโนโลยีนี้ ไดอะแกรมนี้ ระบบนี้ เราสร้างเอง เราออกแบบเอง เราคอนซัลต์เอง นี่แหละคือโปรดักต์ของเรา คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาด้วยมือเราเอง”
หลังจากที่ทำตำแหน่ง Senior Back-End ได้ระยะเวลาหนึ่ง ในปีที่ผ่านมานี้เอง มายก็ได้รับการโปรโมตขึ้นเป็น Lead Back-End ด้วยอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น พร้อมกับเป้าหมายใหม่ นั่นคือ “การได้สร้างอิมแพกต์ผ่านงานที่ทำ”
“พอมาเป็น Lead Back-End งานเราจะไม่ใช่งานรูทีนแล้วครับ แต่มันขึ้นอยู่กับแต่ละวันเลย ว่าวันไหนเราจะเจอปัญหาอะไรบ้าง และแน่นอนเราก็ยังต้องกลับมาเขียนโค้ดอยู่ หรือมาทำฟีเจอร์บ้าง เวลาเบื่อๆ เพราะผมรู้สึกว่าถ้า Lead Back-End ไม่แตะโค้ดเลย จะมาบริหารจัดการอย่างเดียว มันจะตามโลกไม่ทัน”
“ถ้าถามเรื่องงาน Management ผมรู้สึกว่ายังรู้ไม่เยอะเท่าไหร่นัก แต่ก็พยายามเรียนรู้และประยุกต์จากประสบการณ์ที่เราได้รับเมื่อก่อนว่า ไดเรกเตอร์เขาจัดการทีมยังไง เราก็พยายามนำมาปรับใช้กับน้องๆ ในทีม ผมพยายามสร้าง Environment ที่ให้ทุกคนสามารถผิดได้ เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่ว่า เขาไม่กล้าคุย ไม่กล้าปรึกษาเรา เพราะกลัวเราจะว่า กลัวเราบอกว่า ‘แค่นี้ไม่รู้เหรอ’ ผมว่า Environment ในการทำงานมันสำคัญมาก เพราะเราแค่คนเดียวไม่สามารถทำโปรเจกต์ได้อยู่แล้ว มันต้องอาศัยทีมและความร่วมมือจากทุกคนช่วยกันผลักดัน”
“สำหรับคำว่าลดคอสต์ ฟังคำนี้ทีไรก็ขนลุกทุกที เพราะจริงๆ มันไม่ได้ง่ายเหมือนการลดน้ำหนักที่ถ้าเรากินคลีน ออกกำลังกาย มันก็ลดได้ แต่การที่เราจะลดคอสต์มันต้องเริ่มจากเหตุผลก่อนว่า ทำไมทุกวันนี้ถึงจ่ายเท่านี้ มันไม่ใช่แค่ว่า คุณมายไปกดปุ่มสัก 2-3 อันซิ ให้คอสต์มันลดไปครึ่งหนึ่ง มันทำแบบนั้นไม่ได้”
“ต้องบอกว่าลูกค้าที่เราได้เข้าไปดูเคสพวกนี้ก็เป็นองค์กรที่ค่อนข้างใหญ่ แล้ว Operation Cost เขาก็ค่อนข้างเยอะ มูลค่าหลักหลายสิบล้านไปจนถึงหลายร้อยล้านและผมว่าจากนี้การลดคอสต์มันจะกลายเป็นโจทย์ต่อไปของหลายๆ บริษัท เพราะมันเห็นได้ว่า แค่ลดคอสต์ กำไรมันก็เพิ่มได้แล้ว ซึ่งการจะลดคอสต์ในแต่ละส่วนมันมีรายละเอียดเยอะมาก สมมติเขาจ่ายค่าเซิร์ฟเวอร์อยู่ปีละ 10 ล้าน แค่เราจำแนกว่า 10 ล้านนี้มาจากตรงไหนบ้างยังยากเลยครับ องค์ประกอบมันเยอะแยะอยู่ข้างหลัง ทีนี้คำถามคือ ใน 10 ล้านที่จ่ายไป คุณได้มา 100 แต่คุณได้ใช้ทั้ง 100 หรือเปล่า”
“คำถามเหล่านี้แหละครับ เป็นหนึ่งในของงานผม คือจะทำยังไงให้มันลดลงได้บ้าง แต่ยังสร้างรายได้ได้เหมือนเดิม ซึ่งโซลูชั่นของแต่ละโปรเจกต์ก็จะต่างกันออกไปครับ ในบางโปรเจกต์อาจจะเป็นเรื่องของคลาวด์ล้วนๆ แต่บางโปรเจกต์ ด้วยความที่อาจจะใช้เทคโนโลยีเก่า หรือเดเวล็อปมานานแล้ว หลายๆ ครั้งโซลูชั่นที่ง่ายที่สุดก็คือการวางระบบแอปใหม่ครับ”
“สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในงานตอนนี้ก็คือ เวลาเราออกไปข้างนอกแล้วเห็นคนใช้แอปที่เราทำ หรือเห็นสติกเกอร์แอปเราแปะอยู่ตามหน้าประตูต่างๆ เห็นข่าวที่คนคุยกันถึงข้อดีของแอปเรา เท่านี้ก็ดีใจแล้วครับ มันรู้สึกว่า โห สิ่งที่เราทำมันไปอยู่ในเครื่องของใครตั้งมากมายก็ไม่รู้เนอะ สิ่งที่เราทำมันได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคได้จำนวนมากจริงๆ ผมว่ามันคืออิมแพกต์ที่เราสร้างให้กับสังคมได้ครับ”
และนี่คือส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงานปีที่ 3 ของมาย และเมื่อถามถึงปลายทางที่เขาตั้งเอาไว้ เขากลับไม่ได้มีธงให้กับตัวเองตามหลักเลขอายุ แต่เขามองถึงการเดินทางต่อไปเรื่อยๆ เสียมากกว่า อย่างที่เขาบอกเอาไว้ว่า
“พอออกนอกวงโคจรโลกแล้ว ผมว่ามันก็ไม่ได้จบที่ดวงจันทร์หรอกครับ เพราะพองานโปรเจกต์หนึ่งจบไป โปรเจกต์ใหม่ก็มารอแล้ว มันก็เหมือนกับว่าวันนี้เราไปดวงจันทร์ได้แล้ว เราก็จะกลับมาที่โลกก่อน แต่ปีหน้าเราอาจจะไปดาวอังคารก็ได้ ปีถัดๆ ไปเราอาจจะไปถึงดาวพฤหัสก็ได้ เพราะโปรเจกต์ใหม่ๆ มันก็จะท้าทายขึ้นเรื่อยๆ เสมอครับ”
—
Launch Pad Trivia: Support from Bluebik
“ตอนทำโนติฟิเคชัน (Notification)ใช่มั้ยครับ ตอนที่ทุกคนเขายุ่งกันอยู่ เราถามใครไม่ได้มากนัก เราก็ต้องเรียนเอง ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้และเพิ่มทักษะเรื่องคลาวด์ ซึ่งเขามี Certificate ให้สอบได้ เราก็เลยไปคุยกับทาง Bluebik ว่าเราสนใจจะไปสอบตัวนี้ เขาก็บอกว่าได้เลย เดี๋ยวออกตังค์ค่าสอบให้เลยซึ่งในทีมเราก็มีหลายคนที่อยากจะสอบเหมือนกัน”

“ผมว่า Developer หลายคนอยากเรียน อยากสอบอยู่แล้วครับ แต่ทีนี้พอค่าสอบมันแพง ถ้าเราไม่ผ่านขึ้นมา มันก็จะยังไงล่ะ? ซึ่งพอ Bluebik ซัปพอร์ตเรื่องค่าสอบตรงนี้มันก็ช่วยได้มาก ยิ่งหลังๆ พอมันมี Incentive ให้อีก ว่าถ้าคุณสอบตรงนี้ผ่าน เราให้โบนัสเพิ่ม ผมว่ามันเป็น Sandbox ที่ดีมากๆ เลยครับ เพราะคนสายเทคฯ เราจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปทุกวัน”
อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่อยากเติบโตในสายงานแบบก้าวกระโดดแบบมาย ไม่ต้องลังเล กดดูตำแหน่งงานที่เปิดรับ แล้วมาร่วมเติบโตไปพร้อมๆ กันที่บลูบิคได้เลยที่ https://bit.ly/JobsatBluebik