fbpx
Insights 18 June 2024

ความจำเป็น & โอกาสธุรกิจจาก AI ผู้ช่วยอัจฉริยะที่จะพลิกโฉมธุรกิจบริการสุขภาพ

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ AI ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจบริการสุขภาพมากขึ้นอย่างน่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นโซลูชัน AI ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานในส่วนต่างๆ หรือในมุมของการดูแลผู้ป่วยที่เริ่มเห็นการใช้อุปกรณ์สวมใส่ที่มี AI ช่วยมอนิเตอร์อาการความผิดปกติต่างๆ 

จากความก้าวหน้าของ AI ในธุรกิจบริการสุขภาพ บลูบิคจึงอยากชวนมาดูโอกาสที่เกิดขึ้นจากการนำ AI มาปรับใช้ และตัวอย่างการใช้งาน (Use cases) ที่น่าสนใจในภาคธุรกิจบริการสุขภาพ 

โอกาสที่เกิดขึ้นจากการปรับใช้ AI 

  • AI ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ 

หนึ่งในผลลัพธ์จากการนำ AI มาใช้คือการช่วยให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลหรือในพื้นที่ที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น Telemedicine ที่ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้โดยตรงเกี่ยวกับอาการป่วยเบื้องต้นที่ไม่รุนแรงมากหรือติดตามผลการรักษาโรค ไปจนถึง AI แชทบอท ที่สามารถตอบคำถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการผิดปกติเบื้องต้นได้ 

  • AI หลากประเภทสำหรับการใช้งานหลายรูปแบบ 

อีกความก้าวหน้าที่น่าสนใจคือการพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้ทำงานได้คล้ายคลึงกับระบบผู้ช่วยที่สามารถทำงานบางส่วนได้แบบอัตโนมัติ ที่เรียกว่า Assistive AI ที่มนุษย์ยังเป็นผู้ควบคุมการใช้งานเป็นหลัก และใช้ความสามรถของ AI มาเสริมศักยภาพการทำงาน เช่น การประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก การประเมินและวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์ รวมถึงการให้ข้อมูลและคำแนะนำแบบเรียลไทม์ที่ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น    

  • AI กับแนวทางเชิงรุกในด้านบริการสุขภาพ 

เทคโนโลยี AI ไม่ได้เพียงแค่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยจำนวนมากได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างแนวทางเชิงรุกในด้านบริการสุขภาพที่สามารถวางแผนและตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การตรวจพบความผิดปกติของโรคตั้งแต่ในระยะแรกๆ ก่อนที่อาการจะลุกลามรุนแรงขึ้น ซึ่งช่วยให้วางแนวทางการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย เช่น เครื่องมือ AI ที่สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ประวัติการรักษา หรือข้อมูลทางพันธุกรรม ที่ช่วยประกอบการตัดสินใจและช่วยให้ผลลัพธ์ในการรักษาแม่นยำขึ้น เป็นต้น 

6 Use Case ของ AI ที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ

– เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอุปกรณ์และเอกสาร

หนึ่งในความสามารถของเทคโนโลยี AI คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเอกสารต่างๆ เช่น การสรุปข้อมูลที่ทำได้ในเวลาไม่เพียงนานจากการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) ทำให้สามารถใช้ช่วยย่อยข้อมูลสำคัญๆ จากระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EHR) ที่บันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งลดระยะเวลาและขั้นตอนการทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น 

นอกจากนี้ AI ยังนำมาใช้ในด้านการดูแลจัดการอุปกรณ์ ด้วยการใช้ Predictive AI วิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์และคาดการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทำให้คาดเดาช่วงเวลาที่อุปกรณ์อาจเกิดการเสื่อมสภาพ และวางแผนซ่อมบำรุงได้ก่อนที่อุปกรณ์จะเกิดความเสียหายหนักจนไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องวิตกเรื่องปัญหาอุปกรณ์

– ให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยทางไกล 

การให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยทางไกล (Telemedicine) ที่เป็นบริการพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นอีก Use case หนึ่งที่เริ่มเห็นบ่อยขึ้นในด้านการบริการสุขภาพ ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลจากแพทย์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงช่วยลดรายจ่ายในด้านบริการสุขภาพลง 

ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ได้แบบเรียลไทม์ แชร์ข้อมูลด้านสุขภาพและขอคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการดูแลรักษา โดยที่แพทย์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยจากอุปกรณ์หรือจากเซนเซอร์ต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพ ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สวมใส่อุปกรณ์ช่วยวัดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด เมื่ออัลกอริทึ่ม AI ตรวจพบความผิดปกติจะส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ป่วยและแพทย์เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทันท่วงที รวมถึงปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล 

– ตัวช่วยค้นพบและพัฒนายา

การค้นพบและพัฒนายารักษาโรคชนิดใหม่ๆ ถือเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี AI สามารถวิเคราะห์ตัวยาที่มีอยู่และแนะนำการปรับเปลี่ยนสูตรยาใหม่เพื่อให้เหมาะกับการรักษาโรคแต่ละประเภทโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการพัฒนาตัวยาลงได้อย่างมาก 

สำหรับการใช้ AI มาช่วยพัฒนาสูตรยาเป็นการนำ Machine Learning มาวิเคราะห์ฐานข้อมูลยาทั้งหมดที่มีอยู่ ครอบคลุมทั้งโครงสร้างทางเคมีและส่วนประกอบต่างๆ เพื่อสร้างสูตรที่คล้ายคลึงกับยาที่มีอยู่สำหรับนำไปใช้ทดสอบต่อไป รวมถึงสามารถประเมินประสิทธิภาพเบื้องต้น ระบุกลุ่มสารที่มีแนวโน้มนำไปพัฒนาเป็นยาต่อได้ 

– วิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ 

AI สามารถใช้ช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นภาพ X-rays, MRI และ CT สแกน  เพื่อระบุความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะแรกได้ เช่น ก้อนเนื้องอก ทำให้กระบวนการรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นและแม่นยำยิ่งขึ้น 

อัลกอริทึ่ม AI สามารถวิเคราะห์ภาพ X-rays และ CT สแกนเพื่อช่วยวิเคราะห์โรคต่างๆ เช่น โรคปอดอักเสบหรือวัณโรค รวมถึงการระบุจุดในปอด (lung nodule) ที่ช่วยลดโอกาสการลุกลามจนกลายเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด อีกกรณีหนึ่งคือการวิเคราะห์ภาพ X-rays เพื่อตรวจโรคกระดูกพรุน การตรวจเนื้องอกในสมอง การตรวจโรคอัลไซเมอร์จากการสแกนและวิเคราะห์โครงสร้างสมองเพื่อตรวจสอบความผิดปกติในระยะแรก เป็นต้น 

– ดูแลรักษาผู้ป่วยแบบเฉพาะบุคคล

AI สามารถนำไปใช้ช่วยออกแบบแผนการรักษาผู้ป่วยได้แบบเฉพาะบุคคล โดยอิงตามข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยรายนั้น เช่น ประวัติการรักษา ข้อมูลด้านพันธุกรรม และความต้องการต่างๆ ของผู้ป่วยเมื่อเข้ารับบริการด้านสุขภาพ ซึ่งจะช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ 

ตัวอย่างเช่น ในกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็ง โมเดล AI สามารถแนะนำยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดให้กับผู้ป่วยแต่ละรายโดยวิเคราะห์จากข้อมูลพันธุกรรม และยังช่วยเลือกตัวยาที่เหมาะสมอ้างอิงจากประวัติการรักษาที่ผ่านมาและปัจจัยทางสรีรวิทยา นอกจากนี้ เครื่องมือ AI ยังนำไปปรับใช้กับการดูแลผู้ป่วยทางไกลเพื่อตรวจสอบอาการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อัลกอริทึ่มที่วิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจและค่าความดันโลหิต เพื่อตรวจสอบอาการและสัญญาณที่ผู้ป่วยเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ  

– ประเมินและวิเคราะห์ความผิดปกติเบื้องต้น

ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี AI ที่วิเคราะห์และคาดการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ จึงสามารถนำไปปรับใช้กับการวิเคราะห์อาการความผิดปกติเบื้องต้น เช่น ความเสี่ยงเกิดโรคระบาด โดยสร้างแบบจำลองขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงเกิดโรคที่อาจแพร่ระบาดไปในกลุ่มคนต่างๆ หรือภายใต้สภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้องค์กรด้านบริการสุขภาพสามารถวางแนวทางป้องกันและรับมือได้อย่างเหมาะสม เช่น แนวโน้มความรุนแรงและคาดการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ในฤดูที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก ซึ่งจะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถออกแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ให้คนดูแลตัวเองยิ่งขึ้น หรือวางแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมวัคซีน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น   

สร้างความได้เปรียบให้ธุรกิจบริการสุขภาพด้วย AI 

ในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยี AI จะได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก สำหรับธุรกิจบริการสุขภาพแล้ว AI ย่อมสามารถสร้างความได้เปรียบทั้งในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและเสริมขีดความสามารถในการให้บริการได้อย่างครอบคลุม 

สำหรับองค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจบริการสุขภาพ บลูบิค (Bluebik) พร้อมให้คำปรึกษาและมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยวางกลยุทธ์องค์กร วางรากฐานด้านข้อมูล (Data) ไปจนถึงการพัฒนาโมเดล AI ขั้นสูงที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความต้องการของธุรกิจ

ติดต่อเราสอบถามหรือปรึกษาเราได้ที่ 

[email protected] 

☎ 02-636-7011

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก forbes, leewayhertz, ibm, purelogics