fbpx
Insights 17 October 2024

Good Prompts VS Bad Prompts เขียน Prompt แบบใด ให้ได้ผลดีที่สุด

คงต้องบอกว่า Gen AI ได้เข้ามาช่วยให้การทำงานหลายๆ อย่างของเราง่ายขึ้นและเสร็จเร็วยิ่งขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า การจะใช้งาน Gen AI ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น การเขียน Prompt มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง วันนี้ เราจึงอยากชวนมาดูว่า Prompt แบบใดที่จะช่วยให้เราได้ผลลัพธ์ตรงตามความต้องการมากที่สุด 

*ทริคการวางโครงสร้าง Prompt เบื้องต้น 

  • กำหนดบทบาท ระบุว่าเราอยากให้ AI สร้างผลลัพธ์ในฐานะอะไร เช่น คุณครูโรงเรียนมัธยม ผู้จัดการฝ่ายขาย หรีอศิลปิน รวมถึงระบุความต้องการและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน  
  • ใส่รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลเฉพาะหรือข้อจำกัดบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการคำตอบ เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาครบถ้วน รวมถึงยกตัวอย่างประกอบ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องเชิงนามธรรมเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น  
  • ใช้ภาษาเข้าใจง่าย ถ้าเป็นไปได้ควรเลี่ยงการใช้คำศัพท์เฉพาะทาง หรือถ้าไม่สามารถใช้คำอื่นแทนได้ควรมีคำอธิบายเพิ่มเติม  
  • กำหนดรูปแบบคำตอบที่ต้องการ เช่น ลิสต์รายการ กราฟ ตาราง หรือคำอธิบายอย่างละเอียด เพื่อให้การสร้างผลลัพธ์ออกมาพร้อมนำไปใช้งาน 

*ตัวอย่าง Good Prompt VS Bad Prompt  

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราเลยอยากชวนมาดูตัวอย่างการเขียน Prompt ที่ดี และ Prompt ที่ไม่ดี ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ AI ไม่ว่าจะเป็น  

  • การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ  

Bad Prompt: “บอกฉันหน่อยว่าใครเป็นคนประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมา” 

Good Prompt: “ช่วยบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการประดิษฐ์หลอดไฟของโทมัส เอดิสันหน่อย” 

คำอธิบาย: Prompt แรกอาจได้คำตอบเกี่ยวกับโทมัส เอดิสัน แต่ก็ยังคงมีความกำกวมอยู่ เพราะมีนักประดิษฐ์อีกหลายคนที่มีส่วนในการพัฒนาหลอดไฟ การเขียน prompt ที่เจาะจงไปที่การประดิษฐ์หลอดไฟของโทมัส เอดิสัน เลยจะได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความต้องการมากกว่า  

  • การแนะนำหนังสือ  

Bad Prompt: “ฉันอยากอ่านหนังสือซักเล่ม”  

Good Prompt: “ช่วยแนะนำหนังสือนิยายแนววิทยาศาสตร์ที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิงแกร่งให้หน่อย”  

คำอธิบาย: Prompt แรกเป็นการถามคำถามแบบปลายเปิดและอาจได้คำตอบที่กว้างเกินไป ส่วน prompt ที่สองระบุรายละเอียดมากขึ้นว่าต้องการอ่านหนังสือแนวไหนและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละคร เพื่อแนะนำหนังสือที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด  

  • การหาไอเดียทำคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร  

Bad Prompt: “คิดหัวข้อเกี่ยวกับอาหารให้หน่อย”  

Good Prompt: “ฉันกำลังเขียนคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร ซึ่งเป็นขนมวีแกนจากทั่วโลก ช่วยแนะนำลิสต์สูตรขนม 5 สูตรพร้อมส่วนประกอบหลัก และบอกประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของขนมชนิดนั้นๆ”  

คำอธิบาย: Prompt แรกขอบเขตกว้างเกินไป แม้ว่าจะถามเรื่องหัวข้อเกี่ยวกับอาหาร แต่การไม่ระบุสิ่งที่ต้องการแบบเฉพาะเจาะจงจะทำให้ได้คำตอบแบบทั่วๆ ไป ขณะที่ Prompt ที่สองเจาะจงความต้องการเฉพาะลงไปเลยว่าต้องการขนมวีแกน และระบุรูปแบบคำตอบที่ต้องการว่าอยากได้เป็นลิสต์สูตรอาหาร 5 สูตร  

*สิ่งที่คนส่วนใหญ่พลาดเวลาเขียน Prompt  

  • เขียนคำสั่งกว้างเกินไป  

สิ่งหนึ่งที่หลายคนพลาดบ่อยๆ คือการเขียน Prompt ที่กว้างเกินไป แบบไม่ได้กำหนดความต้องการเฉพาะหรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ทำให้คำตอบที่ออกมาเป็นคำตอบแบบทั่วๆ ไป ดังนั้นถ้าอยากได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดให้กำหนดความต้องการแบบเจาะจงตั้งแต่แรก  

  • คิดว่า Gen AI เข้าใจบริบทโดยไม่ต้องบอก  

สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ Gen AI ไม่สามารถรู้เกี่ยวกับบริบทหรือข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราถามได้เอง ดังนั้นจึงควรใส่รายละเอียดอื่นๆ เข้าไปประกอบด้วย เพื่อให้ Gen AI สามารถตอบคำถามได้อย่างแม่นยำที่สุด  

  •  ใช้คำศัพท์เฉพาะโดยไม่อธิบายเพิ่ม  

แม้ว่า Gen AI ถูกเทรนด้วยชุดข้อมูลหลากหลายจำนวนมากที่รวมถึงข้อมูลเฉพาะทาง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อใช้คำศัพท์ที่มีความเฉพาะทางเกินไปโดยไม่ได้ให้รายละเอียดประกอบ คำตอบที่ได้อาจผิดพลาดได้ 

  • ถามคำถามหลายข้อในครั้งเดียว  

การถามคำถามหลายคำถามภายใน prompt เดียว อาจทำให้ได้คำตอบที่ไม่ชัดเจนหรือได้คำตอบที่ไม่สมบูรณ์ จากการที่ AI พยายามตอบคำถามทุกข้อภายในรอบเดียว ดังนั้นเพื่อให้ได้คำตอบตรงจุดควรเลือกถามเรื่องเดียวภายใน 1 prompt   

  • ไม่กำหนดรูปแบบผลลัพธ์ที่ต้องการ 

หากต้องการผลลัพธ์ที่มีรูปแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ตาราง สรุป ลิสต์รายการ หรือคำอธิบายแบบละเอียด ควรระบุให้ชัดเจนเลยตั้งแต่แรก 

ขอบคุณข้อมูลจาก plannthat, wordpress.com/learn/courses/unlocking-the-power-of-ai/examples-of-good-vs-bad-prompts/