คงต้องบอกว่า Gen AI ได้เข้ามาช่วยให้การทำงานหลายๆ อย่างของเราง่ายขึ้นและเสร็จเร็วยิ่งขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า การจะใช้งาน Gen AI ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น การเขียน Prompt มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง วันนี้ เราจึงอยากชวนมาดูว่า Prompt แบบใดที่จะช่วยให้เราได้ผลลัพธ์ตรงตามความต้องการมากที่สุด
*ทริคการวางโครงสร้าง Prompt เบื้องต้น
- กำหนดบทบาท ระบุว่าเราอยากให้ AI สร้างผลลัพธ์ในฐานะอะไร เช่น คุณครูโรงเรียนมัธยม ผู้จัดการฝ่ายขาย หรีอศิลปิน รวมถึงระบุความต้องการและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน
- ใส่รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลเฉพาะหรือข้อจำกัดบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการคำตอบ เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาครบถ้วน รวมถึงยกตัวอย่างประกอบ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องเชิงนามธรรมเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
- ใช้ภาษาเข้าใจง่าย ถ้าเป็นไปได้ควรเลี่ยงการใช้คำศัพท์เฉพาะทาง หรือถ้าไม่สามารถใช้คำอื่นแทนได้ควรมีคำอธิบายเพิ่มเติม
- กำหนดรูปแบบคำตอบที่ต้องการ เช่น ลิสต์รายการ กราฟ ตาราง หรือคำอธิบายอย่างละเอียด เพื่อให้การสร้างผลลัพธ์ออกมาพร้อมนำไปใช้งาน
*ตัวอย่าง Good Prompt VS Bad Prompt
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราเลยอยากชวนมาดูตัวอย่างการเขียน Prompt ที่ดี และ Prompt ที่ไม่ดี ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ AI ไม่ว่าจะเป็น
- การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ
Bad Prompt: “บอกฉันหน่อยว่าใครเป็นคนประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมา”
Good Prompt: “ช่วยบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการประดิษฐ์หลอดไฟของโทมัส เอดิสันหน่อย”
คำอธิบาย: Prompt แรกอาจได้คำตอบเกี่ยวกับโทมัส เอดิสัน แต่ก็ยังคงมีความกำกวมอยู่ เพราะมีนักประดิษฐ์อีกหลายคนที่มีส่วนในการพัฒนาหลอดไฟ การเขียน prompt ที่เจาะจงไปที่การประดิษฐ์หลอดไฟของโทมัส เอดิสัน เลยจะได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความต้องการมากกว่า
- การแนะนำหนังสือ
Bad Prompt: “ฉันอยากอ่านหนังสือซักเล่ม”
Good Prompt: “ช่วยแนะนำหนังสือนิยายแนววิทยาศาสตร์ที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิงแกร่งให้หน่อย”
คำอธิบาย: Prompt แรกเป็นการถามคำถามแบบปลายเปิดและอาจได้คำตอบที่กว้างเกินไป ส่วน prompt ที่สองระบุรายละเอียดมากขึ้นว่าต้องการอ่านหนังสือแนวไหนและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละคร เพื่อแนะนำหนังสือที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด
- การหาไอเดียทำคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร
Bad Prompt: “คิดหัวข้อเกี่ยวกับอาหารให้หน่อย”
Good Prompt: “ฉันกำลังเขียนคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร ซึ่งเป็นขนมวีแกนจากทั่วโลก ช่วยแนะนำลิสต์สูตรขนม 5 สูตรพร้อมส่วนประกอบหลัก และบอกประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของขนมชนิดนั้นๆ”
คำอธิบาย: Prompt แรกขอบเขตกว้างเกินไป แม้ว่าจะถามเรื่องหัวข้อเกี่ยวกับอาหาร แต่การไม่ระบุสิ่งที่ต้องการแบบเฉพาะเจาะจงจะทำให้ได้คำตอบแบบทั่วๆ ไป ขณะที่ Prompt ที่สองเจาะจงความต้องการเฉพาะลงไปเลยว่าต้องการขนมวีแกน และระบุรูปแบบคำตอบที่ต้องการว่าอยากได้เป็นลิสต์สูตรอาหาร 5 สูตร
*สิ่งที่คนส่วนใหญ่พลาดเวลาเขียน Prompt
- เขียนคำสั่งกว้างเกินไป
สิ่งหนึ่งที่หลายคนพลาดบ่อยๆ คือการเขียน Prompt ที่กว้างเกินไป แบบไม่ได้กำหนดความต้องการเฉพาะหรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ทำให้คำตอบที่ออกมาเป็นคำตอบแบบทั่วๆ ไป ดังนั้นถ้าอยากได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดให้กำหนดความต้องการแบบเจาะจงตั้งแต่แรก
- คิดว่า Gen AI เข้าใจบริบทโดยไม่ต้องบอก
สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ Gen AI ไม่สามารถรู้เกี่ยวกับบริบทหรือข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราถามได้เอง ดังนั้นจึงควรใส่รายละเอียดอื่นๆ เข้าไปประกอบด้วย เพื่อให้ Gen AI สามารถตอบคำถามได้อย่างแม่นยำที่สุด
- ใช้คำศัพท์เฉพาะโดยไม่อธิบายเพิ่ม
แม้ว่า Gen AI ถูกเทรนด้วยชุดข้อมูลหลากหลายจำนวนมากที่รวมถึงข้อมูลเฉพาะทาง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อใช้คำศัพท์ที่มีความเฉพาะทางเกินไปโดยไม่ได้ให้รายละเอียดประกอบ คำตอบที่ได้อาจผิดพลาดได้
- ถามคำถามหลายข้อในครั้งเดียว
การถามคำถามหลายคำถามภายใน prompt เดียว อาจทำให้ได้คำตอบที่ไม่ชัดเจนหรือได้คำตอบที่ไม่สมบูรณ์ จากการที่ AI พยายามตอบคำถามทุกข้อภายในรอบเดียว ดังนั้นเพื่อให้ได้คำตอบตรงจุดควรเลือกถามเรื่องเดียวภายใน 1 prompt
- ไม่กำหนดรูปแบบผลลัพธ์ที่ต้องการ
หากต้องการผลลัพธ์ที่มีรูปแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ตาราง สรุป ลิสต์รายการ หรือคำอธิบายแบบละเอียด ควรระบุให้ชัดเจนเลยตั้งแต่แรก
ขอบคุณข้อมูลจาก plannthat, wordpress.com/learn/courses/unlocking-the-power-of-ai/examples-of-good-vs-bad-prompts/