เคยสงสัยบ้างหรือเปล่าว่า ทำไมเวลาพูดถึงบริษัทระดับโลกที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสุดล้ำ ชื่อบริษัทเหล่านี้มักปรากฏขึ้นมาในหัวเราก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Alphabet, Amazon, Microsoft และ Samsung นอกจากบริษัท 5 แห่งข้างต้นแล้ว เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เราเห็นบริษัทต่างๆ โดดเด่นมากขึ้นในเรื่องนวัตกรรม เช่น JD.com, Novartis, Bosch และอีกมากมาย
อะไรทำให้บริษัทเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเป็นองค์กรนวัตกรรมล้ำสมัย
ตามข้อมูลจาก Visual Capitalist ซึ่งอ้างอิงจากรายงาน The Most Innovative Companies Of 2020 ของ BCG โดยสำรวจจากผู้บริหารองค์กรทั่วโลก 2,500 ราย พบจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกัน 3 ข้อ
1) ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม
ความสำเร็จด้านนวัตกรรมเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยรายงานระบุว่า 60% ของบริษัทที่ติดอันดับองค์กรนวัตกรรมล้ำสมัยที่สุด ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนานวัตกรรมเป็นลำดับแรกๆ
แล้วคำถามต่อมาคือ ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนานวัตกรรมในส่วนไหน โดยบริษัทที่นับว่ามีนวัตกรรมล้ำสมัย เน้นที่การวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง (Advanced Analytics) ซึ่งเป็นการสร้างโมเดลเพื่อคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงเรื่องการออกแบบเชิงดิจิทัล (Digital Design) และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและช่วยแก้ปัญหาให้ธุรกิจ ซึ่งนวัตกรรมที่แต่ละองค์กรให้ความสำคัญอาจมีความแตกต่างกัน เช่น บริษัทผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอาจให้ความสำคัญกับเรื่อง Advanced Analytics เพื่อหาทางเพิ่มคุณค่าที่จะส่งมอบให้ลูกค้า (value proposition)
2) ทุ่มงบลงทุนด้านนวัตกรรมมากกว่า
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือขนาดใหญ่ ที่มีรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ก็สามารถก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำนวัตกรรม” ได้ โดยผู้นำนวัตกรรมหมายถึงการสามารถทำยอดขายได้มากกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน จากผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งวางขายภายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากรายงานพบว่า 52% เป็นบริษัทขนาดเล็ก เพราะมีรูปแบบองค์กรที่คล่องตัวเอื้อต่อการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว
แต่บริษัทขนาดใหญ่ก็ไม่ได้ทิ้งห่างไปมากนัก เพราะ 43% ของกลุ่มผู้นำนวัตกรรมเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากมีความได้เปรียบเรื่องการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและกำลังคนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ
ดังนั้น จุดสำคัญจึงอยู่ที่การใช้งบลงทุนด้านนวัตกรรม โดยบริษัทที่เป็นผู้นำนวัตกรรม ลงทุนในเรื่องนี้มากกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน 1.4 เท่า เมื่อเทียบตามเปอร์เซ็นต์ต่อยอดขาย และสร้างยอดขายของสินค้าใหม่ได้มากขึ้น 4 เท่า
3) พัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ
นวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่สร้างมาครั้งเดียวแล้วจบไป แต่ต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องขับเคลื่อนหลายส่วนไปพร้อมๆ กัน ทั้งภายในองค์กร เช่น ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายวางกลยุทธ์ หรือฝ่ายการเงิน รวมถึงยังต้องมีระบบและกระบวนการที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การค้นหาโอกาสการสร้างนวัตกรรม การประสานงานและแนวทางการพัฒนา และวิธีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เข้ากับองค์กร
สำหรับองค์ประกอบที่ช่วยชี้วัดว่าการพัฒนานวัตกรรมเป็นไปอย่างมีระบบหรือไม่ ประกอบด้วยหลายข้อ เช่น การตั้งเป้าหมายของการพัฒนานวัตกรรม ว่าสอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กรและสร้างคุณค่าให้องค์กรหรือไม่ กลยุทธ์การสร้างนวัตกรรมว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า และช่วยให้องค์กรปรับตัวได้อย่างรวดเร็วตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปหรือเปล่า การจัดการดูแลนวัตกรรม เช่น การใช้คนและงบประมาณสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมมากแค่ไหน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบริหารจัดการกระบวนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรและอีโคซิสเต็มที่ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ การสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมและโมเดลธุรกิจ และที่สำคัญคือนวัตกรรมที่สร้างขึ้นช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้จริงหรือไม่
สรุปแล้ว การจะก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรนวัตกรรม นอกจากการให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมแล้ว ยังต้องมีการวางกลยุทธ์ ลงทุนและสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพราะแค่หวังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสินค้าให้ปังแค่ครั้งเดียว คงไม่เพียงพอต่อการยืนระยะยาวในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก Visual Capitalist