โลกอินเทอร์เน็ตเปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ที่มีทั้งส่วนที่เรามองเห็นหรือรู้จักกันในนาม Surface Web และส่วนที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำอย่าง Deep Web และ Dark Web ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเข้าถึงอย่างจำกัด
บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ Dark Web โลกอินเทอร์เน็ตที่ไม่ใช่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเต็มไปด้วยความลึกลับ การซื้อขายที่ผิดกฎหมาย และภัยคุกคามทางไซเบอร์
Open Web, Deep Web และ Dark Web แตกต่างกันอย่างไร
Surface Web (Open Web):
พื้นที่อินเทอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงผ่าน Search Engine ทั่วไป เช่น Google, Facebook, หรือ Amazon ซึ่งคิดเป็นเพียง 4% ของข้อมูลทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต
Deep Web:
ส่วนที่ไม่ได้ถูกทำดัชนีโดย Search Engine เช่น ฐานข้อมูลขององค์กร, อีเมล, หรือเว็บไซต์ที่ต้องใช้การล็อกอิน บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ (Cloud Storage) และฐานข้อมูลของบริษัท เป็นต้น โดยข้อมูลที่อยู่ในพื้นที่นี้มีสัดส่วนถึง 90% ของคอนเทนต์ทั้งหมด
Dark Web:
หรือ เว็บฯใต้ดินเป็นส่วนหนึ่งของ Deep Web ที่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ เช่น TOR Browser เพื่อเข้าถึง มีการใช้งานทั้งในด้านลบและด้านบวก
ในอดีตกลุ่มคนที่เข้าใช้งาน “เว็บฯใต้ดิน” ส่วนใหญ่ คือ อาชญากรไซเบอร์และรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้ส่งข่าวและซื้อขายข้อมูล/สินค้าหรือบริการผิดกฎหมายย แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเข้ารหัสทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก ซึ่งหนึ่งในเว็บเบราว์เซอร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการใช้เข้า Dark Web คือ TOR
TOR Browser เป็นบริการที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถท่องอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งระบบปฏิบัติงาน TOR เป็นแบบกระจายศูนย์ (Decentralized System) ที่ผู้ใช้งานจะต้องทำการเชื่อมต่อกับเครือข่ายของเครื่องตัวกลางอื่น ๆ รายงานของ Statista เปิดเผยว่าจำนวนผู้ใช้งาน TOR Browser เคยทำสถิติสูงสุดถึง 9 ล้านคนในวันที่ 21 ตุลาคม 2566
การใช้งาน TOR Browser เหมือนกับการใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ทั่วไปที่ต้องมีการดาวน์โหลดและติดตั้งเสียก่อน แต่ TOR จะทำให้ผู้ใช้งานปลอดภัยจากการตรวจจับของรัฐบาล แฮกเกอร์และ Google Ads อีกทั้งข้อมูลของผู้ใช้งานจะถูกเก็บไว้ในแพ็คเกจที่มีการเข้ารหัสก่อนส่งผ่านทางเครือข่ายของ TOR
ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ Dark Web
- การเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย และ Search Engine ทั่วไปก็ไม่สามารถหาเจอได้ บ่อยครั้งที่ Dark Web นั้น ๆ ก็หายไปหรือเปลี่ยนไปจากเดิม
- คุณสามารถเจอ Malware มากมายใน Dark Web แม้แต่ Tor Browser ก็ยังมีมัลแวร์ซ่อนตัวอยู่ นอกจากนี้คุณยังอาจเจอปัญหาในภายภาคหน้าหากเข้าไปดูคอนเทนต์ผิดกฎหมายได้อีกด้วย
- Dark Web เป็นดินแดนที่มีอิสระภาพในการเผยแพร่ข้อมูล เป็นพื้นที่ Free Speed สำหรับคนที่ต้องการนำเสนอข้อมูลที่รัฐบาลตนเองต้องการปกปิดหรือหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ เช่น ผู้สื่อข่าว และนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นต้น
- มีห้องแสดงความเห็น (Forum) ที่ต้องใช้รหัสผ่านในการเข้าถึงมากมาย ดังนั้น ผู้ใช้งานจะต้องได้รับการเชิญจากคนในกลุ่ม ซึ่งการพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นในฟอรัมทำได้อย่างเสรีและเรียลไทม์ บางครั้งสปายของหน่วยงานรัฐก็แอบซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มเพื่อสังเกตุการณ์
สถิติน่าสนใจของ Dark Web
- ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลผิดกฎหมายที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ บัญชีคริปโต บัญชีธนาคารออนไลน์ และ กระเป๋าเงินดิจิทัล ตามลำดับ
- 5 อุตสาหกรรมที่มักตกเป็นเป้าหมายโจมตีจากเว็บฯใต้ดิน มากที่สุด คือ
- การศึกษาและวิจัย
- การเงินและประกัน
- สุขภาพและการผลิตยา
- รัฐวิสาหกิจ
- ค้าปลีก
Dark Web ส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจ
แม้ว่า Dark Web ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมประจำวันของธุรกิ แต่องค์กรก็มิอาจละเลยผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นจากพื้นที่ดังกล่าวได้แก่
- ความเสียหายทางการเงิน: เมื่อข้อมูลสำคัญขององค์กรถูกขโมยและขายในเว็บฯใต้ดิน อาจส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางการเงินมหาศาล จากการเรียกค่าไถ่ไซเบอร์ (Ransomware) ถอนเงินออกจากบัญชี หรือฉ้อโกง
- เสื่อมเสียชื่อเสียง: หากข้อมูลองค์กรรั่วไหลใน Dark Web ย่อมทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรหรือแบรนด์สินค้าลดลงไปด้วย
- ปัญหาการดำเนินงาน: การละเมิดข้อมูลอาจทำให้องค์กรต้องเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เครือข่ายล่มจากการโจมตีไซเบอร์ ส่งผลต่อกระบวนการทำงานและการให้บริการ
- ความเสี่ยงทางกฎหมาย: ธุรกิจที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล อาจถูกฟ้องร้องและเสียค่าปรับทางกฎหมายได้
Dark Web เป็นส่วนที่ซับซ้อนที่สุดของโลกออนไลน์ คนจำนวนมากใช้ Dark Web ปกป้องและปิดบังตัวตนเพื่อใช้งานทั้งแบบถูกและผิดกฎหมาย หากมองในแง่ดีมีคนจำนวนไม่น้อย อาทิ ผู้สื่อข่าวใช้ที่พื้นที่ดังกล่าวเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว ก่อนเผยแพร่ข้อมูลที่อาจถูกปิดกั้นจากการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ‘Dark Web’ เป็นแหล่งรวมแก๊งอาชญากรไซเบอร์ มีทั้งการขายยาเสพติด ข้อมูล มัลแวร์ รวมถึงบริการโจมตีไซเบอร์ ดังนั้น Dark Web จึงเปรียบเสมือนตลาดมืดและศัตรูตัวฉกาจของคนทำงานสาย Cybersecurity และบุคคลทั่วไปควรหลีกให้ห่างเพราะการเข้าไปอยู่ในนั้นอาจทำให้คุณตกอยู่ในความเสี่ยงแบบไม่รู้ตัว
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก clearias, cyberdefensemagazine, preyproject