fbpx
บล็อก 20 กันยายน 2023

“ลิขสิทธิ์” ปัญหาชวนปวดหัวของ Generative AI

หากเปรียบ Generative AI เป็นเหมือนเวทมนต์ก็คงไม่ผิดนัก เห็นได้ชัดจากขีดความสามารถของโปรแกรม Stable Diffusion, Midjourney, หรือ DALL·E 2 ที่ใช้อัลกอริทึมสร้างภาพตามวลีหรือประโยคสั้น ๆ ที่เรากำหนดตั้งแต่ภาพถ่ายเก่า ภาพสีน้ำ จนถึงเทคนิคการวาดภาพแบบ Pointillism ยิ่งไปกว่านั้นความสามารถด้านการเขียนของ Generative AI ที่ถึงขั้นสร้างความกังวลว่าต่อไป Content Writer อาจต้องตกงาน 

หากมองเพียงผิวเผินการสร้างคอนเทนต์ไม่ว่าจะรูปภาพหรืองานเขียนของ AI เหมือนจะเป็นผลงานที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ลึกลงไปในกระบวนการสร้างกลับมีคำถามมากมายเกี่ยวกับประเด็น ‘ลิขสิทธิ์ (Copyright)’ ที่น่าปวดหัวและอาจสร้างปัญหาตามมาจากการใช้งานเชิงพาณิชย์

การทำงานของ Generative AI จุดเริ่มต้นของความกังวลด้านทรัพย์สินทางปัญญา 

แพลตฟอร์ม Generative AI ถูกฝึกด้วยข้อมูลใน Data Lake และ Question Snippets แหล่งข้อมูลเหล่านี้มีตัวแปรหลายพันล้านตัวที่สร้างโดยซอฟต์แวร์ ซึ่งการประมวลคลังภาพและข้อความขนาดใหญ่นี้แพลตฟอร์ม AI ดึงรูปแบบและความสัมพันธ์มาใช้สร้างกฎต่าง ๆ ก่อนพิจารณาและคาดการณ์คำตอบ เมื่อได้รับคำสั่งให้ทำ

กระบวนการใช้ข้อมูลในการฝึกนี้กลายเป็นที่มาของความกังวลทางกฎหมายและจริยธรรม รวมถึงอีกหลายประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงทางกฎหมายที่ยังรอคำตอบเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะเรื่องลิขสิทธิ์

ยกตัวอย่างกรณีของ 3 ศิลปินได้แก่ Sarah Andersen, Kelly McKernan, และ Krala Ortiz ที่ฟ้องร้อง Stability AI (ผู้พัฒนาโปรแกรม Open-Source Stable Diffusion), Midjourney (ที่ใช้ Stable Diffusion ใน Discord) และ DeviantArt (ผู้สร้างแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์ม Stable Diffusion)ในข้อหาใช้รูปภาพที่มีลิขสิทธิ์ในการฝึกโมเดล AI เพื่อสร้างรูปภาพโดยมิได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ถือลิขสิทธิ์ภาพดังกล่าว  

กรณีนี้เป็นหนึ่งตัวอย่างที่กระตุ้นเตือนให้ภาคธุรกิจควรพิจารณาถึงความเสี่ยงก่อนอ้าแขนรับ Generative AI มาใช้ในเชิงพาณิชย์ 

คำถามต้องตอบเกี่ยวกับ ‘ลิขสิทธิ์’ ก่อนใช้ Generative AI ทางธุรกิจ

ประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมในการใช้ Generative AI ยังคงเป็นปัญหาที่รอความชัดเจอนและต้องแก้ไข ตั้งแต่ใครจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในชิ้นงานที่ผลิตขึ้นมา – การใช้งานเทคโนโลยีนี้อย่างไรให้เหมาะสม ด้วยเหตุนี้บริษัทหรือแบรนด์สินค้าที่มีแผนใช้งาน Generative AI ในเชิงพาณิชน์ ต้องศึกษาข้อกฎหมายและความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องในอนาคต 

วันนี้เราจะพาไปทุกคนไปรู้จัก คำถามที่ต้องตอบก่อนใช้ Generative AI ในเชิงธุรกิจ

Question 1: ผลงานที่สร้างสรรค์โดย Generative AI มีสิทธิ์รับการคุ้มครองทางกฎหมายหรือไม่?

ผลงานที่สร้างสรรค์โดย AI จะได้รับความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันแต่ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน คือ ผลงานที่สามารถได้รับความคุ้มครองนั้นมนุษย์จะต้องมีส่วนร่วมอย่างมากในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานและต้องพิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ด้วย  

ยกตัวอย่าง ในประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครองผลงานที่สร้างสรรค์โดยเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว แต่หากบุคคลสามารถแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการสร้างสรรค์ ก็มีความเป็นไปได้ที่ผลงานนั้นจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 

แม้จะมีการเปิดช่องทางกฎหมายให้ผลงานของ AI สามารถได้รับความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ แต่ยังคงมีคำถามเพิ่มเติมที่ยังคงรอคำตอบที่ชัดเจนว่า แล้ว ‘ใครจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของผลงานนั้น?’ 

Question 2: ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผลงานจาก Generative AI?

ประเด็นเรื่องสิทธิในผลงานหรือบทประพันธ์ของ AI ยังคงข้อถกเถียงในวงกว้าง แต่หากพิจารณาถึงใจความหลักของกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาแล้วประเทศส่วนใหญ่มักให้ผู้ประพันธ์หรือผู้สร้างสรรค์ผลงาน เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในผลงานดังกล่าว แต่ในกรณีของผลงานจาก AI นั้นยังคงคลุมเครือว่าใครกันแน่ คือ ผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้กำลังนำไปสู่ปัญหาสิทธิประโยชน์จากการใช้ผลงานและการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในวงกว้าง 

ปัจจุบันทางออกของปัญหานี้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการตีความดังนี้

  • AI หรือโปรแกรมเมอร์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน ในกรณีนี้เจ้าของ AI หรือโปรแกรมเมอร์ควรเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในผลงาน
  • บุคคลที่เตรียมข้อมูลในการฝึก AI เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน ในกรณีนี้บุคคลนี้ถือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงาน 

ในหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง อินเดีย ไอส์แลนด์ นิวซีแลนด์และอังกฤษ ให้สิทธิทางกฎหมายของผลงานจาก AI ตกเป็นของโปรแกรมเมอร์หรือบริษัทที่เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์นั้น ๆ อย่างไรก็ตามสิทธิความเป็นเจ้าของแก่โปรแกรมเมอร์/นักพัฒนากลับกลายเป็นเรื่องไม่แฟร์กับเจ้าของข้อมูลต้นฉบับ ในกรณีที่ผลงานของ AI มีการใช้เทคนิคขั้นสูงในการสร้างสรรค์ที่ต้องอาศัยข้อมูลที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ในการฝึก 

ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่อนุญาตให้โปรแกรมเมอร์หรือเจ้าของซอฟต์แวร์ AI สามารถใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ในการฝึกได้ 

เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าการใช้ AI เชิงพาณิชย์อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคต นอกจากจะผิดกฎหมายในบางประเทศแล้ว การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจขององค์กรอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการใช้งาน AI เพราะผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

hbr.org, research.aimultiple.com