fbpx
เรื่องราวของเรา 4 มิถุนายน 2021

UX Designer: Career for the Convenient Future

ร่วมอ่านประสบการณ์ของ ‘หยี – ภูมิใจ โพธิวนากุล’ Senior UX Designer จากแผนก Digital Excellence & Delivery ถึงเรื่องราวการออกแบบประสบการณ์สำหรับผู้ใช้งานโดยเฉพาะกับ Digital Product ที่ส่วนหนึ่งของการทำ Digital Transformation ของหลายองค์กร รวมไปถึงมุมมองและเทรนด์การออกแบบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การเริ่มต้นสู่สายงาน UX Designer อาชีพที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ

User Experience Designer (UX Designer) คืออะไร ถ้าให้ตอบแบบตรงตัวเลยก็คือ ผู้ออกแบบประสบการณ์ให้ผู้ใช้งาน ซึ่งในยุคปัจจุบัน หน้าที่ส่วนใหญ่ของ UX Designer เป็นการออกแบบประสบการณ์ใช้งานบน Digital Product ยิ่งเมื่อหลายองค์กรทำ Digital Transformation และต้องพัฒนาระบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับวิธีการทำงานและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาชีพนี้จึงเหมือนกับหัวใจหลักในการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งการจะออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไรก็ตามให้ดี ผู้ออกแบบก็ควรจะต้องเข้าใจในผู้ใช้ของเราให้มากที่สุด เท่ากับว่าเราจะต้องคิดในมุมของคนที่จะมาใช้ผลิตภัณฑ์เรา แล้วออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นให้ประสบการณ์การใช้งานให้เหมาะสมกับคนใช้ที่สุด

โดยหยีเริ่มต้นมาจากการเรียนสายเอกออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งช่วงเรียนอยู่เคยมีประสบการณ์การออกแบบ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้งานเช่นเดียวกัน เพราะก่อนที่จะออกแบบ เราก็จำเป็นต้องเข้าใจเป้าหมายการใช้งาน ใครเป็นผู้ใช้ ใช้ที่ไหน และใช้อย่างไร จึงจะทำให้โต๊ะหรือเก้าอี้ของเราสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้มากที่สุด และพอได้เริ่มเข้าสู่การทำงานจริง ๆ จึงสนใจทำงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอะไรที่ให้ประโยชน์กับคน และได้มีโอกาสช่วยพัฒนาให้ออกมาในผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปแบบ “Digital” เพื่อตอบสนองตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น

UX Design ออกแบบอนาคตที่ดีกว่าด้วยการแก้ปัญหาในอดีต

หากถามว่า UX Designer จะมีความสำคัญกับอนาคตได้อย่างไร เราอาจจะถอยออกมามองคำถาม ว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น สะดวกสบายยิ่งขึ้น เมื่อมองอย่างนั้นก็จะเจอปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาก็ย่อมมีทางแก้ ซึ่งหนึ่งในทางแก้นั้นก็คือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้คนเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น กว้างขึ้น หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องมาคิดว่าประสบการณ์ก่อนใช้ ระหว่างใช้ และหลังใช้งานผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งควรเป็นแบบไหน แล้วมาออกแบบและพัฒนาประสบการณ์ใช้งานในขั้นต่างๆ ให้ดีที่สุด เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาที่เคยเจอในอดีตและสร้างความประทับใจในการใช้งาน และอยากใช้อย่างต่อเนื่องในอนาคต  

เทรนด์การออกแบบจะไม่ใช่แค่ ลูกค้า แต่คือทั้ง “การให้บริการ”

สำหรับเทรนด์การออกแบบที่กำลังมาในช่วงนี้ ในมุมมองของหยีคือการพัฒนาความเป็นอยู่ (Living Design) หรือ การช่วยแปลงสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่อาจจะเคยใช้งานยากหรือเข้าใจยาก ให้สามารถใช้งานหรือเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ที่เห็นใกล้ตัวตอนนี้คือพวกผลิตภัณฑ์ Decentralized Finance (Defi) หรือการเงินแบบกระจายศูนย์ ซึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้มากขึ้น และลดบทบาทหน้าที่ของตัวกลาง อาทิ ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น การมาถึงของ Defi จึงช่วยย่นระยะระหว่างคนใช้ (End user) กับการทำงานของระบบการเงินได้มากขึ้น

อีกศาสตร์หนึ่งที่คิดว่าควรให้ความสำคัญอย่างมาก คือ Service Design เพราะเป็นการออกแบบในขอบเขตที่กว้างขึ้นมาอีก เพราะนอกเหนือจากประสบการณ์ของลูกค้าแล้ว ยังเป็นการขยายออกไปถึงผู้ให้บริการ ระบบหน้าบ้าน/หลังบ้าน หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “Total Experience” ที่จะครอบคลุมทั้งผู้ใช้งานและพนักงานขององค์กรในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้จะช่วยยกระดับบริการทั้งหมดได้ ดีกับทั้งฝั่งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทำให้สุดท้ายแล้วสามารถส่งมอบบริการที่ยอดเยี่ยม และบรรยากาศการทำงานก็เต็มไปด้วยความสบาย คล่องตัว และประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อ UX Designer อยากออกแบบประสบการณ์ให้ตัวเอง

ส่วนตัวแล้ว อยากทำให้ประสบการณ์ใช้งานสิ่งที่เคยคิดว่ายาก และปัจจุบันก็อาจจะยังยากอยู่ให้คนหลายกลุ่มสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์การเงินหรือประกัน เป็นต้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลยุทธ์ในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น  ส่งผลให้คนในรุ่น Baby Boomer เริ่มเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่ไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ยากขึ้น  ส่วน New Generation ที่ยังไม่เคยศึกษาเรื่องของการเงิน การวางแผนและการลงทุน ไม่สามารถหาจุดเริ่มต้นบนผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นหากมีการออกแบบ UX ที่ดี จะสามารถลดช่องว่างเหล่านี้ลงได้และช่วยให้คนเข้าใจการใช้งานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น คนก็จะเข้าถึงได้มากขึ้น ถ้าเป็นแบบนั้นจะดีมาก ๆ เพราะเราก็อยากใช้ของที่ทั้งดีและใช้ง่าย

ด้วย Passion ในการเป็น UX Designer ที่มี อะไรทำให้เราสนใจมาทำงานที่ Bluebik และคิดว่าการเป็น UX Designer ที่ดีจะช่วยเพิ่ม Value ให้กับ Bluebik ได้อย่างไรบ้าง

อย่างแรกเลยคือเรารู้สึกสนุกกับการได้ออกแบบ UX ให้ลูกค้า/ผู้ใช้งานในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม และเราเชื่อในการผสมผสานระหว่าง Know-how ที่เป็นสากล (Global) กับมุมมองแบบ Local ซึ่งเราเชื่อว่าจะทำให้เข้าใจบริบทของลูกค้าได้ดีกว่า โดย Bluebik ก็ให้ความรู้สึกแบบนั้น แต่เหตุผลจริง ๆ ที่ทำให้ตัดสินใจมาทำงานที่ Bluebik คือเราสนใจในเรื่องการให้ความสำคัญกับ ‘คน’ ซึ่งเรารู้สึกได้ตั้งแต่กระบวนการสัมภาษณ์ว่าที่นี่มีการให้น้ำหนักกับเรื่องของคนค่อนข้างสูง ยิ่งพอได้เข้ามาทำงานก็ยิ่งเห็นภาพได้ชัดขึ้น ว่ามีช่องว่างให้เราได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง ‘คน’ ได้อีกมาก ซึ่งมีประโยชน์ในการทำงานมาก และทุกคนในทีมคอยช่วยแนะนำอยู่เสมอมา

การเป็น UX Designer ในแบบฉบับของหยีคือการนำเป้าหมายทางธุรกิจของลูกค้า (Business objective) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ เข้ามารวมกับความเป็นมนุษย์ (Human factor) ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้การออกแบบแต่ละครั้งเราสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เป็น “ผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจคน” และ “ผู้คนก็เข้าใจผลิตภัณฑ์” ออกมาได้อย่างตรงโจทย์ธุรกิจของลูกค้าที่วางไว้เอา และนั่นจึงทำให้ Bluebik และทีมสามารถสร้าง Value ให้กับงานได้จริง ทำให้สุดท้ายแล้วผลงานที่ทีมช่วยกันพัฒนาสามารถช่วยส่งเสริมประสบการณ์การบริการให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ


We are Hiring !
Digital Excellence & Delivery

Business Analyst : http://ow.ly/kGf350Eu7Xn
Software Development : http://ow.ly/Pqy750Eu7Xr
UX/ UI Designer : http://ow.ly/4SFK50Eu7Xp
Tester : http://ow.ly/ijmJ50Eu7Xt
System Analyst : http://ow.ly/CoJ350Eu7Xx
Tech Lead : http://ow.ly/itCE50Eu7Xq
Cloud Engineer : http://ow.ly/m6rW50Eu7Xo

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 02 636 7011