การขยายตัวและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของระบบคลาวด์ (Cloud Computing) ทำให้สภาพแวดล้อมบนคลาวด์ (Cloud Environment) มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปิดโอกาสให้แฮกเกอร์ซ่อนตัวในจุดบอดและใช้ประโยชน์จากพื้นที่โจมตี ที่ขยายตัวตามความต้องการใช้งานระบบคลาวด์ ปัจจัยเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งในระยะสั้นและยาว ทำให้ต้นทุนด้านความปลอดภัยไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของนวัตกรรม และเทรนด์การใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์หลายแหล่งขององค์กร หนุนให้ระบบคลาวด์ตกเป็นเป้าหมายโจมตีของแฮกเกอร์ กลายเป็นความท้าทายที่ไม่อาจมองข้ามในโลกธุรกิจ ซึ่งการจะรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวนี้ องค์กรจำเป็นต้องทราบถึงเทรนด์การโจมตีบนระบบคลาวด์ (Cloud-Based Attack) และแนวทางการรับมือและปกป้ององค์กรจากภัยร้ายที่อาจแทรกซึมเข้ามาแบบไม่รู้ตัว
กระแส Cloud Computing ที่ธุรกิจต้องจับตาดู
ความต้องการใช้ระบบคลาวด์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไฮบริดคลาวด์ (Hybrid Cloud) และระบบคลาวด์สาธารณะหลายแห่ง (Multi-Cloud Environment) ธุรกิจสมัยใหม่นิยมใช้ระบบคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) จัดการข้อมูลลูกค้าและรองรับระบบปฏิบัติการแอปพลิเคชันของธุรกิจ ที่สามารถปรับลด-เพิ่มการใช้งาน บริหารจัดการง่ายทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น
Gartner ระบุภายในปี 2571 ระบบคลาวด์จะเปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนผ่านการทำธุรกิจเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ในทางกลับกันการขยายตัวของระบบคลาวด์ก็ส่งผลให้พื้นที่การโจมตีเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยช่องโหว่บนระบบคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้
- ธรรมชาติของระบบคลาวด์ที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พัฒนาทดลองเซอร์วิสใหม่ และผลักดันโครงการให้สามารถใช้งานจริงได้อย่างรวดเร็ว
- ระบบปฏิบัติงานที่รวดเร็วผ่าน Agile Processes และ Continuous Delivery ทำให้เกิดช่องโหว่ รวมถึงการติดตั้งที่ผิดพลาดระหว่างการนำซอฟต์แวร์/โซลูชันไปใช้งานจริง
- ความต้องการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ สำคัญกว่าการแก้ไขช่องโหว่ที่มีอยู่ในซอฟต์แวร์
ความสะดวกสบายจากการใช้งานระบบคลาวด์ เอื้อต่อภัยคุกคามไซเบอร์ในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง Shodow IT หรือการใช้งานซอฟต์แวร์ อุปกรณ์หรือแอปฯโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นส่วนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของทีมด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ดังนั้น การปกป้องระบบจากอาชญากรที่เชี่ยวชาญการแฮกระบบคลาวด์ ต้องเข้าใจถึงแรงบันดาลใจ กลยุทธ์และเทคนิคการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่/สภาพแวดล้อมดิจิทัลที่กระจัดกระจายของพวกเขา โดย CrowdStrike พบว่าเทรนด์ภัยคุกคามบนระบบคลาวด์ล่าสุดที่น่าจับตาดู ได้แก่
- ระบบคลาวด์กำลังตกเป็นเป้าหมายของ Big Game Hunting Adversaries – (BGH Adversaries)⏩เป็นการโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่องค์กรขนาดใหญ่/สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าสูง โดยใช้เทคนิคที่ซับซ้อนและขโมยข้อมูลบนเครือข่าย
- การยืนยันตัวตนเป็นช่องทางหลักเข้าถึงระบบคลาวด์⏩ทำให้แฮกเกอร์ใช้ประโยชน์จากการขโมยตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อเข้าถึงเครือข่าย/ขโมยข้อมูลได้ง่ายขึ้น
- Siloed DevOps และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง⏩การตั้งค่าในส่วนต่าง ๆ ผิดพลาดเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงบนระบบคลาวด์
แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับความปลอดภัยบนระบบคลาวด์
เมื่อองค์กรธุรกิจต้องพึ่งพาระบบคลาวด์มากขึ้น ย่อมทำให้การรักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายคลาวด์สำคัญและต้องเร่งหาแนวทางที่สามารถจัดการกับความเสี่ยง รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งการพิจารณาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) นั้นต้องครอบคลุมตั้งแต่การปกป้องข้อมูลสำคัญ จนถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบ/นโยบายด้านความปลอดภัยที่วางไว้อีกด้วย ซึ่งในบทความนี้จะพาไปรู้จักกับแนวปฏิบัติเบื้องต้นที่สามารถยกระดับความปลอดภัยบนระบบคลาวด์ได้จริง
- การเข้ารหัสและการปกป้องข้อมูล: การเข้ารหัสข้อมูลระหว่างการส่งและจัดเก็บเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยบนระบบคลาวด์ ด้วยเหตุนี้การใช้อัลกอริทึมสร้างรหัสที่แข็งแกร่ง จะทำผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ไม่สามารถเปิดอ่านข้อมูลได้แม้พวกเขาจะดักจับข้อมูลไว้แล้วก็ตาม ซึ่งผู้ให้บริการคลาวด์มักนำเสนอการเข้ารหัสลับให้ผู้ใช้งานก่อนอัปโหลดข้อมูล นอกจากนี้ยังมีการใช้แนวปฏิบัติด้านการจัดการการเข้ารหัสอื่น ๆ อาทิ ระบบการเปลี่ยนคีย์ตลอดเวลา
- ตรวจสอบระบบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ: การตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยบนระบบคลาวด์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยระบุช่องโหว่และทำให้องค์กรมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและนโยบายความปลอดภัยไซเบอร์ โดยการตรวจสอบนี้ครอบคลุมทั้งระบบภายในและภายนอกองค์กร อาทิ การสแกนหาช่องโหว่ ทดสอบเจาะเข้าระบบและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งการระบุจุดอ่อนและแก้ปัญหาช่องโหว่เชิงรุกนี้ จะช่วยเสริมแกร่งด้านความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากปัญหาข้อมูลรั่วไหลและการละเมิดกฎหมายหรือข้อบังคับ
- การฝึกอบรบและสร้างความตระหนักรู้ให้พนักงาน: พนักงานมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความปลอดภัยบนระบบคลาวด์ การจัดโปรแกรมอบรมและสร้างความตระหนักรู้จะทำให้พนักงานเข้าใจถึงแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย ภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ยกตัวอย่างประเด็นสำคัญในการอบรม: การใช้งานข้อมูลอย่างปลอดภัย การจัดการรหัส การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับฟิชชิ่ง (Phishing) และวิธีการรับมือเมื่อเกิดเหตุภัยคุกคามไซเบอร์ นอกจากนี้องค์กรควรสร้างวัฒนธรรมเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และส่งเสริมให้พนักงาน ระมัดระวังและรายงานเมื่อพบกิจกรรมที่น่าสงสัย
- การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (Multi-Factor Authentication – MFA): การยืนยันตัวตนแบบ MFA จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น โดยผู้ใช้งานต้องทำการยืนยันตัวตนหลายรูปแบบ เช่น รหัสผ่าน สแกนลายนิ้วมือหรือรหัสแบบใช้ครั้งเดียว (One-Time Code) ซึ่ง MFA สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเข้าถึงเครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต
- กลยุทธ์การจัดเก็บและกู้ข้อมูล: การใช้กลยุทธ์การจัดเก็บและกู้ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันความเสียหายจากข้อมูลสูญหายและความต่อเนื่องของกระบวนการทางธุรกิจเมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีไซเบอร์ โซลูชัน Cloud-Based Backup จะช่วยให้องค์กรทำสำเนาข้อมูลสำคัญและส่งไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์อื่น ช่วยลดความเสียหายจากฮาร์ดแวร์มีปัญหา ภัยคุกคามไซเบอร์รวมถึงภัยธรรมชาติ ดังนั้น การทดสอบขั้นตอนการสำรองและกู้คืนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้องค์กรมั่นใจได้ว่าจะสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างดี ลดเวลาการกู้ระบบ/ข้อมูลและความเสี่ยงข้อมูลสูญหายอีกด้วย
สรุปแล้ว ระบบคลาวด์นั้นนำมาทั้งโอกาสทางธุรกิจและความท้าทายด้านความปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งองค์กรจำเป็นต้องพึ่งพาระบบคลาวด์มากเท่าใดก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงจากการใช้งานเทคโนโลยีนี้มากเท่านั้น หากพิจารณาโดยภาพรวมจะเห็นว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุกเป็นสิ่งสำคัญในการต่อกรกับภัยคุกคามที่กำลังขยายตัว โดยองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องใช้วิธีที่จะสามารถจัดการกับความเสี่ยงบนระบบคลาวด์อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- การประเมินและจัดการกับความเสี่ยง: การระบุและจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงเฉพาะบนระบบคลาวด์ และกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
- การตรวจสอบและวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ: การตรวจสอบระบบโครงสร้างพื้นฐานของคลาวด์และกิจกรรมของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ จะช่วยตรวจจับและตอบสนองต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงที
- การทำงานร่วมกับผู้ให้บริการคลาวด์: การทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการคลาวด์จะทำให้องค์กรเข้าใจขีดความสามารถด้านความปลอดภัยของระบบของผู้ให้บริการรายนั้น ๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือระหว่างกัน
- การยึดมั่นในมาตรฐานอุตสาหกรรมและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด: การปฏิบัติตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์บนระบบคลาวด์ อาทิ the Cloud Security Alliance (CSA) และ the National Institute of Standards and Technology (NIST)
ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์บนระบบคลาวด์ด้วยบริการของ ‘บลูบิค ไททันส์’
บลูบิค ไททันส์ บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมนำเสนอบริการที่ครอบคลุมการจัดการกับความเสี่ยงและภัยคุกคามไซเบอร์บนระบบคลาวด์ ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงโครงสร้างพื้นฐานจนถึงปฏิบัติการเชิงรุกในการระบุและลดความเสี่ยงบนระบบคลาวด์ด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้องค์กรธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคลาวด์ได้อย่างมั่นใจและเต็มประสิทธิภาพ สำหรับองค์กรธุรกิจที่สนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามหรือปรึกษาเราได้ที่
☎ 02-636-7011
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก https://go.crowdstrike.com