fbpx
บล็อก 16 มกราคม 2021

SMEs ไทยกับปัญหาใหญ่เรื่อง “เงิน”

การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้น รากฐานขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างธุรกิจ SMEs ที่คิดเป็นกว่า 90% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศและมีการจ้างงานสูงกว่า 13 ล้านคน ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก จากวิกฤตโควิด หลังเผชิญคลื่น Technology Disruption ไปก่อนหน้านี้

เมื่อมองในภาพของปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ SMEs นั้น พบว่าการเข้าไม่ถึงเงินทุนของสถาบันการเงินเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจ (Access of source of funds) การขาดความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในด้านการบริหารจัดการเงินทุน (Cash management) และการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากร โดยหากแบ่งย่อยลงไปตามประเภทของ SMEs จะพบว่าแต่ละกลุ่มเผชิญปัญหาที่แตกต่างกัน

1) ME (Medium Enterprises)

หมายถึงกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 50 – 500 ล้านบาท สำหรับปัญหาของ MEs คือหลักประกันไม่เพียงพอสำหรับขอสินเชื่อให้ได้วงเงินตามที่ต้องการ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ต้องการวงเงินสูงมาก ซึ่งจากจำนวน ME ทั้งหมด 44,290 ราย ข้อมูลจาก Bluebik Analysis พบว่ามีธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสถาบันจำนวน 12,401 ราย คิดเป็นประมาณ 28%

2. SE (Small Enterprises)

เป็นกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 1.8 – 50 หรือ 100 ล้านบาท (ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจ) โดยจากจำนวน SE ทั้งหมด 415,722 ราย พบว่ามีธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสถาบันจำนวน 216,496 ราย คิดเป็นประมาณ 52%

สำหรับปัญหาของกลุ่ม SE ต้องแตกออกเป็นอีก 2 กลุ่มย่อย เนื่องจากเผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างกัน คือกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต (Regular & Strong) หมายถึงกลุ่มที่ยังมีอัตราการเติบโตมากกว่า 20% ในช่วง 3 ปีล่าสุด และกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตถดถอยในช่วง 3 ปี (Turnaround)

  • ในกลุ่ม Regular & Strong มีปัญหาใหญ่เรื่องเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ และยังมีต้นทุนการดำเนินงานสูง เนื่องจากไม่ได้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ จึงไม่มีอำนาจมากพอต่อรองกับซัพพลายเออร์ รวมทั้งยังไม่มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายพนักงานที่มีจำนวนมากขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจ
  • ส่วนกลุ่ม Turnaround เป็นกลุ่มที่มีปัญหาหลักในด้านสุขภาพทางการเงินจากธุรกิจที่ไม่เติบโต และอาจมีการขาดทุนสะสม ซึ่งเกิดจากการขาดความเข้าใจถึงการวิเคราะห์สุขภาพทางการเงิน

3. Micro

เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 1.8 ล้านบาท โดยจากจำนวนกลุ่ม Micro ทั้งหมด 2,645,084 ราย พบว่ามีธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสถาบันจำนวน 1,247,188 ราย คิดเป็นประมาณ 47% กลุ่ม Micro มีปัญหาในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การมีรายรับเป็นเงินสด (Cash-based) ทำให้ขาดข้อมูลเชิงบัญชีที่สามารถใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อจากสถาบันการเงิน การโดนดิสรัปด้วย e-Commerce และการค้า-ขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการขาดความรู้และความเข้าใจการบันทึกบัญชีพื้นฐาน

4. กลุ่มนอกระบบ เช่น กลุ่มร้านหาบเร่ แผงลอย

โดยจากจำนวนกลุ่ม SME นอกระบบทั้งหมด 2,148,199 ราย พบว่ามีธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสถาบันจำนวน 1,476,086 ราย คิดเป็นประมาณ 68% ในกลุ่มนอกระบบ ปัญหาน่ากังวลที่สุดเป็นเรื่องหนี้นอกระบบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจมีปัญหาทางการเงินและไม่สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากการอยู่นอกระบบส่งผลให้คุณสมบัติไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด เมื่อธุรกิจเจอปัญหาทางการเงินซ้ำๆ จึงต้องกู้ยืมเพิ่มและเกิดหนี้คงค้างจำนวนมาก จนติดอยู่ในวังวนของหนี้นอกระบบในที่สุด