fbpx
บล็อก 2 กรกฎาคม 2021

วิเคราะห์ตำแหน่งกลยุทธ์ ประเมินแผนงานด้วย SPACE Matrix

Strategic Position and Action Evaluation Matrix หรือ SPACE Matrix เป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือทางในการวิเคราะห์กลยุทธ์ขององค์กรที่ผู้วิเคราะห์ต้องการให้ความสำคัญต่อสถานะทางการเงิน การได้เปรียบทางการแข่งขัน ความสามารถของธุรกิจในอุตสาหกรรม และความมั่นคงของปัจจัยแวดล้อม โดยสามารถพิจารณากลยุทธ์และตำแหน่งได้จากขั้นตอน ดังนี้

Space Matrix แกน X

  • ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage)
    ให้คะแนนตั้งแต่ -1 ถึง -6 (-1 คือปัจจัยนั้นดีที่สุด)

ปัจจัยภายในที่เป็นจุดเด่นของบริษัทที่ทำได้ดีหรือปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความแตกต่างและสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นองค์กร สินค้าและบริการ หรือการทำงานของทีมงาน เช่น ส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่า ความแตกต่างของสินค้าหรือบริการที่นำเสนอ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของพนักงาน เป็นต้น

  • จุดแข็งของอุตสาหกรรม (Industry Strength)
    ให้คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 6 (6 คือปัจจัยนั้นดีที่สุด)

ปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวกับธุรกิจในการบอกถึงโอกาสและความมั่นคงในการทำธุรกิจภายใต้อุตสาหกรรมนั้น ๆ ที่ส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถเติบโตสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง เช่น แนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม ความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรม ขนาดของลูกค้าในตลาด ปริมาณของทรัพยากรในการผลิต เป็นต้น

Space Matrix แกน Y

  • ความมั่นคงของสภาพแวดล้อม (Environment Stability)
    ให้คะแนนตั้งแต่ -1 ถึง -6 (-1 คือปัจจัยนั้นดีที่สุด)

ความมั่นคงของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของธุรกิจ ที่อธิบายถึงความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมที่ธุรกิจจะต้องเจอ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การปรับตัวของคู่แข่ง เทรนความต้องการของผู้บริโภค ความยืดหยุ่นของราคา เป็นต้น

  • จุดแข็งทางการเงิน (Financial Strength)
    ให้คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 6 (6 คือปัจจัยนั้นดีที่สุด)

ปัจจัยภายในขององค์กรที่บ่งบอกถึงความพร้อมทางการการเงินของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสเงินสด ที่เปรียบได้เหมือนกับเส้นเลือดในการล่อเลี้ยงองค์กร รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ทางการเงิน เช่น ผลตอบแทนจากการลงทุน ค่าใช้จ่าย หนี้สิน สภาพคล่อง เป็นต้น

โดยการวิเคราะห์ Space Matrix นั้นจะเอาคะแนนรวมของแต่ละแกน ทั้งแกน X และ แกน Y มาเขียนลงบนกราฟเพื่อหาจุดตัด และวิเคราะห์ออกมาเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กรได้ 4 รูปแบบดังนี้

1. กลยุทธ์เชิงรักษา (Conservative)

เมื่ออยู่ในจุดที่มีสถานะทางการเงินที่ดี แต่อาจะยังไม่พร้อมสำหรับการขยายด้วยข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน จึงควรวางกลยุทธ์เพื่อเน้นรักษาการดำเนินงานแบบเดิมให้คงที่และรักษามาตรฐานของการดำเนินงานสำหรับเตรียมพร้อมในอนาคต เช่น การพัฒนา Research & Development การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในด้วยเทคโนโลยี การลดข้อเสียในองค์กร เป็นต้น

2. กลยุทธ์เชิงรุก (Aggressive)

มุ่งหน้าสู่การขยายธุรกิจไปสู่อีกขั้น ด้วยความพร้อมทั้งในด้านของอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการเติบโต และความพร้อมทางการเงินสำหรับการลงทุน การรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสร้างตลาดในกลุ่มลูกค้าใหม่ การออกสินค้าและบริการตัวใหม่ รวมถึงการขยายการลงทุน เป็นต้น

3. กลยุทธ์เชิงรับ (Defensive)

ธุรกิจต้องเริ่มมองหากลยุทธ์สำหรับการป้องกัน ทั้งปกป้องความได้เปรียบทางการแข่งขันและป้องกันตัวจากความผันผวนของตลาด ดังนั้นเพื่อการเอาตัวรอดธุรกิจจึงควรมองหากลุยทธ์สำหรับการเตรียมพร้อมกับความท้าทายเหล่านี้ให้พร้อมก่อนการเติบโตในภายหน้า เช่น การลดทอนงบบางส่วน การกระจายความเสี่ยงของธุรกิจออกจากศูนย์กลาง การเลิกกิจการ เป็นต้น

4. กลยุทธ์เชิงการแข่งขัน (Competitive)

ถึงแม้จะมีปัจจัยภายนอกจากความผันผวนของอุตสาหกรรม แต่ยังคงอยู่ในจุดที่ตลาดมีความพร้อมและโอกาสอย่างมาก ดังนั้นเพื่อเก็บเกี่ยวโอกาสเหล่านั้นธุรกิจควรต้องมองกลยุทธ์ที่ช่วยให้สร้างความแข็งแรงและข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่มากเพื่อเอาชนะคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ เช่น การทำพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การร่วมลงทุนกับพันธมิตร (Joint Venture) เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก Greed is Good