การเปลี่ยนแปลงของ Digital Banking
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายของหลายธุรกิจ และหนึ่งในธุรกิจที่เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดที่สุดเลยคือกลุ่มธนาคาร ที่มีการปรับเปลี่ยนองค์กรให้กลายเป็น Digital banking มากขึ้น เพื่อให้สร้าง Digital experience ให้กับผู้ใช้งานและสามารถเข้าไปอยู่ในทุกพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้อย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำธุรกรรมบนออนไลน์ เพื่อรองรับกับ New Normal ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้
ย้อนกลับเมื่อปี 2561 หลายธนาคารเปิดเกมการแข่งขัน Digital banking ด้วยการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ ตามด้วยการปรับปรุง Mobile banking application ให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้ใช้งาน (User experience) พร้อมทั้งทยอยปิดสาขาธนาคารที่เคยเป็นช่องทางในการให้บริการหลักลงไปเรื่อย ๆ เพื่อสื่อสารไปถึงผู้บริโภคทุกคนว่าการให้บริการของธนาคารจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และมุ่งหน้าเข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless)
การสร้าง Ecosystem ของธุรกิจต่าง ๆ ผ่าน Digital Banking
หลังจากนั้นคำว่า “Financial ecosystem” ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างมากในรูปแบบการใช้ชีวิตหรือการใช้จ่ายของผู้บริโภคทุกคน เนื่องจาก Mobile banking ได้เข้าไปอยู่ในเกือบทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมในตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งในกลุ่ม SME มากมายทั่วประเทศ ผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า FinTech อย่าง Promptpay, Payment gateway และ Digital wallet เป็นต้น ทำให้ธนาคารเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ทลายคำว่า “อุตสาหกรรม” ลงไปจนกลายเป็นต้นแบบของการทำธุรกิจแบบไร้อุตสาหกรรม กล่าวคือสามารถให้บริการได้ในทุกกิจกรรมของผู้บริโภคนั่นเอง
จากการพัฒนา FinTech ให้สามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรม Chat banking ที่ทำให้ธนาคารทรานส์ฟอร์มขึ้นไปอยู่บน Social media ได้อย่างแอปพลิเคชัน LINE ผ่านฟีเจอร์ขุนทอง ที่ช่วยทำให้ต่อไปนี้การทำธุรกรรมออนไลน์จบได้บนห้องแชทส่วนตัวและไม่จำเป็นต้องเกิดบน Mobile banking หรือแม้กระทั่งการสร้าง Social platform อย่าง PartyHaan ที่ทำให้เกิดเป็นสังคมบนโลกออนไลน์ด้วยการหาเพื่อนร่วมหารในทุกกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะค่า Subscription หรืออย่างแอปพลิเคชัน MAKE ที่มีคอนเซปต์ให้ผู้บริโภคสามารถโอนเงินให้เพื่อนได้ทันทีผ่าน Bluetooth อย่างปลอดภัย
การแข่งขันข้ามอุตสาหกรรม ทลายกำแพงของคำว่า “Industry”
อีกหนึ่งข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดเจนของการทลายกำแพงอุตสาหกรรมคือ เมื่อหลายธนาคารเริ่มเข้าสู่วงการ Food delivery อย่างแอปพลิเคชัน Robinhood จากทางธนาคารไทยพาณิชย์ หรือแม้กระทั่ง Eatable ของธนาคารกสิกรไทย จึงเห็นได้เลยว่าอนาคตต่อจากนี้ธนาคารจะไม่ใช่เพียงแค่การรับ-จ่าย-ฝากเงินอีกต่อไปแล้ว แต่เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมกับธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่แค่ธนาคาร
เป็นที่น่าจับตามองว่า ในอนาคตธุรกิจธนาคารจะมีโซลูชันช่วยให้พฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคง่ายขึ้นและสะดวกสบายมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง ขณะที่บรรดาธุรกิจต่างๆ ก็ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เผื่อว่าวันใดวันหนึ่ง ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ จากธนาคารอาจช่วยให้การทำธุรกิจของคุณง่ายขึ้น หรืออาจจะต้องปรับตัวเมื่อธนาคารเริ่มเข้ามาทำธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกันในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก SCB, KBTG, BrandInside และ MGR Online