ช่วงนี้ใครหลายคนอาจเคยพบเหตุการณ์เหล่านี้ นอนหลับฝันได้เงินหมื่น นอนตื่นกลับพบว่าเงินหาย หายไปจากบัญชีเฉยๆ แบบไม่มีอะไรมากั้น เมื่อสำรวจตรวจสอบดูมักพบว่าเป็นยอดเรียกเก็บจากการใช้จ่ายต่างประเทศ หรือการนำมาซื้อไอเท็มเกมออนไลน์ต่างๆ ยาวเป็นหางว่าว ทั้งที่เราไม่เคยเล่นเกมเหล่านั้น เมื่อเปิดดูข่าว ก็ไม่รู้จะดีใจหรือเศร้าใจเมื่อพบเพื่อนร่วมชะตากรรมถูกโจรกรรมข้อมูลทางบัญชีรวมมูลค่าความเสียหายมากกว่าร้อยล้านบาทในเดือนที่ผ่านมา การหักเงินในบัญชีผิดปกติ เป็นประเด็น Cyber Security ที่เข้ามาท้าทายการทำธุรกรรมที่แทบจะเคลื่อนย้ายตัวสูโลกอินเทอร์เน็ตเกือบหมดแล้ว เมื่อผู้ให้บริการหลายรายทั้งในแวดวงโรงพยาบาล สายการบิน อีคอมเมิร์ซ โรงแรม และธนาคาร ต่างออกมายอมรับว่า ถูกเจาะฐานข้อมูลทำให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานรั่วออกไปสู่ตลาดมืด ทว่านอกจากความบกพร่องที่ตัวระบบรักษาความปลอดภัยแล้ว มีกรณีอีกไม่น้อยเช่นกัน ที่ตัวผู้ใช้งานเองนี่แหละ เป็นคนที่เปิดช่องให้อาชญากรในโลกไซเบอร์เข้ามาล้วงลับข้อมูลส่วนตัวไปแบบไม่ทันรู้ตัว รูปแบบที่พลั้งเผลอกันบ่อยๆ หนีไม่พ้นอีเมลหรือข้อความสั้นทางโทรศัพท์ (เอสเอ็มเอส) ปลอมแปลงเป็นธนาคารหรือผู้ให้บริการต่างๆ อย่างน่าเชื่อถือ แถมปั้นแต่งเนื้อหาทำให้เรารู้สึกว่าตกใจ ฉงนสงสัย หรือวิตกจริต จนต้องรีบกดลิงค์เข้าไปดู เช่น บอกว่า คุณถอนเงินสำเร็จแล้ว! หรือบอกให้เปลี่ยนพาสเวิร์ดด่วน มิเช่นนั้นจะถูกระงับการใช้งาน ด้วยความตกใจเราอาจเผลอคลิกลิงค์ปลอมนั้น เท่านี้ข้อมูลพาสเวิร์ด หรือบัตรเครดิตคุณก็เรียบร้อยโรงเรียนโจรทันที สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Phishing Attack หรือการหลอกลวงข้อมูลโดยใช้จิตวิทยาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มักมาในรูปแบบของข้อความทางโทรศัพท์ อีเมล หรือบนเว็บไซต์ เพื่อให้เราเข้าใจอาณาจักรแห่งการตบทรัพย์ในโลกอินเทอร์เน็ต ลองมาทำความรู้จักวิธีการโจรกรรมที่พบเห็นบ่อยๆ ว่าอยู่ในรูปแบบใดบ้าง เพื่อจะได้ป้องกันและหลีกเลี่ยงการถูกดูดข้อมูล […]